วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2557

สสส.หนุนบ้านป่าเผือกใส่ใจสุขภาพ ลดใช้สารเคมี ปลูกผักปลอดสารพิษไว้กินเอง


จากความยากจนของคนในหมู่บ้านป่าเผือก หมู่ 1 ต.ทุ่งยั้ง  อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ในอดีต เปลี่ยนแปลงจนกลายมาเป็นหมู่บ้านที่มีความเข้มแข็งในปัจจุบัน มีหลายปัจจัยที่มีส่วนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้าน การดำเนินชีวิตตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้หมู่บ้านมีความเข้มแข็ง ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกด้าน 

 นายพิชิต โพทัพ ผู้ใหญ่บ้านป่าเผือก กล่าวว่า  หมู่บ้านป่าเผือก หมู่ 1 ต.ทุ่งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์   มีจำนวน 418 หลังคาเรือน ประชากรทั้งหมด 1095 คน  สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงและมีที่ราบเชิงเขาสำหรับทำนาเพียงเล็กน้อย ราษฎร มีอาชีพเหลักคือเกษตรกร ปลูกข้าวโพดและข้าวไร่ และจากการสำรวจปัญหาของหมู่บ้าน พบปัญหาสำคัญคือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยพบมีการใช้สารเคมีทางการเกษตรบริเวณต้นน้ำมากถึงร้อยละ 80 และทิ้งเศษวัสดุการเกษตรบริเวณแหล่งน้ำ เกิดการปนเปื้อนสารเคมีในแหล่งน้ำ เกษตรกรใช้สารเคมีประเภทยาฆ่าหญ้าเฉลี่ยปีละ 22,900  ลิตรต่อปี เป็นเงินกว่า 3 ล้านบาท   โดยพฤติกรรมการใช้สารเคมี เกษตรกรไม่ได้คำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยต่อสุขภาพ ส่วนใหญ่ยังขาดการป้องกันตนเองจากพิษภัยของสารเคมีและละเลยไม่เห็นความสำคัญต่อผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมโดยจะเห็นได้จากพฤติกรรมการผสมสารเคมีประเภทยาฆ่าหญ้าในลำห้วย จากนั้นจะใช้เครื่องสูบน้ำ สูบขึ้นไปพ่นในพื้นที่ปลูกข้าวโพด และทิ้งกระป๋องสารเคมีไว้ในลำน้ำต่างๆ ส่งผลให้สารเคมีปนเปื้อนในลำน้ำจากบนภูเขาสูงไหลสู่ลำห้วย ลำน้ำ และแม่น้ำด้านล่าง   และจากการใช้สารเคมีจึงมีการเจ็บป่วยจากโรคมะเร็ง ซึ่งจากสถิติในปี 2555 พบผู้ป่วยมะเร็งและเสียชีวิต 3 ราย และปัจจุบันกำลังป่วย 1 ราย อีกทั้งจากการสุ่มตรวจหาสารเคมีตกค้างในร่างกายจำนวน 39 ราย พบมีสารเคมี 34 ราย คิดเป็นร้อยละ 87  ซึ่งในกลุ่มที่พบยังมีเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี อยู่ในความเสี่ยงไม่ปลอดภัยอีกด้วย 

นอกจากนี้ยังพบปัญหาด้านหนี้สินทางการเกษตร โดยส่วนใหญ่ชาวบ้านมีฐานะยากจน รายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 20,350 บาทต่อปี หรือรายได้เฉลี่ย 4500 บาทต่อเดือน  และด้วยการที่ต้องออกไปทำงานที่ไร่ นาแต่เช้า จึงต้องพึ่งการบริโภคอาหารจากตลาด รถเร่ที่เข้ามาขายในหมู่บ้าน จากข้อมูลรายจ่ายในการซื้อผัก เนื้อสัตว์และอาหารอื่นๆไว้บริโภคเฉลี่ยครัวเรือนละ 100 บาทต่อวัน หรือเดือนละ 3000 บาท ชาวบ้านจึงวนเวียนอยู่ในภาวะหนี้สิน และสุขภาพเสื่อมโทรม
 
ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวโยงกับวิถีชีวิตของชาวบ้านมากที่สุดและหากไม่ดำเนินการแก้ไขจะส่งผลกระทบในระยะยาวทั้งต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้าน สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ทางคณะกรรรมการหมู่บ้านป่าเผือกจึงมีแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในระดับที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งด้านการเกษตร และการบริโภค มาสู่ระดับที่มีความปลอดภัยมากขึ้น จึงจัดทำโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม หรือสำนัก 6 ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ให้การสนับสนุนโครงการ และมีเครือข่ายจากสำนักงานเกษตรสนับสนุนด้านวิชาการแนวทางเกษตรปลอดสารพิษ 

 โดยเริ่มต้นจากการแจ้งข้อมูลด้านค่าใช้จ่ายในการซื้อสารเคมี ข้อมูลด้านค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ข้อมูลสุขภาพ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ทราบ เพื่อให้เกิดความตระหนัก พร้อมกับสร้างความรู้ ความเข้าใจในการใช้สารเคมีในการเกษตรอย่างปลอดภัย และลดปริมาณการใช้ลง ตลอดจนสร้างค่านิยมใหม่ในการอยู่อย่างพอเพียง โดยเน้นลดรายจ่าย  ส่งเสริมสนับสนุนการปลูกผัก ผลไม้ ปลอดสารเคมีไว้บริโภค และมีเหลือจะนำไปขาย หรือแปรรูปไว้บริโภคและจำหน่าย และมีการรวมกลุ่มเพื่อผลิตปุ๋ยชีวภาพ   น้ำส้มควันไม้ในการไล่แมลง เพื่อเป็นลดต้นทุนการผลิต    และเพิ่มรายได้ โดยการส่งเสริมครัวเรือนให้ประกอบอาชีพเสริม มีการรวมกลุ่มเพื่อส่งเสริมให้มีการออมเงินเพิ่มขึ้นเพื่อไม่ต้องไปพึ่งเงินกู้นอกระบบ  จัดตั้งศูนย์สาธิตเกษตรอินทรีย์  ซึ่งคนในชุมชนสามารถเรียนรู้วิธีปลูกผัก ทำนาข้าวปลอดสารพิษ และนำไปปฏิบัติใช้ได้

ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ชาวบ้านให้ความสนใจและเข้าร่วมโครงการแล้ว 150 หลังคาเรือน มีการเปลี่ยนแปลงหันมาดำเนินชีวิตแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง หลายรายมีรายได้เพิ่มจากการจำหน่ายผักที่ปลูกในบ้าน มีสุขภาพดีขึ้นจากการบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์ และปลอดสารเคมี มีการจัดทำบัญชีรับ – จ่ายครัวเรือนเพื่อลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นจนสามารถปลดหนี้สินจากเงินกู้นอกระบบได้ ตระหนักถึงผลเสียของการใช้สารเคมีและหันมาใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ แทนปุ๋ยเคมี โดยในอนาคตทางชุมชนได้เตรียมไปศึกษาดูงานกลุ่มอื่นเพื่อนำมาพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น  และเตรียมจัดตั้งศูนย์สมุนไพรเพื่อนำสมุนไพรพื้นบ้านมาผนวกกับภูมิปัญญาเดิมให้เกิดประโยชน์


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 996 ประจำวันที่ 19 - 25 กันยายน 2557)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์