วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2557

ล็อคคอขายกล่องดิจิทัล บริษัทไม่เลิกล่าชื่อ-กสทช.มึน



บริษัทขายกล่องดิจิทัลยังไม่เลิกล่ารายชื่อ ลำปางพบอีกแจ้งผ่านชมรมคนพิการ ต.ต้นธงชัย แลกเงินสนับสนุนชมรม ขณะที่ กสทช.เขต3 พูดไม่ออก เผยไม่สามารถดำเนินการใดๆได้ ทำได้เพียงส่งเอกสารหลักฐานให้ทางส่วนกลางพิจารณาเท่านั้น

ล่ารายชื่อรับกล่องดิจิทัลยังระบาดไม่เลิก ล่าสุด นายเทศมนตรีเมืองเขลางค์นคร ออกหนังสือถึงประธานชุมชน ให้ประชาสัมพันธ์เรื่องจองกล่องดิจิทัล  หลังได้รับการประสานงานจากชมรมคนพิการและผู้ด้อยโอกาสตำบลต้นธงชัย  โดยมีเนื้อหาสำคัญว่า “เทศบาลเมืองเขลางค์นคร ได้รับการประสานจากชมรมคนพิการและผู้ด้อยโอกาสตำบลต้นธงชัย เพื่อประชาสัมพันธ์สอบถามความประสงค์ในการแลกคูปองเป็นเครื่องแปลงสัญญาพร้อมอุปกรณ์ เพื่อนำไปติดตั้งกับโทรทัศน์ในระบบเดิมให้สามารถรับชมระบบดิจิทัลได้รวม 48 ช่อง ซึ่งคูปองที่ประชาชนจะได้รับจาก กสทช.มีมูลค่า 690 บาท เมื่อนำไปแลกซื้อเครื่องแปลงสัญญาณพร้อมอุปกรณ์กับห้างร้านทั่วไปที่ร่วมโครงการ จะต้องจ่ายเงินสำหรับส่วนต่างอย่างน้อย 400 บาท เนื่องจากราคาเครื่องแปลงสัญญาณดิจิทัลพร้อมอุปกรณ์จะจำหน่ายในราคาขั้นต่ำ 1,090 บาทท  แต่ทางชมรมได้รับการประสานจากบริษัท TOS  ซึ่งผลิตเครื่องแปลงสัญญาณดิจิทัลพร้อมอุปกรณ์ ตามมาตรฐานของสำนักงาน กสทช. เพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้มีรายได้น้อย ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส สมาชิกสหกรณ์เกษตร เกษตรกร ให้ไม่ต้องซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่แต่สามารถรับชมรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัลจากโทรทัศน์ระบบเดิมที่มีอยู่  ซึ่งจะต้องนำคูปองมูลค่า 690 บาท มาแลกเครื่องแปลงสัญญาณ โดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มแต่อย่างใด  โดยผู้มีความประสงค์ต้องเป็นเจ้าของบ้านและกรอกข้อมูลเพื่อแสดงความจำนงจองเครื่อง แล้วนำส่งชมรมคนพิการฯเพื่อส่งรายชื่อให้กับบริษัทต่อไป  หลังจากเจ้าบ้านได้รับคูปองแล้วจึงนำคูปองไปแลกเครื่องแปลงสัญญาณฯ กับชมรมฯ ในเดือนตุลาคม 2557 เป็นต้นไป”

เมื่อสอบถามไปยังฝ่ายกองสวัสดิการสังคม เทศบาลเมืองเขลางค์นคร ทราบว่า นายทัพ วงศ์ชัย ประธานชมรมผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสตำบลต้นธงชัย ได้เข้ามาติดต่อที่เทศบาลฯเพื่อขอให้ประชาสัมพันธ์โครงการจองกล่องดิจิทัลดังกล่าว  ซึ่งนายทัพได้เคยประสานงานเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆของชมรมคนพิการมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อนำเรื่องเสนอผู้บริหารก็เห็นว่าไม่มีความเสียหายอะไร จึงได้มีหนังสือแจ้งประชาสัมพันธ์ไปยังประธานชุมชนต่างๆ สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าร่วมจองกล่องดิจิทัลดังกล่าว
           
ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยัง นายทัพ วงศ์ชัย ประธานชมรมผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสตำบลต้นธงชัย เปิดเผยว่า ตนได้เดินทางไปบริษัท TOS  โดยตรง และได้มีการร่วมประชุมกันหลายครั้ง ทางบริษัทให้โครงการนี้มา เพื่อให้ผู้พิการ ผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาสได้ใช้กล่องดิจิทัลตามที่ กสทช.แจกคูปอง ในขณะที่โครงการที่บริษัทให้มานั้น ให้นำคูปองมาแลกที่ชมรมคนพิการฯ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆเพิ่มเติม  ซึ่งทางบริษัทจะสนับสนุนงบประมาณก้อนหนึ่งให้กับชมรมคนพิการฯ  ซึ่งทางชมรมมีหน้าที่รวบรวมรายชื่อผู้มาแสดงความจำนงขอรับกล่องทีวีดิจิทัล  และมีเครื่องหมายรับประกันจาก กสทช.ติด และมีหนังสือรับประกันมาตรฐานอีกไม่ต่ำกว่า 3 ปี  ไม่ใช่การนำของโหลราคาถูกมาแจก เราไม่มีเงื่อนไข ไม่มีการเรียกเก็บเอกสารใดๆ

นายทัพ กล่าวว่า กรณีที่มีการนำเสนอข่าวการจดรายชื่อเพื่อนำไปแลกกล่อง ก็ได้ยินข่าวมามากมาย หาข้อมูลมาพอสมควร บางคนก็ให้เอาเอกสารสำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านไป  ซึ่งภายหลังได้มีการห้ามนำหลักฐานของชาวบ้านไปเด็ดขาด  ในส่วนของตนนั้นจะให้แจ้งเพียงชื่อที่อยู่ และเลขบัตรประชาชน 13 หลัก เมื่อนำมาเอากล่องค่อยเอาบัตรประชาชนมาเทียบว่าตรงกับที่แจ้งความจำนงมาหรือไม่  ขณะเดียวกันถ้าเอาเครื่องไปแล้วใช้ไม่ได้ก็ให้นำมาคืน ทางโครงการฯจะเปลี่ยนให้โดยไม่มีเงื่อนไข
           
ไม่มีการเรียกร้องเอาเงินแม้แต่สตางค์แดงเดียว เพราะทำโครงการเพื่อช่วยเหลือเท่านั้น  ถ้ามีคูปองแต่ไม่เข้าโครงการจะไปหาซื้อเองก็ได้ไม่ว่ากัน  ส่วนต่างที่ต้องจ่ายเพิ่มก็เพิ่มกันเอง แต่ในขณะเดียวกันถ้ามาที่ชมรมเราก็จะให้ตามที่ขอแจ้งความจำนงมา  ไม่มีการเรียกร้องขออะไรเพิ่มเติมใดๆทั้งสิ้น  ทางชมรมก่อตั้งมา 10 กว่าปีแล้ว มีการช่วยเหลือกิจกรรมสาธารณะมาโดยตลอด ช่วยเหลือเรื่องรถเข็นให้ผู้พิการ บริษัทเห็นว่าเราทำให้สาธารณประโยชน์จริง โดยไม่หวังผลตอบแทน ก็เลยนำโครงการมาให้แจกกล่อง และบอกว่าเมื่อเสร็จโครงการจะให้ค่าใช้จ่ายช่วยเหลือชมรมฯ แต่ไม่ทราบว่าเป็นเงินจำนวนเท่าไร  ตอนนี้ที่ลำปางมีคนส่งชื่อมาประมาณ 20,000 กว่ารายแล้ว  ใครที่เห็นว่าโครงการนี้ดีก็เข้ามา แต่หากคิดว่ามีผลกำไรก็ไม่ต้องเข้ามาหา ยืนยันว่าทำด้วยจิตอาสาจริงๆ  หากมีใครไปแอบอ้างไปเรียกเงินไม่ใช่ชมรมคนพิการฯแน่นอน นายทัพ กล่าว
           
ด้านนายธีรัช เพ็ชรหิน  ผอ.กสทช.เขต 3 ลำปาง  กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดยากมาก ถึงแม้จะห้ามแต่ก็ยังมีการทำอยู่  ตอนนี้ก็ทราบว่ามีการนำสติ๊กเกอร์ของปลอมออกมาแล้ว  บริษัทต่างๆก็พยายามที่จะหลบหลีกเงื่อนไขและระเบียบของสำนักงานพอสมควร  เมื่อมีกรณีเช่นนี้ ในพื้นที่ทำได้แค่เก็บข้อมูลและส่งสรุปเรื่องเข้าไปที่ กสทช. แต่ต้องมีข้อมูลและหลักฐานเพียงพอ ว่าบริษัทมีข้อความเชิญชวนให้มาทำจริงๆ อีกส่วนก็จะเป็นเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามาว่ามีความไม่ชอบมาพากลหรือไม่อย่างไร ก็ต้องหาข้อมูลและส่งให้ทางสำนักงาน กสทช. พิจารณาต่อไป

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 995 ประจำวันที่ 12 - 18 กันยายน 2557)


Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์