วันศุกร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2557

ปลัดฯเคลียร์ใจ 30ปีไม่มีเสื่อมเสีย



ปลัดเทศบาลเปิดใจ หากถูก ป.ป.ช.ชี้มูลวินัยร้ายแรงคงไม่ได้กลับมาทำงานในตำแหน่งปลัด ฯ เผยการทำงานตามระเบียบข้าราชการ อาจไม่ถูกใจในบางฝ่าย ยืนยันรับราชการมา 30 ปี ไม่เคยทำเรื่องเสื่อมเสียวอนประชาชนเข้าใจ

หลังจากที่มีการนำเสนอข่าวนายกเทศมนตรีเมืองเขลางค์ยื่นหนังสือถึง คสช.ขอให้พิจารณาย้ายปลัดเทศบาลเมืองเขลางค์นครออกไปปฏิบัติหน้าที่อื่นในระหว่างถูกดำเนินคดีและถูกสอบสวนทางวินัย จนกว่าการดำเนินคดีจะสิ้นสุด   ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ก.ย.57 ที่ผ่านมา นายอมร ทองประดิษฐ์ ปลัดเทศบาลเมืองเขลางค์นคร ได้ออกมาเปิดเผยกับลานนาโพสต์ถึงเรื่องราวในหลายประเด็นที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด  การใช้น้ำมันในทางทุจริต และการประมาณเลินเล่อร้ายแรง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดเทศบาลเมืองนครนายก ตามที่นายกเทศมนตรีได้ยื่นเรื่องถึง คสช.ดังกล่าว  

นายอมร ทองประดิษฐ์ ปลัดเทศบาลเมืองเขลางค์นคร  เปิดเผยว่า กรณีที่ถูกร้องเรียนเรื่องที่พนักงานของเทศบาลเข้าไปทำงานในบ้านของตน และนำรถดับเพลิงไปรดน้ำต้นไม้หรือเติมถังน้ำในบ้านพักนั้น  ในช่วงที่เกิดเหตุตนก็ไม่ได้อยู่บ้านเพราะเดินทางไปดูงานที่ต่างประเทศกับนายกเทศมนตรี  ซึ่งผู้ร้องได้ยื่นร้องไปยังจังหวัด เทศบาลเมืองเขลางค์  ป.ป.ช. และแจ้งความที่ สภ.เมืองลำปาง เมื่อวันที่ 24 ส.ค.54  ต่อมานายไพฑูรย์ โพธิ์ทอง นายกเทศมนตรีเมืองเขลางค์นคร ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว และได้มีการออกหนังสือบันทึกว่ากล่าวตักเตือน วันที่ 1 ธ.ค.54   ลงนามโดยนาย ไพฑูรย์ โพธิ์ทอง นายกเทศมนตรี โดยบอกว่าการกระทำดังกล่าวปลัดเทศบาลในฐานะผู้บังคับบัญชาไม่ได้ห้ามปราม หรือขจัดเหตุที่อาจก่อให้เกิดการกระทำผิดวินัยในเรื่องดังกล่าว เข้าข่ายการผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ฐานไม่เสริมสร้างและพัฒนาให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีวินัย ป้องกันมิให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย โดยการเอาใจใส่ สังเกตการณ์ และขจัดเหตุที่อาจก่อให้เกิดการกระทำผิดวินัย ในเรื่องอันอยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการป้องกันได้  พิจารณาแล้วนายอมร ทองประดิษฐ์ มีภารกิจในความรับผิดชอบในปริมาณมาก  สร้างคุณประโยชน์ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาเป็นเวลายาวนาน การละเลยหน้าที่ดังกล่าวไม่ได้ปรากฏว่าเกิดความเสียหายใดๆต่อทางราชการ จึงพิจารณาให้งดโทษ โดยให้ว่ากล่าวตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร อย่าให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้อีกในคราวต่อไป 

แต่ปรากฎว่าทางจังหวัดมีการสอบสวนอีกก็เป็นเรื่องเดียวกัน ส่งกลับมายังเทศบาลเมืองเขลางค์นคร ทางเทศบาลก็มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาอีก และแจ้งว่ามีความผิดทางวินัยร้ายแรง เสนอไปยัง ก.ท.จ.ให้มีการไล่ออก ซึ่งมติ ก.ท.จ.ลำปาง ก็ออกมาว่า จากเอกสารหลักฐานไม่ปรากฎว่านายอมร ทองประดิษฐ์ ปลัดเทศบาล เป็นผู้สั่งการโดยตรงและไม่มีเอกสารหลักฐานลงมือชื่อรับแจกจ่ายน้ำ รวมทั้งอนุมัติจัดส่งน้ำในทางปฏิบัติไม่ได้เป็นหน้าที่ของปลัดแต่เพียงผู้เดียว หัวหน้างานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็มีอำนาจอนุมัติได้ ดังนั้นการเอาน้ำไปเติมในถังและรดน้ำต้นไม้ จึงน่าเชื่อได้ว่า เจ้าหน้าที่งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อาจเข้าใจว่าสามารถทำได้โดยถูกต้อง เพราะเป็นบ้านของผู้บังคับบัญชา  พฤติการณ์จึงถือว่าเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง  กรณีที่พนักงานสอบสวนส่งสำนวนสั่งฟ้องนายอมร ทองประดิษฐ์ ต่อพนักงานอัยการนั้น หากผลคดีอาญาเป็นที่สุดให้ลงโทษ จึงพิจารณาลงโทษวินัยให้เหมาะสมโทษทางอาญาอีกครั้งหนึ่ง   แต่ตามหลักความจริงแล้วคิดว่าเรื่องนี้เทศบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนไปแล้วไม่น่าจะมีการสอบสวนซ้ำอีก  ยกตัวอย่างกรณีของนายกเทศมนตรีนครลำปาง ที่ศาลมีคำสั่งยกฟ้องเพราะเป็นเรื่องที่มีการร้องซ้ำและได้ตัดสินไปแล้ว   ส่วนกรณีที่บอกว่า ป.ป.ช.ชี้มูลผิดวินัยร้ายแรงนั้น หากโดนวินัยร้ายแรงจริง ขณะนี้ตนก็คงไม่ได้อยู่ในตำแหน่งปลัดเทศบาลแล้ว แต่ทาง ป.ป.ช.ได้มีความเห็นให้แจ้งเรื่องมาให้ สภ.เมืองลำปาง สอบสวนเพิ่มเติมตามกฎหมาย ซึ่งคดีอยู่ระหว่างดำเนินการ การที่บอกว่า ป.ป.ช.ฟันผิดวินัยร้ายแรงนั้นไม่เป็นความจริง  

ปลัดเทศบาลเมืองเขลางค์นคร กล่าวต่อไปว่า  สำหรับเรื่องการใช้น้ำมันไปในทางทุจริตตนก็ต่อสู้ตามหลักฐานความเป็นจริง ซึ่งมีการนำเอกสารอันเป็นเท็จมาใช้กล่าวหาตน  และยังไปกล่าวหาคนขับรถว่าไม่ทำเอกสารการใช้น้ำมันตามระเบียบราชการ แต่กลับมีเอกสารมากล่าวหาตน คนขับก็บอกว่ามีการให้ทำเอกสารย้อนหลัง ซึ่งเอกสารไม่ตรงกับความเป็นจริง ในช่วงนั้นตนได้ถูกพักงานอยู่ แต่กลับมีเอกสารออกมาว่าเดินทางไปแจกเบี้ยยังชีพในหลายหมู่บ้าน   นอกจากนั้นยังมีการกล่าวหาว่าใช้น้ำมันสูงเกินจริงในช่วงที่กลับมาทำงาน เรื่องนี้ได้มีการสอบสวนปั๊มน้ำมันแล้วและทางปั๊มยืนยันว่ามีการเติมตามบิลที่สั่งเติม แต่ก็มีการนำรถที่ตนใช้งานไปเปรียบเทียบกับรถคันอื่น ซึ่งไม่สามารถเทียบกันได้เนื่องจากภารกิจหน้าที่ของปลัดเทศบาลมีมากกว่าคนอื่น ต้องเดินทางทำงานในพื้นที่ 63 ชุมชนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งตนได้ใช้น้ำมันตามประกาศที่เทศบาลกำหนดไว้ ตั้งแต่ใช้มาไม่เคยมีการใช้เกินแต่อย่างใด 

ส่วนเรื่องเทศบาลเมืองนครนายก เกี่ยวกับการเบิกจ่ายงบประมาณตามโครงการ ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งนั้นก็ได้ปฏิบัติตามหนังสือสั่งการทุกประการ  และได้ย้ายมาลำปางเมื่อ 20 เม.ย.49  เรื่องนี้ก็ต้องมีคนมารับช่วงต่อ  จากนั้นต้องมีการตรวจสอบว่าทำโครงการแล้วมีเงินเหลือเท่าไร มีอะไรเหลือบ้าง เพื่อทำบันทึกคืนให้กับราชการ เมื่อ สตง.ท้วงติงมาทาง จ.นครนายก ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งผลสรุปออกมาว่า เทศบาลสมประโยชน์แล้วไม่มีใครต้องรับผิด  แต่ให้ดำเนินการทางวินัยตามความเหมาะสมควรแก่กรณี แต่กรมบัญชีกลางเห็นตรงกับ สตง. ให้มีการเรียกเงินคืน โดยทางเทศบาลเมืองนครนายกได้แจ้งมาที่ตน ให้รับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคืนให้กับเทศบาล จำนวน 375,000 บาท  แต่ตนไม่เห็นด้วยเพราะการเรียกค่าเสียหายครั้งนี้ เรียกมาแบบลูกหนี้ร่วม คือ เรียกเท่ากับคนอื่นๆที่ยังปฏิบัติงานอยู่ ซึ่งตนได้ย้ายมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว  จึงได้ยื่นฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่ ในเรื่องของสัดส่วนการละเมิด ซึ่งตาม พ.ร.บ.ละเมิดตามกฎหมายต้องดูว่าใครทำผิดมากต้องชดใช้มาก ใครทำผิดน้อยก็ชดใช้น้อยตามลำดับ  ตอนนี้เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี และยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ได้กระทำโดยการประมาทเลินเล่อ เพราะทำตามระเบียบของทางราชการที่กำหนดไว้ทั้งหมด 

“ตนเป็นข้าราชการระดับ 9 รับราชการมา 30 ปีแล้ว ไม่เคยมีปัญหาอะไรเลย เพราะยึดระเบียบกฎหมายมาโดยตลอด เมื่อเป็นฝ่ายปฏิบัติราชการให้เป็นไปตามระเบียบในส่วนที่เราเป็นปลัดเทศบาล แต่อาจจะทำให้ฝ่ายการเมืองไม่ถูกใจก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ตาม อยากให้ประชาชนเข้าใจตนถูกต้องจึงออกมาเปิดเผยในครั้งนี้ และจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดต่อไป”  นายอมร กล่าว 


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 994 ประจำวันที่5 - 11 กันยายน 2557)


Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์