วันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แม่น้ำวังกับการมาถึงของผักตบชวา กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง


     
      
มี ใครสังเกตไหมว่า ระยะหลังมานี้ แม่น้ำวังช่วงที่ไหลผ่านตัวเมืองลำปางของเราเริ่มจะมีพืชน้ำตัวร้ายอย่างผัก ตบชวาเข้ามารุกรานบ้างแล้ว จากจำนวนไม่กี่กอตอนนี้ ในระยะเวลาอันใกล้มันจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลจนยากจะกำจัด เพราะผักตบชวามีการเจริญเติบโตรวดเร็วมาก จึงได้รับการจัดอันดับว่าเป็นวัชพืชร้ายแรง 1 ใน 10 ของโลก ในต่างประเทศมีการกล่าวถึงความร้ายกาจของผักตบชวาไว้ เช่น

ประเทศคองโก พบผักตบชวาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2495 หลังจากนั้นเพียง 2 ปี พืชลอยน้ำชนิดนี้ก็แพร่ไปตามแม่น้ำคองโกได้ไกลถึง 1,600 กิโลเมตร กลายเป็นอุปสรรคในการขนส่งแร่ทองและยูเรเนียมไปจำหน่ายในตลาดยุโรปและอเมริกา มิหนำซ้ำยังปกคลุมผิวน้ำทำให้ออกซิเจนมีน้อยจนสัตว์น้ำไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ รัฐบาลต้องทุ่มเงินมากมายในการกำจัด

ประเทศมาเลเซีย รัฐโกตามารู ปี พ.ศ. 2500 แพผักตบชวาขนาดมหึมาลอยกีดขวางกลางลำน้ำ ปิดกั้นการไหลของน้ำลงสู่ทะเล เป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่หลังพายุฝน

สำหรับประเทศไทย ผักตบชวาถูกนำเข้ามาปลูกเมื่อปี พ.ศ. 2444 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งจะว่าไป ดอกของมันนั้นสวยน้อยอยู่เสียเมื่อไร ช่อดอกผักตบชวามีความคล้ายคลึงกับดอกไฮยาซินธ์ จึงมีชื่อเรียกว่า Water Hyacinth มันจะออกดอกในช่วงปลายฤดูหนาวเข้าฤดูร้อน โดยออกดอกเป็นช่อแน่นที่ปลายยอด ดอกย่อยขนาด 2 เซนติเมตร มีกลีบดอกบาง 6 กลีบ สีฟ้าอมม่วงหวานละมุนยิ่งนัก กลีบบนขนาดใหญ่และมีแต้มสีเหลืองที่กลางกลีบ 

ทว่าอย่าได้หลงเพริศไปกับความสวยงามของดอกมันเลยเชียว เพราะหลังจากนั้นเพียงไม่นาน ผักตบชวาได้แพร่ระบาดไปทั่วประเทศ จนกระทั่งมีการตราพระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวาเมื่อปี พ.ศ. 2456 ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดนำพาผักตบชวาไปตามที่ต่าง ๆ และถ้าใครมีผักตบชวาก็ต้องทำลายเสียให้หมด แถมยังมีบทลงโทษ คือ ทั้งจำทั้งปรับ แต่ก็ยังมีผักตบชวาระบาดอยู่ทั่วไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 ได้มีโครงการรณรงค์กำจัดผักตบชวาทั่วประเทศครั้งใหญ่ ถึงกระนั้นในปี พ.ศ. 2525 ในแม่น้ำเจ้าพระยาก็ยังมีผักตบชวากีดขวางการสัญจรทางน้ำจนต้องมีการระดมกำลังกำจัดอย่างจริงจังอีกครั้ง

ที่เราเรียกกันว่าผักตบชวา เพราะเรานำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย แท้จริงแล้วมันคือพืชน้ำพื้นถิ่นของทวีปอเมริกาใต้ ถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศบราซิล โดยมันใช้เวลาเพียง 100 กว่าปีเท่านั้นในการกระจายไปตามประเทศเขตร้อนและกึ่งร้อนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม นักพฤกษศาสตร์กลับพบว่า มันไม่ได้สร้างปัญหาใด ๆ ต่อประเทศบราซิลและประเทศต่าง ๆ ในอเมริกาใต้ เพราะในถิ่นกำเนิดของมันมีโรคแมลงและศัตรูอื่นคอยควบคุมการระบาดเอง จัดเป็นความสมดุลทางธรรมชาติ แต่เมื่อมันไปเจริญเติบโตที่อื่น ซึ่งไม่มีศัตรูธรรมชาติควบคุม ทำให้ตลอดระยะเวลากว่า 1 ศตวรรษ ผักตบชวาระบาดไปกว่า 50 ประเทศ กลายเป็นวัชพืชที่สร้างปัญหามากที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง เพราะไม่ว่าจะเพียรหาทางกำจัดเจ้าพืชชนิดนี้มากเท่าไร เสียค่าใช้จ่ายไปแล้วจำนวนมหาศาล แต่มันก็ไม่หมดไปง่าย ๆ ดังนั้น จึงมีแนวคิดว่า ในเมื่อปราบอย่างไรก็ไม่หมด ก็กลับมาหาประโยชน์จากมันดีกว่า 

จากแนวความคิดนี้จึงได้มีการค้นคว้าวิจัยกันว่าจะนำผักตบชวามาใช้ทำอะไรได้บ้าง ซึ่งก็พบว่า สามารถทำเป็นอาหารสัตว์รสเลิศได้ โดยหมักกับรำละเอียด แล้วนำไปเลี้ยงวัว หมู และปลากินพืช 

การทำปุ๋ยหมักจากผักตบชวา ทำได้โดยนำไปตากแดดเพื่อลดปริมาณน้ำออกไปบ้าง แล้วกองสลับกับมูลสัตว์ทิ้งไว้ระยะหนึ่ง จะได้ปุ๋ยหมักชั้นดีสำหรับปลูกต้นไม้

ผักตบชวายังถูกนำมาทดลองทำเยื่อกระดาษ ทำแท่งเชื้อเพลิงและก๊าซชีวภาพ ทำเป็นที่ปลูกเห็ด และนำไปประดิษฐ์เป็นภาชนะปลูกพืช แต่ก็ไม่ค่อยแพร่หลายมากนัก

ที่นิยมกันมากกลับกลายเป็นการนำมาทำเครื่องจักสาน ผักตบชวาที่มีกอต้นสูง ๆ นั้น สามารถนำมาทำเป็นเส้นตากแห้ง เพื่อทำเครื่องจักสานได้หลายชนิด แล้วยังถูกแปลงโฉมเป็นของแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์สุดเก๋ชนิดที่ลืมความร้ายกาจของมันไปได้เลย

ไม่น่าเชื่อว่า ผักตบชวาสามารถช่วยบำบัดน้ำเสียได้ โดยมีการทดลองใช้ผักตบชวาบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเกิดจากแหล่งชุมชนที่บึงมักกะสันพบว่า มันสามารถดูดซับธาตุอาหารและโลหะหนักที่อยู่ในน้ำเสียได้ดีมาก สามารถดูดซับไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และแมงกานีสได้ดีเมื่อมีอายุประมาณ 8 สัปดาห์ นอกจากนี้ ยังช่วยลดค่า COD ในน้ำทิ้งหลายชนิด

เอ่ออันที่จริง ก้านใบอ่อนและดอกอ่อนของมันก็กินเป็นผักลวกจิ้มกับน้ำพริก หรือนำมาทำแกงส้มได้อร่อย แต่อย่าหลงใหลไปกับรูป-รสของมันเด็ดขาด เพราะเผลอแป๊บเดียว แม่น้ำวังของเราคงมีเจ้าพืชชนิดนี้ลอยล่องเต็มท้องน้ำแน่ ๆ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1001 ประจำวันที่ 24 - 30  ตุลาคม  2557)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์