วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เสรีภาพของเรา ใต้เงา “ประยุทธ์”



จะเพรียกหาเสรีภาพ  ในยามที่กฎอัยการศึกยังมีผลใช้บังคับอยู่ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่คาดหวังยาก เพราะหลังจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  ประกาศกฏอัยการศึกไปเมื่อเวลา 03.00 น. ของวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ซึ่งมีผลทั่วราชอาณาจักร กองทัพบกออกประกาศจัดตั้ง กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) มีพลเอก ประยุทธ์ เป็นผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.รส.) และออกประกาศคำสั่ง และขอความร่วมมือที่ส่งผลต่อเสรีภาพการแสดงออกของสื่อและของประชาชนในหลายเรื่อง

แน่นอนว่า หลายเรื่องนั้นย่อมต้องผ่อนคลายลงตามช่วงเวลาที่ คสช.แปรรูปเป็นรัฐบาล ซึ่งต้องกลับมาใช้กฎหมายปกติให้มากที่สุด แต่อำนาจตามกฎอัยการศึกก็ยังคงแผลงฤทธิ์ได้เสมอ ถ้ามีกรณีล้ำเส้น

ถ้าย้อนดูความเข้มที่ลดระดับลงจากคำสั่งฉบับแรกของ กอ.รส. จะเห็นว่าประกาศฉบับที่ 1  สั่งให้โทรทัศน์และวิทยุทุกช่อง ถ่ายทอดสัญญาณของ สถานีโทรทัศน์กองทัพบก  งดรายการประจำ เมื่อได้รับการประสานโดยหลังจากที่มีการประกาศกฎอัยการศึก  ก็ได้มีการกระจายกำลังทหาร พร้อมอาวุธครบมือ เข้าควบคุมพื้นที่สถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ รวมถึงพื้นที่สำคัญ  จากนั้นฉบับที่ 3 ประกาศห้ามการนำเสนอข่าว แจกจ่าย จำหน่ายสิ่งพิมพ์ ทั้งทาง เอกสาร ภาพ สื่อสิ่งพิมพ์ การออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ ดาวเทียมและเคเบิล สถานีวิทยุกระจายเสียง รวมไปถึงการเสนอข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์ ที่ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อย เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่บิดเบือน

จนกระทั่งฉบับที่ 6  ขอความร่วมมือระงับการถ่ายทอดออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม จำนวน 11 สถานี  และสถานีวิทยุชุมชน เพื่อให้การเผยแพร่ข่าวสารเป็นไปด้วยความถูกต้อง ฉบับที่ 7 ระงับสถานีโทรทัศน์และดาวเทียมเพิ่มอีก 4 สถานี ฉบับที่ 8 ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสื่อสังคมออนไลน์ระงับการให้บริการในการส่งข้อความเชิงปลุกระดม ยั่วยุ สร้างความรุนแรง ความไม่น่าเชื่อถือและไม่เคารพกฎหมาย ตลอดจนการต่อต้านการปฏิบัติงานของ กอ.รส.หากยังคงมีการดำเนินการอยู่ จะระงับการให้บริการโดยทันที และเรียกตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินการตามกฎหมาย

ฉบับที่ 9 ห้าม สร้างความขัดแย้งหรือต่อต้านการปฏิบัติงานของกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบ ร้อยเพื่อให้การเผยแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้อง ปราศจากการบิดเบือน อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และสถานการณ์ความขัดแย้งขยายตัว จนส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อย ของเจ้าหน้าที่ในการนำความสงบสุขกลับคืนสู่สังคมโดยเร็ว โดยห้ามเจ้าของกิจการ สื่อสิ่งพิมพ์ และรายการวิทยุ โทรทัศน์ทุกประเภท บรรณาธิการ พิธีกร และสื่อมวลชน เชิญบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ที่มิได้ดำรงตำแหน่งราชการในปัจจุบัน ทั้งในส่วนของข้าราชการ และนักวิชาการ รวมทั้งอดีตผู้ปฏิบัติงานในศาล และกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนองค์กรอิสระ ให้สัมภาษณ์ หรือแสดงความคิดเห็น ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการขยายความขัดแย้ง บิดเบือน และสร้างความสับสนให้กับสังคม รวมทั้งอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงโดยเด็ดขาด ทั้งนี้หากฝ่าฝืนจะถูกเรียกตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ตลอดจนระงับการจำหน่ายจ่ายแจกสื่อสิ่งพิมพ์ และการออกอากาศของรายการดังกล่าวโดยทันที

จะเห็นว่า ความเข้มข้นลดลง แต่การเฝ้าระวังยังเข้มข้น ฉะนั้น เรื่องเสรีภาพจึงเป็นเรื่องที่ยังคงต้องเว้นวรรค

ข้อถกเถียงเรื่อง เสรีภาพ เป็นประเด็นร้อนแรงขึ้นเป็นลำดับ เมื่อมีปัญหาการยับยั้งเวทีวิชาการที่ขัดต่อประกาศกฎอัยการศึก รวมทั้งวิวาทะระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนักข่าว ที่ก้ำกึ่งระหว่างเอาจริงกับล้อเล่น ปรากฎการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องที่คาดเดาได้อยู่แล้ว เนื่องเพราะการเข้าสู่อำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้มาโดยระบบการเลือกตั้ง อันถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของความเป็นประชาธิปไตย ดังนั้น การดำรงอยู่ของรัฐบาล จึงเพิ่มแรงกดดันด้วยถ้อยคำเผด็จการมากขึ้นกว่าการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งเป็นหน้าที่ปกติอยู่แล้วของสื่อมวลชน ไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร

เผด็จการเป็นประเด็นที่อาจไม่ได้พูดถึงกันมากนัก แต่ในฝ่ายต่อต้านรัฐบาล พวกเขาย่อมมีความเชื่อพื้นฐานอยู่แล้วว่า ไม่ว่าจะคิดอ่านอย่างไร จะยืนยันว่าทุ่มเททำงานเสียสละอย่างไร แต่คำว่าเผด็จการในใจ ลบล้างทุกอย่างได้ในพริบตา

ผม ไม่เห็นว่า ความคิดเช่นนี้เป็นเรื่องผิด เพราะเราหลายคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน ผ่านการปฏิวัติรัฐประหารมานับสิบครั้งไม่ได้มีความเห็นแตกต่างกันว่า ผู้นำที่ได้มาอำนาจด้วยปืน สิ่งที่เขาทิ้งไว้หลังการจากไป คือสภาพสังคมที่ถอยหลังไปหลายก้าว บางยุคยังพบการทุจริตคอร์รัปชั่น จนถึงขนาดมีการยึดทรัพย์ ไล่ล่าทรัพย์สินกัน นี่อาจเป็นสิ่งเดียวที่รัฐบาลต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะมันจะไม่มีข้อแก้ตัวใดๆเลย หากพบว่าผู้นำรัฐบาล และรัฐบาลที่มาจาก คสช.ไม่สุจริต ซึ่งต่างจากเรื่องอื่นๆ 

ส่วนเรื่องเสรีภาพสื่อนั้น ในระยะเริ่มแรกของการยึดอำนาจ ที่ไม่อาจไว้วางใจใครได้ การควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จจึงเป็นเรื่องจำเป็น คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 97, 103 รวมทั้งประกาศฉบับที่ 108  พุ่งเป้าไปที่ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ล้วนเป็นภาพสะท้อนของวิธีการปกติของเผด็จการทหาร ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ แต่เมื่อเปลี่ยนบทบาทมาเป็นรัฐบาล อำนาจในการควบคุม บังคับ จะต้องคลายลง รัฐบาลจะต้องกลับมาใช้เครื่องมือปกติ วิธีการปกติ ในการจัดการสื่อที่ละเมิด ต้องหนักแน่นมากขึ้น เปิดใจกว้างมากขึ้น

“..ก่อนหน้านี้ องค์กรวิชาชีพสื่อได้ส่งสัญญาณไปบ้างแล้วว่า สถานการณ์ขณะที่เป็น คสช.กับการที่ คสช.จะไปอยู่ในอำนาจบริหาร เสียงวิพากษ์วิจารณ์จะมากขึ้น เข้มข้นขึ้น คสช.จะถูกพูดถึงมากขึ้น ก็บอกให้ คสช.เข้าใจในเบื้องต้นว่า ถ้าไปอยู่ฝ่ายบริหารเต็มตัว ต้องใจกว้างยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์

(สัมภาษณ์ ม้าสีหมอก แทบลอยด์ ไทยโพสต์ 3-9 สิงหาคม 2557)

ในความจริงที่เป็นอยู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่สามารถปรับตัว ปรับบทบาทเข้ากับสถานการณ์ใหม่ในชีวิตของเขาด้วย ความเป็นทหารที่โผงผาง ตรงไปตรงมา ไม่มีรายละเอียดมากนัก เอามาใช้ไม่ได้ในบทบาทของผู้นำรัฐบาลที่อยู่ท่ามกลางความคิดเห็นที่หลากหลาย และความเชื่อบางสิ่งที่ตายตัว ถึงแม้ว่าจะมีคำถาม มีท่าทีชวนหาเรื่องอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่บทของผู้นำที่จะไปต่อยตีกับใคร หรือโต้ตอบแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน บางทีความนิ่ง ในเรื่องที่ไม่มีสาระเสียบ้าง อาจเป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพก็ได้ 

นี่เป็นคำท้วงติงเบาๆถึงท่านผู้นำ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 997 ประจำวันที่ 3 - 9 ตุลาคม  2557)

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์