วันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เสี่ยงระเบิดผาตูบ ภาพ 3 พันปีสูญ



ศาลปกครองเชียงใหม่พิพากษายกฟ้องคดีชาวบ้านฟ้อง กฟผ.ระเบิดหินใกล้ดอยผาตูบ  ระบุ กฟผ.ดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนและขอประทานบัตรถูกต้อง ประกอบกับรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมชอบด้วยกฎหมาย การทำเหมืองแร่ใกล้ดอยผาตูบไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อวิถีชีวิต  ขณะที่ผู้ฟ้องคดีเตรียมยื่นอุทธรณ์  และฟ้องต่อกรณีพบภาพเขียนสีอายุกว่า 3,000 ปี บนดอยผาตูบ  ด้านกรมศิลปากร เตรียมขึ้นทะเบียนในปี 58  คาดต้องใช้เวลาถึง 3 ปี  เผยภาพเขียนสีมี พ.ร.บ.โบราณสถานโบราณวัตถุคุ้มครองอยู่แล้ว หาก กฟผ.กระทำให้เสียหาย จะต้องมีโทษตามที่กฎหมายกำหนด

นัดฟังคำพิพากษา เมื่อวันที่ 7 ต.ค.57 ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ ได้พิพากษากรณีที่สมาชิกกลุ่มเครือข่ายผู้สูญเสียจากการทำเหมืองและโรงไฟฟ้าแม่เมาะ รวม 5 คน ประกอบด้วย นายชัชวาล ชื่นสมบัติ  นายอภิชัย เกี๋ยงแก้ว นายมานะ หนูมา นายปิยสาร คุ้มสะอาด และนายประเสริฐ ตาสืบ ยื่นฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อธิบดีกรมป่าไม้  รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวม.อุตสาหกรรม คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย

ประเด็นยื่นฟ้อง  กฟผ. สืบเนื่องจากเมื่อปี 55 ที่ผ่านมา ผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 คนได้ยื่นฟ้องต่อศาล โดยกล่าวอ้างว่าได้รับความเดือดร้อนจากการที่ กฟผ.ทำการระเบิดและขุดหินเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยใช้หินจากภูเขาด้านหลังโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่เรียกว่า ดอยผาตูบ  ซึ่งอยู่บริเวณดอยผาช้าง การระเบิดหินบริเวณดอยผาช้างเพื่อนำหินปูนมาดักจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นเพียงเพื่อประโยชน์ของ กฟผ.เท่านั้น  หากไม่ยุติการระเบิดเหมืองในขณะนี้จะไม่มีดอยในตำนานของคนแม่เมาะไว้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้อีกต่อไป  ซึ่งทางกลุ่มเครือข่ายผู้สูญเสียฯ ได้เรียกร้องไปยัง กฟผ.ให้หยุดดำเนินการดังกล่าว เมื่อวันที่ 7 ก.พ.55 แต่ไม่ได้รับคำตอบจาก กฟผ.แต่อย่างใด  จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้ระงับการระเบิดและทำลายบริเวณดอยผาช้าง โดยด่วนที่สุด และยุติการกระทำใดๆ อันเป็นการทำลายดอยผาตูบโดยรอบตลอดไป และให้ฟื้นฟูบริเวณที่ถูกทำลายไปให้กลับมามีสภาพเดิมมากที่สุด  พร้อมกับขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา

ขอประทานบัตรถูกต้อง ทั้งนี้ ศาลได้แยกพิจารณาในหลายประเด็น คือ กฟผ.ทำการระเบิดหินบริเวณดอยผาตูบเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นกระกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ศาลได้พิจารณาว่า  กฟผ.ได้ยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมเคมีต่อสำนักงานทรัพยากรธรณีจังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 21 พ.ย.34  ซึ่งผลตรวจสอบพบว่าพื้นที่ขอประทานบัตรอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่เมาะ  ในขณะเดียวกัน กฟผ.ได้ยื่นขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในป่าสงวนแห่งชาติ  ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ออกตรวจสอบพื้นที่และรายงานผลต่อจังหวัด  ต่อมา ผู้ว่าราชการฯพิจารณาเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตศึกษาค้นคว้าทดลองวิจัยทางราชการ หรือเขตปลูกป่าในระยะ 5 ปี  เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการนำหินปูนไปใช้ในกระบวนการดักจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จึงเห็นควรอนุญาต   กฟผ.ได้ส่งความเห็นการอนุญาตต่อสำนักงานทรัพยากรธรณี รวมทั้งส่งรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อเสนอคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 พิจารณา และได้รับอนุมัติประทานบัตร ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.37 ถึง 18 ก.ย. 62 รวมอายุ 25 ปี  จึงเห็นว่าการออกประทานบัตรทำเหมืองแร่หินปูนให้แก่ กฟผ.เป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว

EIA ชอบด้วยกฎหมาย กรณีที่ผู้ฟ้องคดี อ้างว่ารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมประกอบการขอประทานบัตรของ กฟผ.ไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนได้ว่าวิเคราะห์ผลกระทบอย่างครบถ้วนในทุกด้านและทุกพื้นที่ที่ควรพิจารณา  เมื่อพิจารณาตามรายงานฯแล้วเห็นว่า มีการประเมินผลกระทบที่เกิดจากการเปิดเหมืองทั้งทางตรงและทางอ้อมที่มีต่อบริเวณพื้นที่โครงการและพื้นที่ใกล้เคียง โดยศึกษาผลกระทบต่อทรัพยากรด้านกายภาพ ชีวภาพ และนิเวศวิทยา  คุณค่าการใช้ประโยชน์และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต รวมทั้งทัศนคติดของประชาชนที่อยู่ในชุมชนบริเวณพื้นที่โครงการ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมได้เสนอคณะกรรมการชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ และเห็นชอบกับรายงานดังกล่าว เมื่อวันที่ 16 พ.ค.37 ดังนั้นการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของ กฟผ. จึงดำเนินการโดยชอบตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

ส่วนข้ออ้างของผู้ฟ้องที่ว่าการทำเหมืองแร่ของ กฟผ.ไม่มีการรับฟังความคิดเห็น ศาลเห็นว่า ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 มิได้กำหนดให้การทำเหมืองแร่ต้องมีการรับฟังความเห็นของประชาชน และ กฟผ.ได้จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมประกอบการของประทานบัตรโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อมีการขอต่ออายุใบอนุญาตทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้เมื่อปี 47 ได้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ โดยขอความเห็นจาก อบต.แม่เมาะ และ อบต.นาสัก โดยที่ประชุมสภา อบต.ทั้งสองแห่งมีมติเห็นชอบให้ต่ออายุใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าแล้ว

ก.ฟ.ผ.ใช้หินปูนเหมาะสม สำหรับกรณีที่ผู้ฟ้องอ้างว่า การผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยถ่านหินไม่จำเป็นต้องใช้หินปูนในการดักจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์นั้น ศาลได้พิจารณาตามคำชี้แจงของกรมควบคุมมลพิษ รวมทั้งผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 แล้วเห็นว่า กฟผ.เลือกใช้หินปูนเพื่อนำมาสกัดเป็นแคลเซียมคาร์บอเนตในการดักจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์สูง และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการใช้สารเคมีชนิดอื่น และยังสามารถทำสารยิปซัมที่เกิดจากการดักจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ได้  ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจแหล่งแร่หินปูน พบว่า จ.ลำปางเป็นแหล่งหินปูนที่มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบมากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปอยู่บริเวณดอยผาตูบและดอยผาช้าง และอยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ กฟผ.จึงเลือกดอยผาตูบ ซึ่งจะทำให้ปลอดภัยในเรื่องการขนส่งและมีต้นทุนน้อย  การที่ กฟผ.เลือกใช้หินปูนแทนสารเคมีชนิดอื่นจึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมแล้ว

ทำเหมืองไม่กระทบรุนแรง กรณีการระเบิดหินปูนบริเวณดอยผาตูบอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ เป็นการทำลายแหล่งทำมาหากิน และอาจได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง เสียงดัง และแรงสั่นสะเทือนจากการระเบิด  จากการตรวจสอบพื้นที่ประกอบกับความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญพบว่า การทำเหมืองแร่หินปูนได้ทำบริเวณด้านล่างภูเขา จึงยังคงมีสภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์อยู่ด้านบนและด้านข้าง ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากป่าที่เหลืออยู่ การใช้พื้นที่ดอยผาตูบเพื่อทำเหมืองจึงยังไม่ถึงกับส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่บริเวณดังกล่าว  รวมทั้งไม่มีผลกระทบต่อสัตว์ป่าและพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ส่วนผลกระทบด้านฝุ่นละออง แรงสั่นสะเทือน และความดัง จากการระเบิด ก็ไม่ปรากฏว่าเกินค่ามาตรฐานที่ทางราชการกำหนดไว้

ผลิตไฟฟ้าสำคัญกว่า ส่วนผลกระทบด้านทรัพยากรธรรมชาตินั้น เห็นว่า การใช้พื้นที่ดอยผาตูบเพื่อทำเหมืองแร่หินปูนย่อมส่งผลกระทบอยู่บ้าง แต่เมื่อพิจารณาถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้หินปูนในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าของ กฟผ.แล้วจะเห็นว่า ระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า ประกอบกับโรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่ของภาคเหนือและภาคกลาง ต้องใช้กำลังการผลิตสูงย่อมส่งผลให้เกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในปริมาณมาก หากไม่มีระบบการดักจับก๊าซที่มีประสิทธิภาพแล้ว ทำให้ก๊าซถูกปล่อยออกสู่อากาศภายนอกในปริมาณมากจนอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมรวมถึงมนุษย์และสัตว์ ดังนั้น ประโยชน์ที่จะได้รับจากการนำหินปูนมาใช้ในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า จึงมีมากกว่าความเสียหายจากการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติบริเวณดอยผาตูบ  จึงถือว่า กฟผ.ทำการระเบิดหินปูนบริเวณดอยผาตูบเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี  ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง

ยื่นอุทรณ์แน่นอน นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์  เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ผู้ร่วมขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าว เปิดเผยว่า อย่างไรก็ตามชาวบ้านจะยังคงต่อสู้ เพื่อปกป้องแหล่งอารยธรรมที่ถูกค้นพบ ทั้งถ้ำครกและภาพเขียนสีที่อยู่ห่างจากจุดระเบิดเหมืองแร่ของ กฟผ.ประมาณ 300 เมตรเท่านั้น ทำให้ทุกฝ่ายเป็นห่วงว่าด้วยระยะห่างเพียง 300 เมตร หากมีการระเบิดหินทำเหมืองอาจส่งผลกระทบกับถ้ำอย่างแน่นอน  ซึ่งขณะนี้ได้ให้ทนายความรวมรวบประเด็นที่จะยื่นอุทธรณ์ศาล  ในเบื้องต้น คาดว่าจะยื่นในประเด็นที่ศาลพิพากษาว่าประทานบัตรเหมืองหินปูนที่เอาไปใช้ในการสกัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์.เมื่อปี 2537 เป็นการออกประทานบัตรโดยชอบแล้ว แต่เราเชื่อว่า กฟผ.ทำรายงานโดยมิชอบนั่นเอง

หลังจากนี้ชาวบ้านจะจดหมายหางว่าวส่งถึง สผ. และ กก.วล. ขอให้ทบทวนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ ดังกล่าว เนื่องจากพบว่ามีภาพเขียนโบราณ และขอให้ระงับการดำเนินกิจกรรมการระเบิดหินเป็นการชั่วคราว และขอให้สอบสวนบริษัทที่ปรึกษาและลงโทษเพิกถอนใบอนุญาตการเป็นบริษัทที่ปรึกษา หากพบว่าเป็นการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯอันเป็นเท็จ เพราะในรายงานฯไม่ระบุว่ามีแหล่งภาพเขียนสีโบราณ ถือว่าเป็นเท็จ

นางมะลิวรรณ กล่าวอีกว่า  ส่วนที่พบภาพเขียนสีเป็นหน้าที่ของ กฟผ.ต้องทำตามกฎหมาย เมื่อพบวัตถุโบราณนั้น อาจมีการฟ้องเพิ่มอีกหลายคดีและผู้เกี่ยวข้องที่ต้องโดนฟ้องอีกหลายคน หลายหน่วยงาน ซึ่งเรื่องภาพเขียนสีนี้  เราต้องรวบรวมข้อมูลให้แน่น   เบื้องต้น กรมศิลป์รับปากว่าเตรียมขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุโบรานใน ปี 58 อยู่ระหว่างดำเนินการ แต่เสียดายในส่วนของถ้ำครกที่กำลังจะโดนระเบิด หากเราหยุดแปลงประทานบัตรนี้ไม่ได้ถ้ำครกนี้โดนระเบิดแน่ในเร็ววัน

กรมศิลป์เตรียมขึ้นทะเบียน  นายจตุรพร เทียมทิมกฤต หัวหน้ากลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 น่าน กล่าวว่า  ภาพเขียนสีดอยผาตูบที่พบนั้น ได้อยู่ระหว่างการทำเรื่องเพื่อขอขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากร โดยจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการเข้ามาสำรวจ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปี 58 หลังจากกรรมการชุดเล็กสำรวจแล้วต้องส่งเรื่องให้กับกรรมการชุดใหญ่อีกชุดหนึ่งพิจารณาก่อน ถึงจะส่งเรื่องยังกรมศิลปากรอีกครั้ง ซึ่งขั้นตอนดำเนินการค่อนข้างละเอียด ดั้งนั้นต้องใช้เวลาในการทำงานคาดว่าราว 3 ปีได้  สำหรับภาพเขียนสีนั้น ไม่ว่าจะขึ้นทะเบียนหรือไม่ จะมี พ.ร.บ.โบราณสถานและโบราณวัตถุ คุ้มครองอยู่แล้ว หากกระทำให้เกิดความเสียหายก็ต้องได้รับโทษตามกฎหมายกำหนดไว้ 


เกี่ยวกับการระเบิดหินของ กฟผ.นั้น ทราบว่า ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ กฟผ.ทำตามมาตรฐาน The Australian Standard 2187 จากรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดให้มีการใช้วัตถุระเบิดไม่เกิน 250 กิโลกรัม/จังหวะถ่วง  หาก กฟผ.ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อภาพเขียนสีแต่อย่างใด หัวหน้ากลุ่มโบราณคดี กล่าว

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 999 ประจำวันที่ 10 - 16  ตุลาคม  2557)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์