วันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2557

สปช. หวานซ่อนเปรี้ยว


มองแว๊บเดียว 250 สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) ดูเหมือนพอพึ่งพาได้ ไม่มีทหารพรึ่บพรั่บเหมือนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 

แต่เมื่อไล่ดูอย่างละเอียด ทั้งกระบวนการคัดสรร วิธีการเลือก และตัวแทนที่ว่ามาจากกลุ่มที่หลากหลาย ยังน่าสงสัยว่า เป้าหมายสวยหรูที่คาดหวังคนเหล่านี้จะมามีบทบาทสำคัญในการวางกติกาใหม่ของสังคมไทยนั้น จะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะล้วนแล้วแต่เส้นสายอดีตข้าราชการ อดีตกลุ่ม 40 ส.ว. คนขึ้นเวที กปปส.(คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) และแม้จะมีกลุ่มอำนาจเก่าหลุดมาบ้าง แต่เมื่อสืบสาวราวเรื่องแล้ว มาจากคอนเนคชั่นด้านอื่นทั้งสิ้น

แปลว่า สุดท้ายปลายทาง ก็จะเป็นแนวคิดทางเดียว เรื่องเดียว เป้าหมายเดียว กลุ่มอื่น คนอื่นไม่เกี่ยว

สำรวจ สปช.จังหวัด เกือบทั้งหมด มาจากอดีตข้าราชการประจำ หรืออดีตผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  มีไม่ถึง 10 คนที่ไม่เกี่ยวกับภาคราชการ  ลำปางก็ไม่พ้นวังวนนี้  เฉลิมพล ประทีปวะวณิช อดีตผู้ว่าราชการจังหวัด ก็เป็นหนึ่งในนั้น ไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เพราะโดยสภาพก็คงไม่ผิดจากคาดหมายอยู่แล้ว แต่ที่ต้องสงสัยคือ คนเหล่านี้ซึ่งมีดีเอ็นเอ ข้าราชการประจำอยู่เต็มตัว เคยเข้าใจ เคยมีแนวคิดในการปฎิรูปหรือไม่  นายเฉลิมพลเองก็ไม่เคยแสดงจุดยืนชัดเจนในเรื่องการปฎิรูปประเทศ นอกจากความเอาใจใส่เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ  ครั้งเมื่อเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ซึ่งนับเป็นจุดดีของเขา

วิธีการคัดเลือก สปช.ทั้งในด้านต่างๆ  และตัวแทนจังหวัด กรรมการสรรหาส่วนใหญ่ อาศัยความสัมพันธ์เป็นด้านหลัก โดยมิได้คำนึงถึงเป้าหมายในการเลือกคนเข้าไปทำหน้าที่ปฎิรูปประเทศ หรือมองถึงงานการที่คนเหล่านี้เคยทำมา ฉะนั้น เด็กเส้น เด็กฝาก จึงมีอยู่จำนวนไม่น้อย อย่างไรก็ตาม เรือเพิ่งชักใบแล่นออกจากฝั่ง ก็ต้องรอให้ออกสู่ทะเลก่อน ต้องให้โอกาส สปช.ทำงาน และเป็นกำลังใจให้กัน  แต่ประเด็นที่ต้องตั้งคำถาม และสปช.อย่างน้อยต้องแสดงให้เห็น คือวิสัยทัศน์ในการปฎิรูปประเทศ ถึงแม้ว่าในชีวิตสังคมจะไม่เคยมีภาพจำของแนวคิดในการปฎิรูปของคนพวกนี้มาก่อน

เช่นถ้าถาม สปช.ลำปาง และอีกหลายจังหวัดที่มาจากผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พวกเขามีแนวคิดในการปฎิรูปประเทศไทยด้านการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นอย่างไร โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงสำคัญ หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีประกาศฉบับที่ 85/2557 เรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นการยุติบทบาทการกระจายอำนาจที่ดำเนินการต่อเนื่องยาวนานมาถึง 20 ปี แปลว่าแนวคิดในการเลือกตั้งกำลังกลับไปสู่การแต่งตั้ง หรือเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง แต่งตั้งครึ่งหนึ่งหรือไม่ 

ถ้าเป็นอดีตข้าราชการกระทรวงมหาดไทยก็คงเห็นด้วย ในการดึงทุกสิ่งกลับมาอยู่ในศูนย์รวมอำนาจกระทรวงมหาดไทย  เฉพาะเจาะจงการบริหารระดับจังหวัดจะมุ่งไปสู่ทิศทางใด ข้าราชการหัวก้าวหน้าเขาจะคิดได้

เช่น อาจจะปรับเปลี่ยนจังหวัดในฐานะภูมิภาคไปสู่ “จังหวัดปกครองตนเอง” ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วิธีการหนึ่งคือ ยุบเลิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และจัดตั้งจังหวัดปกครองตนเอง มีฐานะเป็นนิติบุคคล ประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับบน คือจังหวัดปกครอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่าง เช่น เทศบาลเมือง เทศบาลชนบท ทั้งนี้ให้จังหวัดปกครองตนเอง ประกอบด้วย “สภาจังหวัดปกครองตนเอง” สมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีวาระคราวละ 4 ปี ผู้ว่าการจังหวัดปกครองตนเองมาจากเลือกตั้ง มีวาระ 4 ปี และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกัน 2 วาระไม่ได้ 

การเลือกตั้งใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง นอกจากนั้นก็จะมี “สภาพลเมืองปกครองตนเอง” สมาชิกมาจากบุคคลผู้มีความรู้ ความสามารถมาจากองค์กร ภาคชุมชน ภาคประชาสังคม วิชาชีพ วิชาการ มีวาระ 4 ปี อีกด้านหนึ่งคือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่าง ประกอบด้วย สภาเทศบาลเมือง และสภาเทศบาลชนบท มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีวาระคราวละ 4 ปี นายกเทศมนตรี และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล มาจากการเลือกตั้งเช่นเดียวกัน

นี่เป็นคำถามสำหรับ สปช.ป้ายแดง ทดสอบวิสัยทัศน์ เรื่องการบริหารท้องถิ่น แบบสวนทาง คสช.เพื่อพิสูจน์ความเป็นอิสระให้โลกรู้สักครา

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 999 ประจำวันที่ 10 - 16  ตุลาคม  2557)

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์