วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2557

เรื่องเศร้านักเล่าข่าว


                            
ถึงแม้ จอทีวีดาวเทียมการเมือง ชนิดเข้ม เช่น เอเชียอัพเดท บลูสกาย เอเอสทีวีผู้จัดการ จะพ้นจากภาวะ “จอดำ” ไปแล้ว แต่สถานีวิทยุชุมชนนับพัน ยัง “เสียงเงียบ” โดยเฉพาะคลื่นของบรรดานักเล่าข่าว นักวิพากษ์วิจารณ์การบ้านการเมืองทั้งหลาย ที่ดูเหมือนพยายามแสดงราคาผู้รู้จริง เดินหน้าชูธงต่อต้านความไม่ชอบมาพากลทั้งหลาย แต่บาดแผลแห่งความฉ้อฉลของตัวเองกลับมองไม่เห็น ใกล้เข้ามาในนครลำปาง ไม่ต้องพาดพิงถึง หลายคนก็พอนึกออกว่าหมายถึงใคร

คล้ายกับว่า ถ้าขาดเขา ลำปางคงเต็มไปด้วยทุจริต คอรัปชั่นเต็มเมือง เหมือนกับว่าเขาคือผู้ยึดครองความความถูกต้อง ชอบธรรมไว้ทั้งหมดแต่ผู้เดียว นักเล่าข่าวภูธรเหล่านี้นับว่าน่ากลัว น่ากลัวหาใช่เพราะความเก่งกาจสามารถไม่ แต่น่ากลัวเพราะความ “หลงตัว” เช่นเดียวกับ นักเล่าข่าวในสื่อกระแสหลัก ที่ใช้บทบาทของนักเล่าข่าว นั่งเทียน พูดจาเอาตามใจโดยไม่ต้องใส่ใจความจริง ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร นี่นับเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับนักเล่าข่าวทั้งหลายไม่ว่าภูธร หรือนครบาล 

ผมตอบคำถามในรายการ “เดินหน้าประเทศไทย” ตอน “สื่อสารมวลชนกับการกำกับดูแลเนื้อหา”ถ่ายทอดทุกสื่อทั่วประเทศ เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ถึงเรื่องนักเล่าข่าว ได้เพียงไม่กี่ประโยค ด้วยข้อจำกัดเวลา แต่สิ่งที่ผมอยากจะพูดและขยายความ เพื่อให้เกิดบรรยากาศปะทะสังสรรค์กันอย่างกว้างขวางในหมู่มิตรเมืองลำปาง  คือ รายการเล่าข่าวทางโทรทัศน์ ซึ่งฟูฟ่อง มาอย่างน้อยตั้งแต่ห้วงเวลาหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 

โดยแนวคิดของเล่าข่าว ผมคิดว่าไม่เสียหายอะไร คือการนำข่าวหรือการเสนอข้อเท็จจริงในรูปแบบของข่าวที่ดูจริงจัง เคร่งขรึม  แบบสื่อในเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์ มาเป็นบรรยากาศแบบพูดคุย บอกเล่าเรื่องราว คล้ายเพื่อนเล่าให้ฟัง ซึ่งเป็นวิธีการนำเสนอเพื่อให้คนสนใจข่าวมากขึ้น

เรื่องเล่าข่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะคนรุ่นพ่อ รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย ก็ได้เคยสัมผัสมนต์เสน่ห์ของการเล่าข่าวที่แสนคลาสสิค  ของ  “คุยขโมงหกโมงเช้า” โดยดุ่ย ณ บางน้อย ร่างเงาของอำนาจ สอนอิ่มศาสตร์ กันมาแล้ว

ทุกเช้า หากเราจะเคยได้ยินเสียงของคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา นักเล่าข่าวยุคใหม่ ในเรื่องเล่าเช้านี้  ดังก้องกังวาน กินพื้นที่ของนักเล่าข่าวทั่วประเทศไปถึง 80 % 48 ปีก่อน  คนรุ่นนั้น ก็จะคุ้นเคยกับเสียงนุ่มๆ แฝงความจริงจัง ของดุ่ย ณ บางน้อย ดังไปทั่วทุกย่านร้านตลาด ผ่านคลื่นวิทยุ AM 

ดังนั้น เล่าข่าวจึงมิใช่เรื่องใหม่ แต่ความใหม่อยู่ที่วิธีการของนักเล่าข่าวยุคใหม่ที่เอาความรู้สึก เอาทัศนคติ เอาความคิดเห็น ส่วนตัวเข้าไปปะปนกับข่าว จนแยกไม่ออกว่าส่วนไหนเป็นข่าว ส่วนไหนเป็นความเห็น ทำนองเดียวกับที่สื่อหนังสือพิมพ์วันนี้ แยกไม่ออกระหว่าง พื้นที่ข่าว กับ Advertorial ซึ่งเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างน่าเกลียดที่สุด

ลุงดุ่ยนั้น วางไมค์ ถอดบทบาทนักเล่าข่าวอย่างสิ้นเชิงแล้ว ในวัย 80 เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เขาให้สัมภาษณ์ไทยรัฐออนไลน์ถึงนักเล่าข่าวรุ่นใหม่ว่า

“..สมัยนี้มีการตีไข่ใส่สี เล่าเกินความจริงออกไปมาก”

คงไม่ใช่นักเล่าข่าวทั้งหมด และคนข่าวที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ประสบความสำเร็จอย่างสูงบางคน ก็ไม่ได้ดำรงตนเป็น “นักเล่าข่าว” เช่นคุณกิตติ สิงหาปัด ก็ยังคงรักษาบทบาทของผู้ประกาศข่าว ที่เสนอข้อเท็จจริง อย่างตรงไปตรงมา สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ก็ไร้เงานักเล่าข่าว บางทีความคิดว่าการเอาข่าวมาทำให้สนุกสนาน เช่น สถานีโทรทัศน์ดิจิทัลบางช่อง เอาตลกมาเล่าข่าว หัวเราะเฮฮา แล้วก็ละเมิดสิทธิเด็ก ผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศอย่างโจ่งแจ้ง  อาจจะไม่ใช่คำตอบอีกแล้วสำหรับการเสนอข่าว ที่ต้องการความจริงจัง น่าเชื่อถือ 

ผมพูดถึงการปฎิรูปรายการเล่าข่าว โดยไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของการปฎิรูปสื่อ ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ เพราะเรื่องการเล่าข่าว ค่อนข้างจะเป็นเรื่องเฉพาะในวิชาชีพ ซึ่งจะต้องจัดการดูแลกันเอง องค์กรสื่อที่เป็นแม่งานน่าจะเป็นสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ซึ่งเป็นพื้นที่หลักของรายการเล่าข่าว  หลักก็คือการทบทวนบทบาทของนักเล่าข่าว ทั้งในแง่ของเนื้อหาและตัวบุคคล เหตุที่ต้องพูดถึงตัวบุคคล เพราะอาจด้วยความขาดแคลนคนหรือความคิดที่จะสร้างเรตติ้งแต่ประการเดียว ทีวีดิจิทัลบางช่อง ก็เลยใช้บริการนักแสดงตลก ดารา มาเล่าข่าว โดยที่ไม่มีหลักจริยธรรมกำกับการทำงาน 

บางสถานีก็ใช้ผู้ประกาศที่ไม่มีความรู้พื้นฐานเรื่องกฎหมาย และการละเมิดสิทธิ เด็กและผู้หญิง 

บางสถานีก็ใช้ผู้ประกาศข่าว ที่ไม่มีประสบการณ์ข่าวภาคสนาม แต่มีความคิดทางการเมืองรุนแรง และใช้พื้นที่ข่าวซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นพื้นที่ในการแสดงออกซึ่งความคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมือง หลายครั้งได้เป็นตัวจุดชนวน การสร้างและถ่ายทอดวาทกรรมแห่งความเกลียดชัง คนเหล่านี้มักไม่สนใจที่จะเข้าร่วมการฝึกอบรมหรือเรียนรู้หลักการทำงานภายใต้กรอบจริยธรรม คงพึงพอใจกับการยอมรับในฐานะคนดัง หรือบุคคลสาธารณะ และถือว่าสิ่งนี้มีความสำคัญมากกว่าความรับผิดชอบต่อสังคม

รวมไปถึงวิทยุชุมชน ต่างจังหวัดที่พูดไว้ในตอนต้นด้วย ด้วยประสบการณ์ความรู้ที่ยังไม่มากพอ แต่พยายามแสดงภูมิรู้ อย่างผิดๆถูกๆ นี่เป็นเรื่องที่ต้องปฎิรูป หากมีปาฎิหาริย์ กสทช.คืนคลื่นให้มีจริง

การปฎิรูปในภาพใหญ่นั้น คงไม่สำเร็จทั้งหมด และในเรื่องสื่อ หลายเรื่องก็ไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของการปฎิรูปสื่อในระบบของสภาปฎิรูปแห่งชาติ  เพราะเป็นเรื่องที่จัดการดูแลกันเองได้ สำคัญที่สุดก็คือ จิตสำนึก หากจิตสำนึกไม่เกิด หากไม่มีการเอาใจใส่ทักท้วงกัน ก็รอเวลาให้อำนาจนอกระบบมาจัดการ
           

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 994 ประจำวันที่5 - 11 กันยายน 2557)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์