วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แชทลวงโลก เด็กลำปางติดเน็ต 12 ช.ม.



ไม่น่าแปลกใจที่ เด็กและเยาวชนวันนี้ ล้วนถูกกักขังอยู่ในโลกเสมือนอันนำไปสู่ความเลวร้ายนานา โดยเฉพาะการเป็นประตูไปสู่การมีสัมพันธ์ทางเพศก่อนวัยอันควร เราจะมีผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้อย่างไร หากเด็กวันนี้ยังเสพติดสมาร์ทโฟน และเห็นเรื่องเพศเป็นเรื่องปกติธรรมดา

ในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า คำกล่าวสั้นๆแต่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเด็กน้อยตาดำๆที่เป็นผ้าขาว พร้อมที่จะซึมซับความรู้ พัฒนาความสามารถ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ สร้างครอบครัวที่แข็งแรง แต่เพราะอะไร ดูเหมือนว่ายิ่งบ้านเรามีการพัฒนาในด้านเทคโนโลยี การใช้ชีวิตดูจะสะดวกสบายมากกว่าสมัยแร็ค ลานนา ยังเป็นเด็กตัวกะเปี๊ยก แต่ปัญหาการของเด็กและเยาวชนดูจะน่าหนักใจขึ้นทุกวัน 

เมื่อปีที่ผ่านมามีข่าวที่น่าวิตก เพราะมีรายงานสถิติว่า วัยรุ่นหญิงไทยตั้งครรภ์ไม่พร้อม เป็นอันดับ 1 ของเอเชีย เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศแอฟริกา และในปี 2553 เยาวชนไทยอายุต่ำกว่า 20 ปี คลอด บุตร ร้อยละ 13.76 สูงกว่ามาตรฐานของ WHO ที่กำหนดไว้ ร้อยละ 10 ปี 2554 วัยรุ่นหญิงอายุ 10 – 19 ปีคลอดบุตรมากถึง 131,400 คน คิดเป็นร้อยละ 17     ของจำนวนหญิงที่คลอดบุตรทั้งประเทศ

ไม่ว่าใครก็ตามที่ได้เห็นสถิตินี้ คงร้อง ไอ่หยา...เป็นแน่ พร้อมทั้งคงนึกเป็นห่วงลูกเล็กเด็กแดงข้างกายเรา

ทุกวันนี้ค่านิยม แนวความคิดของเด็กเปลี่ยนไป ค่านิยมรักนวลสงวนตัว กลายเป็นเรื่องโบราณคร่ำครึ เด็กจำนวนไม่น้อยมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น ค่านิยมกลายพันธุ์เป็น มีเพศสัมพันธ์ได้แต่ต้องไม่ตั้งท้อง รวมไปถึงการมีค่านิยมเรื่องความรักแบบผิดๆว่า รักแล้วต้องมีเซ็กซ์ ถ้าไม่ยอมแปลว่าไม่รัก ดังนั้น ณ เวลาที่ความรักบังตา ความใคร่บังใจ การเสียตัวจนเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์จึงเกิดขึ้น ยิ่งในวัยรุ่นที่ร่างกายแข็งแรง ฮอร์โมนพุ่งพล่าน ไร้ความเครียดจากสังคม เหล่านี้จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เยาวชนตั้งท้องได้ง่าย นี่ยังไม่นับความเสี่ยงจากการติดโรคอีกด้วย
 
เด็กๆดูจะเจริญเติบโตดูเป็นสาวเกินวัย แต่งหน้าทาปาก กรีดอายไลเนอร์คมกริ๊บ เรียกแฟนว่าผัว ได้ยินทีไรก็อกอีแป้นจะแตก ยิ่งในระดับมัธยมปลาย มหาวิทยาลัย ที่มีเหตุให้ต้องจากอ้อมอกพ่อแม่มาอยู่หอ หลายคนก็เลือกที่จะอยู่แบบคู่ผัวตัวเมียเพราะรักกัน พ่อแม่ก็รับรู้และยินดีเพราะประหยัดเงินค่ากินค่าอยู่การสปาร์คกันจนตั้งครรภ์จึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เพราะผู้ใหญ่ก็ดูจะรู้เห็นเป็นใจไม่ใช่น้อย

อีกหนึ่งสถิติที่มาพร้อมกับการพัฒนาทางเทคโนโลยี ทำให้โทรศัพท์มือถือธรรมดา กลายเป็นมือถือแบบสมาร์ทโฟนที่ย่อโลกทั้งใบมาอยู่ในมือเด็ก ในราคาไม่แพง จนปี 2555 มีการสำรวจพฤติกรรมการเสพสื่อ น่าตกใจที่เด็กที่ใช้ไปกับสูงถึง 8 -9 ชั่วโมงใน 1 วัน ซึ่งอาจเทียบได้ว่าเวลาครึ่งชีวิตยามตื่นของเด็กไทย โดยในระยะยาวอาจส่งผลต่อเวลาในการพักผ่อนที่ลดลง และส่งผลกระทบต่อเวลาในการเรียนรู้ของเด็กให้ต้องด้อยประสิทธิภาพลงไป โดยใน 8 ชั่วโมงนี้ เด็กใช้เวลาคุยโทรศัพท์ หรือแชทผ่านโปรแกรม Line WhatsApp BB messenger Facebook  ราววันละ 3 ชั่วโมง

แต่ที่น่าตกใจ คือ จากรายงาน สรุปสภาวการณ์เด็กและเยาวชน 15 จังหวัด ภาคเหนือ ปี 2556 พบตัวเลขที่น่าตกใจ ว่า เด็กและเยาวชนจังหวัดลำปางใช้สื่ออินเตอร์เนตและสื่อสังคมออนไลน์ เฉลี่ยวันละ 12 ชั่วโมง !!!

การเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย จะเป็นก้าวเล็กๆที่เดินหน้าเปลี่ยนแปลงประเทศในภาวะวิกฤตของวิกฤต ให้หลุดพ้นจากวังวนเดิม ก็คงปฏิเสธไม่ได้ที่เราต้องเริ่มต้นจากพื้นฐานที่สำคัญ นั่นคือสถาบันครอบครัวที่จะควบคุมดูแลเด็กและเยาวชนในการใช้สื่ออย่างเหมาะสม สนับสนุนให้เด็กได้มีโอกาสทํากิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อลดโอกาสและเวลาในการเข้าถึงสื่อ ไม่ใช้โทรศัพท์ในพื้นที่ลับตา ทุกวันนี้เด็กแทบจะไม่ง้อคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค เพราะมีคอมพิวเตอร์มือถืออยู่ในมือ ทั้งเข้าถึงเกม เข้าถึงแชท ให้เข้าใจได้ในหน่วยวินาที พรั่งพร้อมด้วยค่ายโทรศัพท์มือถือต่างๆที่พร้อมใจออกโปรโมชั่นส่งเสริมการแชท  

ชีวิตของพวกเขาฝากไว้กับการแชท แชทลวงโลก และลวงพวกเขาอยู่ในโลกแห่งมายา 


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 997 ประจำวันที่ 3 - 9 ตุลาคม  2557)

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์