วันพุธที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2557

15 ปี รพ. มะเร็งลำปาง กับภารกิจกู้ชีวิตผู้ป่วย



ท่ามกลางบรรยากาศแห่งการป่วยไข้ เสียงประกาศที่เคาน์เตอร์ และกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของโรงพยาบาล สถานที่ใครหลายคนไม่ปรารถนาจะย่างกรายเข้ามา แต่สำหรับบางคน ที่นี่เป็นดังความหวังเรืองรองที่พวกเขาหวังเพียงจะก้าวเท้ากลับออกไปเยี่ยงคนปกติธรรมดา

โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง มีจุดเริ่มต้นจากที่ดินรกร้างริมถนนซูเปอร์ไฮเวย์ลำปาง-งาว  ย่านตำบลพิชัย อำเภอเมืองลำปาง เดิมเป็นของ จอมพลประภาส จารุเสถียร ซึ่งได้สร้างบ้านสามฤดูไว้เพื่อรำลึกถึงมารดาที่เป็นเจ้านายฝ่ายเหนือเมืองลำปาง แต่เมื่อเกิดเหตุผันผวนทางการเมืองช่วงปี พ.ศ. 2516 และปี พ.ศ. 2519 ทรัพย์สมบัติของจอมพลประภาสจึงตกเป็นของรัฐ ภายหลังได้มีการติดต่อขอความเห็นชอบที่จะสร้างโครงการศูนย์มะเร็งส่วน ภูมิภาคบนที่ดินผืนนี้ และท่านก็ยินดีให้กรมการแพทย์ดำเนินการ

ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งภาคเหนือ สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ก่อตั้งขึ้น ทำหน้าที่จัดทำทะเบียนโรค ควบคุมและป้องกันโรคมะเร็ง ต่อมาเปลี่ยนเป็น ศูนย์มะเร็ง ลำปาง เน้นการฉายรังสี ให้เคมี และฝังแร่ โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดในปี พ.ศ. 2542 นับเป็นการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ และล่าสุดพัฒนาเป็น โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง ที่เน้นการรักษาเป็นหลัก 
 
จุดเด่นของโรงพยาบาลมะเร็งลำปางอยู่ที่ด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ มีเครื่อง SPECT/CT เป็นตัวจับรังสีที่ทำให้แพทย์รู้ว่า เซลล์มะเร็งกระจายไปยังจุดใดบ้าง อีกทั้งมีส่วนช่วยในการรักษาโรคไทรอยด์ โรคหัวใจ ตลอดจนดูผลข้างเคียงจากการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ นอกจากนี้ ยังมีการให้เคมีบำบัดระดับสูง ซึ่งแตกต่างโรงพยาบาลทั่วไปที่ให้ระดับธรรมดา

เครื่องมือแพทย์ตัวล่าสุดกำลังจะเปิดตัวในโอกาสครบรอบ 15 ปี ที่โรงพยาบาลเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ ในต้นเดือนกันยายนนี้ ก็คือ เครื่องฉายรังสีปรับความเข้ม (IMRT) มูลค่ากว่า 48 ล้านบาท ซึ่งเป็นเทคนิคการฉายรังสีแบบ 3 มิติขั้นสูง มีความแม่นยำสูง เปี่ยมประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็งทุกระบบ ขณะเดียวกันก็รักษาเนื้อเยื่อ หรืออวัยวะปกติในร่างกายให้ได้รับผลจากรังสีน้อยที่สุด สามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้ 40-50 ราย ต่อวัน ขณะเดียวกันก็เตรียมปลดระวางเครื่องฉายรังสีโคบอลท์-60 หลังจากทำหน้าที่ฉายรังสีแก่ผู้ป่วยมานับหมื่นราย ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี

นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลมะเร็งลำปางมีการพัฒนาอย่างชัดเจน สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น โดยมีอัตราผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 50,000 ครั้ง/คน/ปี ให้การรักษาผู้ป่วยมะเร็งใหม่ 2,000 ราย/ปี อัตราการรอดชีวิต 50-60 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ มะเร็งปากมดลูกมีอัตราการรอดชีวิตสูงถึง 80 %เลยทีเดียว

การที่โรงพยาบาลมะเร็งลำปางรองรับผู้ป่วยมากขึ้น ในอีกมุมหนึ่งคงเป็นเรื่องที่ไม่น่ายินดีนัก เพราะนั่นหมายความว่า มะเร็งเป็นโรคที่กำลังคุกคามเราอย่างหนัก ซึ่ง น.พ.สมเกียรติก็ได้เผยถึงสถานการณ์โรคมะเร็งในบ้านเราว่า ผู้ชายจังหวัดลำปางป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดเป็นอันดับ 1 รองลงมา คือ มะเร็งตับและมะเร็งลำไส้ ส่วนผู้หญิงเป็นโรคมะเร็งเต้านมอันดับ 1 รองลงมา คือ มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทั้งนี้ มะเร็งปอดและมะเร็งปากมดลูกมีแนวโน้มลดลง แต่มะเร็งลำไส้ใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัว

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูประบบการแพทย์และสาธารณสุขก็นำมาซึ่งความหวังที่จะรับมือกับโรคมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีการแบ่งเขตบริการสุขภาพทั่วประเทศเป็น 12 เขต + กรุงเทพฯ ซึ่งจังหวัดลำปางเป็นเขตที่ 1 รับผิดชอบ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ยกระดับการบริการในโรงพยาบาลให้ดีขึ้น เช่น ตรงต่อเวลาและขยายเวลาให้บริการ มีการจัดประชุมทางวิชาการ จัดทำเอกสารเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน ออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ เน้นความโปร่งใส และมีหัวจิตหัวใจที่จะให้บริการ

ในส่วนของโรงพยาบาลมะเร็งลำปางได้มีการจัดตั้งกองทุนรังสีรักษาและกองทุนฌาปนกิจ สำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ นอกจากนี้ สถานพยาบาลแห่งนี้ยังใส่ใจรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ตั้งแต่เรื่องทางเดินที่เอื้อต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย มีรถกอล์ฟบริการผู้ป่วย เรื่องความสะอาด  เรื่องการติดต่อประสานงานระหว่างโรงพยาบาล การจัดสร้างที่พักให้ญาติผู้ป่วย ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางมาจากที่ไกลๆ ไปจนถึงสิ่งแวดล้อม โดยล่าสุดได้รับรางวัล Eco Hospital Award มาอย่างน่าภาคภูมิ

เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงพันธกิจหลักของโรงพยาบาลที่ดี ที่นอกจากจะมุ่งกอบกู้ดูแลชีวิตผู้ป่วยด้วยประสิทธิภาพสูงสุดแล้ว บริบทแวดล้อมยังเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจไม่แพ้กัน 

กุลธิดา สืบหล้า...รายงาน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 993 ประจำวันที่ 29 สิงหาคม - 4 กันยายน 2557)

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์