วันศุกร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2557

หมอ รพ.ค่ายเจ๋ง คิดค้นผ่าตัดต้อกระจกสุก




จักษุแพทย์โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ประสบผลสำเร็จในการผ่าตัดต้อกระจกสุก โดยส่งผลข้างเคียงน้อยที่สุด และไม่ต้องซื้ออุปกรณ์เพิ่ม ผ่าตัดผู้ป่วยแล้ว 13 ราย ได้ผลลัพธ์ดีเยี่ยม สามารถให้บริการผู้ป่วยได้เพิ่มมากขึ้นในแต่ละวัน

โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี โดยพันตรีนายแพทย์เลอปรัชญ์ มังกรกนกพงศ์ ได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์ทางทหารด้านหลักการ ประจำปี 2557 ชนะเลิศอันดับ 1 จากกองทัพบก และรางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติ ประจำปี 2557 ผลงานการผ่าตัดต้อกระจกสุกยุคใหม่ด้วย Lerprat Technique  สร้างความภาคภูมิใจให้กับทางโรงพยาบาลและทีมแพทย์ผู้รักษา มีผู้ใช้บริการแล้ว 13 ราย ได้ผลที่พึงพอใจ และเข้าร่วมโครงการอีก 158 ราย

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 57 พลตรีวิจักขฐ์ สิริบรรสพ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32  พร้อมด้วย พันเอกอนุรัฐ ตันติจารกุล ผอ.โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี  พันตรีนายแพทย์เลอปรัชญ์  มังกรกนกพงศ์ จักษุแพทย์ อนุสาขาโรคต้อหิน โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี ได้ร่วมกันแถลงข่าวที่โรงพยาบาลค่ายสรุศักดิ์มนตรี ได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์ทางทหารด้านหลักการ ประจำปี 2557 ชนะเลิศ อันดับที่ 1 จากกองทัพบก และรางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติ ประจำปี 2557 สาขานวัตกรรมการบริการที่เป็นเลิศ ระดับดี จากคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ในผลงานการผ่าตัดต้อกระจกสุกยุคใหม่ด้วย Lerprat Technique เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา  ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ทหารบกที่ คิดค้นปรับปรุง นำอุปกรณ์ที่อยู่มาปรับใช้จนเป็นผลสำเร็จ สามารถที่จะรักษาผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน

พันเอกอนุรัฐ ตันติจารุกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี เปิดเผยว่า โรคต้อกระจกเกิดจากเลนส์ตาขุ่น เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้ตาบอด ในปัจจุบันสามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดนำเลนส์เดิมที่ขุ่นออก และใส่เลนส์แก้วตาเทียมทดแทน ทำให้การมองเห็นดีขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปเลนส์ตาจะเริ่มทึบเมื่อคนอายุประมาณ 35 ปี และจะค่อยๆ ทึบไปเรื่อยๆ หากไม่รักษาจะเกิดอาการที่เรียกว่า ต้อกระจกสุก เกิดเลนส์ตาขุ่นทั้งคอร์เท็กซ์และนิวเคลียส เลนส์ตาจะแข็งตัวมาก ทำให้ตาบอด ซึ่งเป็นปัญหาของประเทศที่กำลังพัฒนา เช่นประเทศไทย จากข้อมูลประชากรประมาณการว่าอีก 12 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุถึง 14.4 ล้านคน เป็นกลุ่มประชากรที่มีโอกาสในการเกิดต้อกระจก จากความเสื่อมของเลนส์ตาที่เป็นไปตามวัยที่สูงขึ้น 

ปัจจุบันนิยมใช้วิธีการผ่าตัด 3 วิธี คือ การสลายต้อกระจก โดยการใช้เครื่องอัลตราซาวน์ขนาดเล็กเข้าไปสลายเลนส์ตาให้เป็นชิ้นเล็กลงแล้วดูดออกมา ข้อดีคือมีแผลขนาดเล็กเพียง 3 มม. แต่ข้อเสียคือมีค่าใช้จ่ายสูงและต้องใช้แรงกระแทกในการสลายต้อกระจกสูง จึงเป็นอันตรายต่อกระจกตามาก ส่วนวิธีที่ 2 คือ การผ่าตัดแผลใหญ่ ต้องเปิดแผลกว่า 10 มม.เพื่อนำเลนส์ออกมาทั้งชิ้น แต่ต้องเย็บแผลหลายเข็ม ผู้ป่วยพักฟื้นนาน และอีกวีธีคือ การผ่าตัดแผลเล็กโดยไม่ต้องใช้เครื่องสลายต้อกระจก ซึ่งมีหลายวิธี และเกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยคือกระจกตาได้รับความบอบช้ำน้อย แผลเย็บน้อย ลดเวลาพักฟื้น แต่ต้องจัดซื้ออุปกรณ์เสริมช่วยการผ่าตัดซึ่งมีราคาสูง

ผอ.โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี กล่าวต่อไปว่า  พันตรีนายแพทย์เลอปรัชญ์ มังกรกนกพงศ์ จักษุแพทย์ อนุสาขาโรคต้อหิน มีประสบการณ์ในการรักษาด้วยการผ่าตัดแบบ MSICS มีความเห็นว่าหากไม่ต้องซื้ออุปกรณ์ หรือต้องประดิษฐ์อุปกรณ์เพิ่ม รวมถึงใช้เทคนิคการผ่าตัดใหม่ๆ จะทำให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์มากขึ้น ทำให้ง่าย ประหยัดเงิน ลดเวลา และสามารถให้บริการผู้ป่วยมากขึ้น จึงได้ทดลองบูรณาการ Ruit technique และ  Modified Blumenthal  เกิดเป็น Lerprat technique ผ่าตัดต้อกระจกสุกขึ้น

พันตรีนายแพทย์เลอปรัชญ์ มังกรกนกพงศ์ จักษุแพทย์ อนุสาขาโรคต้อหิน โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี  กล่าวว่า     Lerprat Technique เป็นเทคนิคในการผ่าตัดที่ใช้เครื่องมือการผ่าตัดแผลใหญ่ ที่มีอยู่เดิม ลดการใช้ท่อระบายน้ำเข้าออกของ Ruit (Ruit-Simcoe cannula) จากวิธีการ Ruit technique ลดการใช้แผ่นซิลิโคน (Glide shee)ที่ช่วยนำเลนส์ออกจากลูกตา ลดการใช้ท่อระบายน้ำเข้าออกช่องม่านตา ที่ช่วยนำสารน้ำเข้าในลูกตา เพื่อช่วยเพิ่มแรงดันนำเลนส์ตาออกจากลูกตา รวมถึงประหยัดงบประมาณของ ผู้ป่วยในการซื้อท่อระบายน้ำเข้าออก Ruit  ได้ถึง 5,000-6,000 บาท ต่อชิ้น ลดจำนวนครั้งในการนัดติดตามดูผลต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการลดภาระการมาโรงพยาบาลของผู้รับการรักษาลง ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการผ่าตัดนี้ ทางโรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี ได้ทำการผ่าตัดเริ่มตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ.57 เป็นต้นมา มีผู้ป่วยต้อกระจกสุกจำนวน 13 รายที่เข้ารับการผ่าตัด และทั้งหมดได้ผลเป็นที่นาพอใจ นอกจากนี้ยังออกพื้นที่ให้บริการประชาชนในพื้นที่ต่างอำเภอและมีผู้เข่าร่วมโครงการแล้ว 158 รายที่รอการคัดกรองอีกครั้งก่อนที่จะเข้ารับการผ่าตัดรักษาอาการต้อกระจก ซึ่งจะได้เร่งมือให้ผู้ป่วยเหล่านี้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติอีกครั้งหนึ่ง

  
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1001 ประจำวันที่ 24 - 30  ตุลาคม  2557)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์