วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ส้วมพระโบราณ วัดศรีรองเมือง


กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง

ในบรรดาวัดพม่าของเมืองลำปางนั้น แต่ละวัดล้วนเก่าแก่และงดงามมีเอกลักษณ์ วัดศรีรองเมืองก็เป็นวัดหนึ่งที่มีชื่อเสียงด้วยสถาปัตยกรรมพม่าสมัยราชวงศ์คองบองตอนปลาย สกุลช่างมัณฑะเลย์ วิหารของวัดได้ชื่อว่าเป็นวิหารไม้สักทองที่สวยที่สุดในเมืองลำปาง เพียงเดินเข้าประตูมา ก็จะพบกับความใหญ่โตโอ่อ่าของวิหารที่ตั้งอยู่ตรงกลาง ดึงดูดความสนใจให้ต้องรีบเข้าไปชื่นชม โดยที่หลายคนไม่เคยรู้ว่า วัดศรีรองเมืองยังมีความง่ายงามในอีกรูปแบบหนึ่ง แทรกตัวอยู่ท่ามกลางร่มไม้ทางด้านข้างอย่างเจียมตน นั่นคือเวจกุฎี หรือส้วมของพระสงฆ์ ซึ่งสร้างขึ้นอย่างวิจิตรบรรจงและมีอายุเก่าแก่มากกว่า 100 ปี

สมัยแรกสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2447 วัดศรีรองเมืองมีเพียงกุฏิหลังเล็ก ๆ พร้อมเวจกุฎี 4-5 หลัง โดยแบ่งแยกการใช้ไม่ปะปนกันระหว่างพระภิกษุ สามเณร และเจ้าอาวาส รูปแบบดั้งเดิมของเวจกุฎีที่วัดศรีรองเมืองเป็นส้วมหลุมดิน ลึกราว ๆ 2-3 เมตร ใช้อิฐก่อเป็นฐานสูงราว 1 เมตร แล้วขุดหลุมฝังเสาทั้ง 4 ด้าน ใช้ไม้ตีเป็นฝาล้อมรอบ ขนาดความกว้าง 2 เมตร ยาว 4 เมตร มีบันไดทางขึ้น ส่วนหลังคาเป็นลักษณะซ้อนชั้น 3 ชั้น ลดหลั่นกันลงมา เชิงชายคาแกะสลักลวดลายสวยงาม

พอวิหารไม้สักสร้างเสร็จ พระก็ย้ายไปอยู่ที่วิหาร กุฏิหลังเล็กถูกรื้อถอน เหลือแต่เวจกุฎี ครั้นเมื่อเจ้าอาวาสรูปที่ 3 มรณภาพ ก็ได้มีการรื้อถอนเวจกุฎีออกไปเพื่อก่อตั้งเมรุชั่วคราว เหลือหลังที่เคยเป็นของเจ้าอาวาสไว้เพียงหลังเดียว ซึ่งก็คือหลังที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้นั่นเอง แต่น่าเสียดายที่เหลือไว้ให้ดูแค่โครงสร้างภายนอกเท่านั้น ส่วนภายในหากแง้มประตูเข้าไปจะเห็นเพียงห้องโล่ง ๆ ที่พื้นโบกปูนปิดเรียบ ฝาผนังด้านหนึ่งเจาะช่องสี่เหลี่ยมไว้ระบายอากาศ

แม้เพียงภายนอกก็สวยงาม ชมเพลินแล้ว ว่ากันตามตรง มองเผิน ๆ คล้ายกับบ้านพักรีสอร์ตเสียด้วยซ้ำ ด้วยหลังคาแป้นเกล็ดซ้อนชั้น เหนือส่วนแหลมของปั้นลมมีเสากลึงประดับอยู่อย่างเหมาะเจาะ เชิงชายคาเป็นสังกะสีฉลุลายอ่อนช้อยโดยรอบ เหนือประตูทางเข้าทำช่องลมโค้ง แต่ปิดทึบ ตรงกลางมีรูปหงส์สีทองอร่ามประดับโดดเด่น 

พูดถึงเรื่องส้วม สมัยก่อนยามที่ต้องทำธุระหนัก หรือเบา มักจะบอกกันว่า ไปทุ่ง หรือ ไปป่า สะท้อนให้เห็นถึงวิธีขับถ่ายของคนไทยสมัยก่อน แต่นั่นไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมสำหรับพระสงฆ์ ส้วมพระจึงเป็นของจำเป็น เพราะชาวบ้านคงอยากให้ท่านมีที่ขับถ่ายมิดชิดเป็นที่เป็นทางมากกว่าคนทั่วไป

เรื่องการขับถ่ายนั้น ในพระวินัยได้บัญญัติไว้ว่า ...พึงทำศึกษาว่า เราไม่อาพาธ 1. จักไม่ยืนถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะ 2. จักไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนเขฬะบนของสดเขียว 3. จักไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนเขฬะลงในน้ำ... ซึ่งก็ชัดเจนเลยว่า ห้ามพระสงฆ์ ไปทุ่ง อย่างชาวบ้าน

ในพระวินัยปิฎกได้ระบุลักษณะของเวจกุฎีที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สงฆ์ใช้ รวมถึงกำหนดข้อห้ามในการใช้ไว้หลายข้อ ข้อควรปฏิบัติและรายละเอียดในการขับถ่ายต่าง ๆ เหล่านี้ ได้กลายมาเป็นข้อกำหนดรูปลักษณ์ของเวจกุฎีและเขียง (แผ่นรองรับเท้า) สำหรับขับถ่าย ทั้งที่พบในศรีลังกาและไทย

ในขุททกวัตถุขันธกะบรรยายเอาไว้ว่า แต่เดิมพระภิกษุต่างพากันปัสสาวะไม่เป็นที่เป็นทาง ทำให้อารามสกปรกและมีกลิ่นเหม็น ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติให้สงฆ์ปัสสาวะในที่ใดที่หนึ่งเป็นการเฉพาะ และอนุญาตให้ใช้หม้อมีฝาปิดรับปัสสาวะ แต่การนั่งปัสสาวะลงในหม้อก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก พระพุทธองค์จึงอนุญาตให้ใช้เขียง หรือแผ่นรองรับเท้า เพื่อถ่ายปัสสาวะ

ส่วนการถ่ายอุจจาระก็ทำนองเดียวกันกับการถ่ายปัสสาวะ คือแต่เดิมพระภิกษุต่างพากันอุจจาระจนอารามสกปรกและมีกลิ่นเหม็น พระพุทธองค์จึงอนุญาตให้ทำหลุมสำหรับถ่ายอุจจาระ และเพื่อป้องกันไม่ให้ปากหลุมพัง จึงทรงอนุญาตให้กรุผนังและปากหลุมด้วยอิฐ หิน ไม้ ซึ่งสิกขาบทข้อนี้น่าจะเป็นที่มาของการกรุหลุมถ่ายอุจจาระด้วยอิฐ หรือศิลาแลง เช่นที่พบในลังกา สุโขทัย และกำแพงเพชร นอกจากนี้ หลุมอุจจาระบางแห่งอยู่ต่ำจนน้ำท่วมขัง จึงทรงอนุญาตให้ถมพื้นให้สูง ตลอดจนก่อยกสูงด้วยอิฐ หิน หรือไม้ เพื่อความสะดวก และเพื่อป้องกันไม่ให้มีการพลัดตกลงไปในหลุมได้ จึงอนุญาตให้ทำเขียงรองรับเท้าไว้เหนือปากหลุม 

ด้วยเหตุนี้ พระสงฆ์จึงมีส้วมใช้เป็นการเฉพาะมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งยืนยันได้จากการที่นักโบราณคดีขุดค้นพบชิ้นส่วนส้วมตามเมืองโบราณหลายแห่ง เช่น สุโขทัยและกำแพงเพชร รวมถึงวัดเก่าแก่ที่สามโคก ปทุมธานี

ทั้งนี้ นักโบราณคดีได้พบหลักฐานที่ชี้ว่า ส้วมเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยเท่าที่พบในขณะนี้ เป็นส้วมสมัยสุโขทัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 หรือราว 700 ปีมาแล้ว โดยพบบริเวณเชิงเขาพระบาทน้อย เมืองเก่าสุโขทัย ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่สุโขทัย ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง 

สำหรับเวจกุฎีวัดศรีรองเมือง ความงามแบบสมถะตั้งอยู่อย่างสงบเสงี่ยมในอีกฟากหนึ่งของวิหารอันโอฬารตระการตา สิ่งก่อสร้างหลังน้อยสะท้อนให้เห็นถึงศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาในอีกแง่มุมหนึ่งว่าแม้แต่ส้วมของพระ ช่างฝีมือก็มิได้ละเลยที่จะรังสรรค์ให้สวยงาม จนอาจทำให้ใครบางคนหยุดยืนอย่างชื่นชมตรงหน้าส้วมอยู่เป็นนานก็ได้
           
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1003 ประจำวันที่ 14 - 20 พฤศจิกายน  2557

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์