วันศุกร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2557

พิฆาตจอกรับฤดูท่องเที่ยว จังหวัดเจ้าภาพลงขันฟื้นกิ่วลมดีเดย์ 28 ต.ค.นี้







เร่งมือโกยจอกเปิดทางน้ำรับฤดูท่องเที่ยว จังหวัดเป็นเจ้าภาพระดมกำลังหลายภาคส่วนหนุนเครื่องจักรและลงขันงบประมาณ พร้อมลุย 28 ต.ค.57  ขณะเดียวกันขอความร่วมมือผู้ประกอบการแพหยุดกิจการ 1 เดือน หันมาร่วมกันแก้ปัญหาเพื่อให้ทันช่วงไฮซีซั่นที่จะถึงนี้ ด้านรองผู้ว่าฯเผยต้องมีการแก้ปัญหาระยะยาว เล็งทำ MOU ร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

-รองผู้ว่าฯเรียกประชุมด่วน
นายฤทธิพงษ์ เตชะพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า  จากปัญหาจอกหูหนูที่แพร่ระบาดเต็มพื้นน้ำบริเวณเขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง ที่ได้ส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการแพท่องเที่ยวไม่สามารถนำแพออกจากฝั่งได้ รวมทั้งส่งผลต่อระบบนิเวศในพื้นที่ และการท่องเที่ยวของจังหวัดได้รับผลกระทบไปด้วย  ซึ่งทางโครงการกิ่วลมฯ ได้นำเครื่องจักรเข้ามาแก้ไขปัญหา โดยการตักเอาจอกเหนือเขื่อนขึ้นฝั่ง แต่ยังคงมีพื้นที่จอกอีกร่วม 1,500 ไร่ที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข จังหวัดได้รับทราบปัญหาและเร่งดำเนินการโดยด่วน  ซึ่งเมื่อวันที่ 14 ต.ค.57 ที่ผ่านมา ได้ร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งโครงการกิ่วลมฯ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ธนารักษ์พื้นที่จังหวัด  ปภ.เขต 10 ลำปาง นายอำเภอเมืองลำปาง และนายกสมาคมท่องเที่ยว เพื่อหารือถึงแนวทางในการแก้ปัญหา  โดยมอบให้ ผอ.โครงการกิ่วลมฯดำเนินการวางแผนการดำเนินการ และได้มอบให้นายสำเริง ไชยเสน หัวหน้าสำนักงานจังหวัด ลงดูสภาพพื้นที่ และประชุมวางแผนร่วมกันอีกครั้งหนึ่งก่อนจะเริ่มดำเนินการ
           
-ระดมเครื่องจักร ช่วยตักจอก
รองผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวต่อไปว่า สำหรับการแก้ปัญหาในเบื้องต้น ทาง ปภ.เขต 10 ได้สนับสนุนเครื่องจักร จำนวน 5 รายการ เป็นรถตักไฮโดรลิกแขนยาว 1 คัน  รถตักไฮโดรลิกแขนสั้น 1 คัน และรถบรรทุก 3 คัน  นอกจากนั้นทางสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดลำปาง ได้แนะนำให้จังหวัดทำหนังสือประสานไปยังกรมโยธาธิการเพื่อขอสนับสนุนเรือตักตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด  ซึ่งขณะนี้ทำงานอยู่ทางภาคอีสาน หากได้เรือเข้ามาก็จะช่วยให้ทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น  โดยชลประทานสามารถตักได้วันละ 200 ตัน หากมีเครื่องจักรเข้ามาเพิ่มคาดว่าจะเพิ่มกำลังการตักวัชพืชได้เป็นวันละประมาณ 1,000 ตัน  ในส่วนของกำลังทหาร มทบ.32 ได้เตรียมพร้อมกำลังพลที่จะเข้ามาช่วยเหลือในการขนย้าย และจะประสานขอเครื่องจักรเป็นรถบรรทุกเทท้ายเข้ามาเพิ่มเติมด้วย
           
-ลงขันงบประมาณ เริ่ม 28 ต.ค.
ในการดำเนินการครั้งนี้ งบประมาณหลักคงจะเป็นค่าน้ำมันและค่าอาหาร ซึ่งได้ประสานกับทาง อบจ. เทศบาลในพื้นที่ รวมทั้ง กฟผ. และปูนซิเมนต์เพื่อช่วยกันลงขัน  ส่วนทางโครงการกิ่วลมฯ มีงบอยู่ 2 ล้านบาทที่ขอกรมชลประทานเข้ามาดำเนินการในส่วนนี้  ซึ่งทางเขื่อนกิ่วลมยังทำงานอยู่ทุกวันแต่จอกมีปริมาณมากจึงต้องระดมทุกภาคส่วนเข้ามาร่วม โดยจังหวัดเป็นเจ้าภาพ จะเริ่มดำเนินการในวันที่ 28 ต.ค. 57 นี้  ส่วนเรื่องของการกำจัดให้หมดไปเลยในเวลาสั้นๆคงจะเป็นไปไม่ได้ จึงจะกันพื้นที่และทำในส่วนที่ใช้ประโยชน์ได้ก่อน
           
-ต้องมีแผนระยะยาวร่วมกับท้องถิ่น
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่าจะได้ผลมากน้อยเพียงใด  นายฤทธิพงษ์ กล่าวว่า การร่วมมือกันครั้งนี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี ซึ่งในระยะยาวจะต้องมาแบ่งภารกิจกันร่วมกันท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นทาง โครงการกิ่วลมฯก็ต้องเป็นเจ้าภาพที่ต้องดูแล  ต่อไปอาจจะมีการทำบันทึกข้อตกลง หรือ MOU ร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาตรงนี้
           
-ขอแพหยุดล่อง ช่วยกันกั้นบล็อก
ด้านนายฤทัย พัชรานุรักษ์ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา  กล่าวถึงแผนการทำงานว่า  แผนการทำงานจะทำการกั้นเป็นบล็อกๆ เดิมโกยตักขึ้นเท่าไรจอกก็ขยายตัวเต็มเท่าพื้นที่เดิมที่ตักออกทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ จึงต้องกันเป็นบล็อกและกำจัดให้เสร็จที่ละบล็อก เพื่อควบคุมการขยายตัวออกไป ซึ่งได้หารือกับฝ่ายเครื่องจักรแล้วคาดว่าจะใช้เวลาบล็อกละ 1 สัปดาห์ในการกำจัด โดยจะเริ่มทำตั้งแต่หน้าเขื่อนขึ้นไปเรื่อยๆ โดยนำเครื่องจักรลงทางโรงสูบน้ำของ กฟผ. เพื่อให้แพทางหน้าเขื่อนก็จะสามารถล่องออกไปได้ครึ่งทาง ส่วนทางสำเภาทองก็มาคนละครึ่งทาง เพราะจะมีจอกส่วนที่กักไว้กลางอ่างอีกบล็อกหนึ่งที่จะต้องกำจัดอยู่ต่อเนื่อง แต่ระหว่างนี้ต้องขอความร่วมมือกับชมรมชาวแพ งดการล่องแพเป็นระยะเวลา 1 เดือนจนถึงวันที่ 30 พ.ย.57  และขอให้ชาวแพช่วยกันทำไม้ไผ่เพื่อที่จะกั้นจอกตามบล็อกในแผนที่กำหนดไว้ด้วย

-ไม่มีแผนปล่อยน้ำกำจัดวัชพืช
สำหรับแผนการปล่อยน้ำจากเขื่อนกิ่วคอหมามาหนุนเสริมน้ำในเขื่อนกิ่วลมนั้น ตอนนี้ยังไม่มีแผนระบายน้ำ เนื่องจากถ้าปล่อยน้ำมาก็จะเพิ่มพื้นที่น้ำ วัชพืชก็จะขยายตัวมากขึ้น ซึ่งพยายามจะล้อมกรอบให้วัชพืชขยายตัวน้อยที่สุด ถ้ากำจัดได้เบาบางลงแล้วในระหว่างเดือน พ.ย. จึงจะเปิดน้ำจากกิ่วคอหมาเข้ามาเติมให้ล่องแพได้สะดวกขึ้น  ส่วนการเปิดประตูระบายน้ำให้วัชพืชออกไปนั้นจะต้องยกบานขึ้น 1 เมตรขึ้นไป ระดับน้ำจะออกไปในอัตรา 100 ลบ.ม.ต่อวินาที เท่ากับ 1 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน จะทำให้กระทบกับฤดูแล้งในปีหน้าอย่างแน่นอน และมีคำสั่งจากทางกรมชลประทาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ห้ามระบายวัชพืชออกทางประตูระบายน้ำ จึงต้องมาระดมความคิดตามแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาตรงนี้
และที่เห็นว่ามีการระบายน้ำออกจากเขื่อนในช่วงนี้นั้นเป็นการระบายในส่วนที่ส่งให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีที่เตรียมจะเก็บเกี่ยวในเดือน พ.ย. เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วก็จะหยุดส่งน้ำ นายฤทัย กล่าว
           
-ฝากท้องถิ่นเฝ้าระวัง
นายสำเริง ไชยเสน หัวหน้าสำนักงานจังหวัดลำปาง กล่าวว่า วันที่ 16-27 ต.ค.57 จะเป็นขั้นเตรียมการ และจะขอกำลังจากชาวแพช่วยกันทำหลักไม้ไผ่ที่จะช่วยกั้นบล็อกด้วย ที่สำคัญคือขอความร่วมมือกับท้องถิ่นในพื้นที่ช่วยกำกับดูแลผู้หาปลา เพราะทราบว่าที่ผ่านมาการกั้นลวดสลิงไว้และมีการลักลอบตัดถึง 3 ครั้ง ทำให้จอกที่ถูกดักไว้กระจายออกมาทางหน้าเขื่อน หากมีการกั้นไม้ไผ่และไปทำลายอีกก็จะแก้ปัญหาไม่จบ ความเสียหายก็จะกระทบรุนแรงมากขึ้น และกระทบไปในหลายๆส่วนด้วยทั้งตัวผู้หาปลาและผู้ประกอบการแพ หลังจากนั้นวันที่ 28 ต.ค.57 จะเป็นวันดีเดย์ที่จะทำพิธีเปิดงาน เพื่อที่จะนำเครื่องจักรลงกำจัดวัชพืชตามแผนที่ได้วางไว้ โดยกำหนดเสร็จในวันที่ 30 พ.ย.57

-ต้องเยียวยา ระหว่างหยุดประกอบการ

ด้านนายธนา แก้วนิล นายกสมาคมท่องเที่ยวนครลำปาง กล่าวว่า  ทางชาวแพยินดีให้ความร่วมมืออย่างแน่นอน ซึ่งหากหยุดกิจกการ 1 เดือน ก็จะกระทบรายได้ของผู้ประกอบการล่องแพแน่นอน จึงอยากให้หาวิธีในการเยียวยา หรือจ้างงานเพื่อให้การช่วยเหลือด้วย  ซึ่งทาง ผอ.โครงการฯ กล่าวว่า ทางโครงการฯยินดีช่วยเหลือชาวแพที่มีความสามารถด้านแรงงานการช่างต่างๆ สามารถจ้างงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวรายวันได้ 


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1001 ประจำวันที่ 24 - 30  ตุลาคม  2557)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์