วันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ผิดหรือที่ขึ้นคาน




มหากาพย์ ช่องน้อยสีจะจอดำไม่ดำ ที่เป็น Talk of The Town ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ดูจะเป็นที่กล่าวขวัญกันมา เพราะผู้คนที่อยู่นอกวงโคจร หรือเป็นคนเสพสื่อหลายคนยังไม่เข้าใจว่าทำไหมการที่ช่องน้อยสีไม่ออกคู่ขนานกับทีวีดิจิตอล เป็นความผิดฐานไม่ทำตามกฎ Must carry จนเป็นเรื่องต้องถึงโรงถึงศาลให้ตีความ โดยศาลก็ให้ความคุ้มครอง 100 วัน พอมาถึงช่วงใกล้วันดีเดย์ ก็เริ่มมีออกอาการร้อนรน ในขณะที่บอร์ด กสทช.ก็มีมติยืนยันว่าต้องออกคู่ขนาน จนล่าสุดมหากาพย์นี้ก็จบด้วยดี เมื่อศาลปกครองไกล่เกลี่ย คู่ชกระหว่างช่อง 3 – กสท. ให้ยอดออกคู่ขนาน ก่อนที่จะฟังคำตัดสินในวันที่ 11 ต.ค. นี้ 

มหากาพย์เรื่อง จอดำจอดับ นี้มีหลายมิติให้ศึกษา แต่ที่มันโดยใจ แร็ค ลานนา ที่ติดตามเรื่องนี้อยู่ห่างๆอย่างห่วงๆ เพราะก็เป็นแฟนช่องน้อยสีอยู่มิใช่น้อย โดยติดตามทั้งทางฝ่ายช่องน้อยสีและการชี้แจงจาก กสทช. 

จนเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีคอลัมน์นิสต์นาม กุหลาบพิษเขียนพาดพิงถึง สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.หนึ่งเดียวที่เป็นผู้หญิง  ใน บางกอกทูเดย์ซึ่งเป็นกระแสในโลกออนไลน์ถึงความไม่เหมาะสม เพราะบทความไม่ได้วิพากษ์ถึงบทบาทหน้าที่การทำงาน แต่เป็นการเหยียดเพศก็ไม่ปาน

แต่บทความนี้กลับวิพากษ์บทบาทของ สุภิญญา กลางณรงค์ ในการจัดการปัญหาจอดำของช่อง 3 ว่าเป็นไปอย่างมีอคติ โดยใช้ถ้อยคำว่า เป็นคนที่ มองเหรียญด้านเดียวไม่ว่า สุภิญญา จะมีแนวคิด หรือจุดยืนในเรื่องนี้อย่างไร แต่ก็เป็นงานในหน้าที่รับผิดชอบ ในฐานะหนึ่งในกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.)ซึ่งน่าจะเป็นคนละเรื่อง คนละกรณี กับ เพศสภาพหรือสถานภาพการสมรสของเธอ อันเป็นหัวเรื่องของคอลัมน์นี้ว่า คานทองนิเวศ” 

อ่านแล้วไม่ได้แทงใจคนโสดอย่างเดี๊ยนแต่อย่างใด แต่ประเด็นมันอยู่ที่ความเป็นผู้หญิงที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจในการทำงาน ดูเป็นเรื่องที่ผิด ผิดที่โสด ถูกเหยียดหยามว่าโสดขึ้นคาน หรืออาจเป็นเพราะกุหลาบพิษไม่เคยได้ยินคำว่า “หากแผ่นดินสิ้นชายที่พึงเชย อย่ามีคู่เสียเลยจะดีกว่า” การมีคู่ครองก็ไม่ต่างอะไรกับการถูกหวย แต่จะให้ลองสุ่มเสี่ยงซื้อหวยทุกรอบจนหมดตัวก็อาจไม่ใช่ความคิดที่ถูกเสมอไป

แน่นอนว่า กุหลาบพิษ มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องบทบาทขอ สุภิญญา ในฐานะ บุคคลสาธารณะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ประโยชน์สาธารณะแต่ประเด็นที่ต้องสงสัย คือ เป็นการแสดงความคิดเห็นเพราะความลำเอียง มีอคติ จนทำให้เนื้อหา การแสดงความเห็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง หรือประเด็นที่สมควรวิพากษ์บทบาทของ สุภิญญาในหน้าที่ กสท.กลายเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล โดยมุ่งให้ร้ายเรื่องส่วนตัว หรือหมิ่นแคลนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของ สุภิญญา ด้วยทัศนคติเหยียดเพศ หรือไม่ 

เรื่องเพศสภาพเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ทัศนคติที่เห็นว่า ผู้หญิงเป็นกลุ่มเพศที่ไม่สำคัญ และไม่ควรเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ หรือวัฒนธรรม มีหน้าที่อยู่เหย้าเฝ้าเรือน มากกว่าที่จะมามีบทบาทนอกบ้านมีอยู่มาก ทัศนคติเช่นนี้เอง ก่อให้เกิดการกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ เช่นเดียวกับกรณีสุภิญญา ที่ถูกมองว่าทำผิดหน้าที่ โดยเฉพาะการต่อสู้กับกลุ่มทุนที่มีพลังอำนาจทางเศรษฐกิจสูง มีเครือข่ายกว้างขวางที่ฝังรากลึกในสังคมมายาวนาน หน้าที่ที่ถูกต้องของผู้หญิงซึ่งอ่อนอาวุโสมาก เมื่อเทียบกับคนอื่นๆใน กสทช. จึงเป็นเรื่องที่ควรไปมีครอบครัวเสีย

จะว่าไปแล้ว ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่ญี่ปุ่นก็มีเหตุการณ์คล้ายๆ คือ นักการเมืองชายของพรรคหนึ่งได้พูดโจมตี นักการเมืองอีกพรรคหนึ่งที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่อผู้หญิงท้อง และสิทธิต่างๆ ต่อผู้หญิง ทำให้นักการเมืองชายตอบกลับไปว่าขอให้เธอคนนั้นไปแต่งงานมีลูกเสียก่อนที่จะมาตั้งคำถามแบบนี้!!! :เรื่องนี้ทำสร้างให้เกิดความเสียหายต่อพรรคของนักการเมืองชายเป็นอย่างมาก เพราะสะท้อนถึงปัญหาช่องว่างระหว่างผู้หญิงและผู้ชายที่ยังมีอยู่มาก และทำให้เกิดการดูถูกเพศตรงข้ามในสังคมการเมืองญี่ปุ่น จนท้ายที่สุดนักการเมืองชายคนนั้น ประกาศลาออกและก้มหัวขอโทษ(ตามวัฒนธรรมญี่ปุ่น)

แต่เมื่อเรื่องราวเดียวกันเกิดขึ้นที่ประเทศไทย กลับไม่มีการแสดงความรับผิดชอบใดๆ คล้ายกับว่านำความสงบมาสยบความเคลื่อนไหว  

กุหลาบพิษจะเป็นใครก็ตาม จะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็ตาม แต่กุหลาบพิษกำลังทำสิ่งที่สังคมไทยยอมรับไม่ได้ คือการหยามเหยียดเพศแม่อย่างน่าละอาย ปฏิกิริยาจากคานทองนิเวศ ยังส่งแรงเหวี่ยงมาถึงวันนี้ และถ้าต้องการรู้ว่ามันรุนแรงเพียงใด พิมพ์คำว่า กุหลาบพิษลงไปในกูเกิ้ล จะมีคำตอบให้นับหมื่นคำ


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 999 ประจำวันที่ 10 - 16  ตุลาคม  2557)


Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์