วันศุกร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ผันน้ำกิ่วลมดึงท่อเข้าเมือง



ประปาลำปางขยายฐานการผลิต สร้างโรงกรองน้ำใหม่หน้าเขื่อนกิ่วลมพร้อมวางท่อยาวเข้าเมือง 40 กิโลเมตร งบประมาณ 680 ล้านบาท เพื่อลดปัญหาน้ำไม่เพียงพอต่อกำลังการผลิต และรองรับการขยายเมืองลำปางที่เตรียมพร้อมในการเป็นโลจิสติกส์ฮับไปอีก 12 ปีข้างหน้า  ยันน้ำประปายังเพียงพอต่อประชาชนที่ใช้บริการ 2 ปีที่ผ่านมามียอดการใช้น้ำเพิ่มขึ้นเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

จากปัญหาน้ำประปาไม่ไหลในพื้นที่ของ อ.เมืองลำปาง ที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 12 ต.ค.57 ที่ผ่านมา ผู้ใช้น้ำในเขต อ.เมืองลำปางหลายชุมชน ประสบปัญหาน้ำประปาไม่ไหล บางพื้นที่มีน้ำไหลน้อย โดยผู้ใช้น้ำได้แจ้งถึงปัญหาดังกล่าวผ่านทางเฟสบุ๊กของสำนักงานการประปาส่วนภูมิภาคกันเป็นจำนวนมาก โดยในเบื้องต้นทางสำนักงานประปาได้แจ้งว่าเกิดการชำรุดของท่อน้ำดิบภายในสำนักงานจึงทำให้น้ำในบางพื้นที่ไหลอ่อน และได้ทำการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ ลานนาโพสต์ได้ทราบว่า การประปาส่วนภูมิภาค สาขาลำปาง ได้ดำเนินการวางท่อประปาขนาดใหญ่จากเขื่อนกิ่วลมเข้าสู่ตัวเมืองลำปางมาแล้วระยะหนึ่ง  จึงได้สอบถามเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว รวมทั้งปัญหาการจ่ายน้ำประปาในปัจจุบันไปยัง ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคสาขาลำปาง 

นายสกลณรงค์ สาลี ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคสาขาลำปาง เปิดเผยว่า การประปาส่วนภูมิภาคสาขาลำปางมีกำลังผลิตในปัจจุบันอยู่วันละ 20,000 กว่าลูกบาศก์เมตร โดยการรับน้ำจาก อ.เกาะคา มาช่วยเสริมในโซนที่ติดต่อกับ อ.เกาะคา และทางไป อ.ห้างฉัตร ส่วนหนึ่ง เนื่องจาก อ.เกาะคาได้สร้างโรงกรองใหม่มีกำลังการผลิตเกินปริมาณที่จะใช้ในพื้นที่ จึงให้ส่งน้ำมาช่วยในเขต อ.เมืองบางส่วน  โดยจ่ายเงินตามปริมาณคิวของน้ำที่นำมาใช้  เดิมประปาลำปางมีโรงกรองอยู่ 2 แห่งคือบริเวณสี่แยกดอยพระบาท 1 แห่ง ขนาด 500 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง  และที่สำนักงานประปาภูมิภาค ขนาด 900 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง โรงกรองทั้งสองแห่งนี้มีประสิทธิภาพการทำงานได้ 80 เปอร์เซ็นต์  โดยรับน้ำจากคลองชลประทานที่เขื่อนกิ่วลมส่งมาลงสระ 2 แห่ง คือ สระในโรงผลิตแยกดอยพระบาท และสระบริเวณสนามบิน แต่เนื่องจากโรงกรองมีกำลังการผลิตใกล้เต็มที่แล้ว ก็ต้องมีการขยายตัว  จึงได้เสนอโครงการขยายการผลิตน้ำประปาในเขต อ.เมืองลำปาง ขอสนับสนุนงบประมาณไปยังรัฐบาล เพราะประปามีงบประมาณไม่เพียงพอ ซึ่งได้รับงบอุดหนุนมาครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นงบของประปาเอง รวมเป็นเงิน 680 ล้านบาท เพื่อนำมาสร้างโรงกรองใหม่มาช่วยเสริมในอนาคต  ซึ่งกำลังผลิตคาดว่าน่าจะรองรับได้เกิน 12 ปี คำนวณจากการเจริญเติบโตของเมือง จากปี 2554-2568 จะสามารถรองรับตามแผนยุทธศาสตร์ในการเป็นฮับด้านการขนส่งภาคเหนือ เป็นศูนย์โลจิสติกส์ และรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ขณะนี้การก่อสร้างดำเนินการไปแล้ว 90 เปอร์เซ็นต์ ระบบวางท่อต่างๆเรียบร้อยแล้ว ตามสัญญากำหนดเสร็จในเดือนเม.ย.58 แต่แผนอาจจะช้าไปเล็กน้อยในการก่อสร้างโรงกรองต่อเวลาไปอีกประมาณ 3 เดือน คาดว่าไม่เกินเดือน ก.ย.58 จะเสร็จสมบูรณ์

นาย สกลณรงค์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับโรงกรองใหม่ได้ทำการก่อสร้างบริเวณเขื่อนกิ่วลม โดยจะมีการดูดน้ำโดยตรงจากเขื่อนกิ่วลมมายังโรงกรองที่ตั้งอยู่ด้านหน้า เขื่อนและส่งน้ำประปามาตามท่อเมนใหญ่เข้าสู่ตัวเมืองรวมระยะทาง 40 กิโลเมตร และมาพักที่ถังน้ำใสบริเวณโรงกรองสี่แยกดอยพระบาท ก่อนจะปล่อยให้ประชาชนในเขต อ.เมืองลำปาง ซึ่งไม่ได้ขอใช้น้ำจากเขื่อนฟรี แต่ซื้อน้ำจากเขื่อนกิ่วลมคิวละ 50 สตางค์  ปัจจุบันแหล่งน้ำสำรองมีอยู่ 2 เขื่อน ปริมาณความจุน้ำรวมประมาณ 270 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งประชาใช้น้ำในการผลิตน้ำประปาปีละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ถ้าเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ของน้ำที่เขื่อนจุได้ กระบวนการผลิตน้ำประปาใช้ไปไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์

เหตุที่ต้องก่อสร้างโรงกรองใหม่ไกลถึงเขื่อนกิ่วลมนั้น ผู้จัดการประปาส่วนภูมิภาคฯ กล่าวว่า เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาการจ่ายน้ำ ซึ่งเขื่อนกิ่วลมจะจ่ายทางคลองชลประทานฝั่งซ้ายและฝั่งขวา น้ำที่ประปาดึงมาใช้อยู่คลองชลประทานฝั่งซ้าย โดยจะมีช่วงเวลาจ่ายสลับฝั่งกัน จึงจะได้รับน้ำจากเขื่อนอาทิตย์เว้นอาทิตย์ ล่าสุดมีปัญหาเมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา ทางเขื่อนกิ่วลมส่งน้ำมาไม่ได้ตามแผน ทำให้น้ำดิบที่จะใช้ในกำลังการผลิตไม่เพียงพอ และไม่สามารถจ่ายน้ำออกให้ประชาชนได้ หากไปตั้งที่เขื่อนก็จะไม่เกิดปัญหาเช่นนี้ในอนาคต สามารถผลิตน้ำได้ตลอดเวลาหมดปัญหาเรื่องการจ่ายน้ำกันอาทิตย์ละฝั่ง 

ผู้สื่อข่าวสอบถามว่าตอนนี้น้ำประปายังเพียงพอหรือไม่ นายสกลณรงค์ กล่าวว่า  ตอนนี้น้ำประปายังเพียงพอต่อประชาชนในเขต อ.เมืองลำปาง แต่เราพยากรณ์ไปอีก 10 ปีข้างหน้าว่าเมืองจะมีการขยายตัว จึงต้องเตรียมตัวเพื่ออนาคต  ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการใช้น้ำเพิ่มขึ้นไม่มากอยู่ที่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ตอนนี้มีผู้ใช้น้ำอยู่ประมาณ 30,000 รายต่อ 1 มาตร  ซึ่งจ่ายน้ำออกไปประมาณ 600,000 คิวต่อเดือน แต่หากเดือนที่มีคนใช้น้ำเยอะเช่นเดือนเม.ย. ยอดการจ่ายน้ำอาจจะสูงขึ้นถึง 800,000 คิวต่อเดือน 

สำหรับการก่อสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่หรืออสังหาริมทรัพย์ต่างๆเพิ่มขึ้นนั้น ก็มีผลต่อการใช้น้ำระดับหนึ่ง แต่ไม่กระทบการผลิตของประปา ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหาเรื่องการจ่ายน้ำแต่อย่างใด  และในอนาคตอันใกล้นี้ก็มีโครงการก่อสร้างคลังสินค้าภาคเหนือของห้างโลตัส ได้ซื้อที่ดินทางไป อ.แม่ทะไว้ประมาณ 100 กว่าไร่ และได้ขออนุญาตทางเทศบาลเมืองเขลางค์นครไปแล้ว ซึ่งทางเทศบาลได้ขอรายละเอียดในการส่งน้ำประปามายังสำนักงานฯ ทางประปาได้ตอบกลับไปแล้วว่าสามารถจ่ายน้ำได้  ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคสาขาลำปาง กล่าว 

ด้านนายวศิน ลีลาชินาเวศ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน กล่าวว่า  เขื่อนกิ่วลมสามารถแบ่งน้ำให้การผลิตน้ำประปาได้ เพราะใช้ไม่มากนัก ใน 1 เดือนจะใช้ประมาณ 800,000 คิว หากเทียบกับที่เขื่อนระบายน้ำออกเพื่อรักษาระบบนิเวศยังมากกว่าน้ำที่การประปาภูมิภาคขอใช้ในกระบวนการผลิตน้ำประปา ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาเรื่องน้ำในเขื่อนไม่เพียงพอ


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1000 ประจำวันที่ 17 - 23  ตุลาคม  2557)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์