วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ดับเครื่องชน คนสื่อสีเทา !



  

นานปีแล้ว ที่คนกลุ่มหนึ่งปรับทุกข์กับผมอยู่เสมอๆว่า การดำรงตนเป็นสื่อที่ดี ยึดมั่นในหลักการทำงานตามวิชาชีพสำหรับสื่อ ที่เขาเรียกตัวเองว่าสื่อบ้านนอกนั้น ยากลำบากยิ่ง เพราะการอยู่รอดนั้นขึ้นอยู่กับระบบอุปถัมภ์ หรือต้องยอมตนเป็นคล้ายไผ่ลู่ลม ผมฟังแล้วก็เข้าใจ แต่ยอมรับไม่ได้ เพราะเมื่อตกลงปลงใจมาทำอาชีพสื่อแล้ว ก็ต้องซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ ต่อตนเองและต่อสังคม และต้องไม่ท้อถอยที่จะพิสูจน์ให้เห็นสักวันหนึ่งว่าความเชื่อถือคือสิ่งที่สำคัญที่สุด

ผมเชื่อว่าสื่อต่างจังหวัด รวมทั้งสื่อที่ลำปางไม่ว่าจะรวมตันเป็นกลุ่มสมาคมใดๆหรือไม่ คงจะได้ตระหนักถึงเกียรติศักดิ์ศรีของความเป็นสื่อที่ต้องมีความเป็นอิสระ และเชื่อถือได้อยู่บ้างแล้ว แต่น่าเสียดายที่คนที่เกี่ยวข้อง แหล่งข่าว กิจการห้างร้านต่างๆ ยังหลงสำคัญผิดว่า สื่อต่างจังหวัดซื้อได้ง่ายๆ ด้วยวิธีง่ายๆ เช่น บริษัทสายการบินแห่งหนึ่ง ต้องการโฆษณาเครื่องบินรุ่นใหม่ ก็จับนักข่าวขึ้นเครื่องบินไป บินมา เพื่อหวังให้มาเขียนข่าว โดยไม่ลงทุนอะไร

วิธีการแบบนี้ ความคิดหลงยุคเช่นนี้ ก็ไม่ต่างไปจากงานเลี้ยงขอบคุณสื่อมวลชน ที่เป็นแหล่งเพาะโรคร้ายของความอยากมีอยากได้ของนักข่าว โดยไม่ละอาย

เริ่มเข้าสู่บรรยากาศงานเลี้ยงขอบคุณสื่อมวลชน  ตั้งแต่ต้นๆเดือน ธันวาคม ไปจนถึงราวต้นเดือนมกราคม  งานที่ค่อนข้างท้าทายจิตสำนึกด้านจริยธรรมของผู้อยู่ในแวดวงสื่อมวลชน ในฐานะผู้รับ และฝ่ายประชาสัมพันธ์องค์กรในฐานะผู้ให้อยู่ตามสมควร

ผมได้รับคำเชื้อเชิญให้เข้าร่วมงานประเภทนี้อยู่บ้าง และก็ไม่ได้มีความรังเกียจที่จะไปร่วมงาน ถ้าไม่ติดขัดภารกิจอื่น เพราะก็เป็นเรื่องปกติของสังคมไทยในฐานะคนที่คุ้นเคยกัน ทำงานด้วยกันมาหนึ่งปี การมาสังสรรค์ เสวนา กินข้าวกินปลากันสักครั้งหนึ่งในแต่ละปีเป็นเรื่องปกติ

แต่ในฐานะผู้นำองค์กรสื่อที่มีภาระหน้าที่กำกับ ดูแลเรื่องจริยธรรม รวมทั้งบทบาทของคนสอนจริยธรรม มีบางเรื่องที่อาจต้องทบทวนกันว่า มีความเหมาะสมหรือไม่ เพียงใด และทั้งผู้รับและผู้ให้ควรจะต้องวางบทบาทอย่างไร ที่จะไม่ให้ล้ำเส้นจริยธรรมและอยู่ในฐานะที่ให้การเคารพบทบาทหน้าที่ซึ่งกันและกัน

กิจการบริษัทวัสดุก่อสร้างใหญ่แห่งหนึ่ง เชิญสื่อมวลชนร่วมงาน Thank Press และงานวันเกิดบริษัท แบบไม่ต้องมีของขวัญ

 เพราะคุณคือคนสำคัญของเรา เป็นทั้งงานวันเกิด และงานขอบคุณพี่น้องที่แสนดี งานนี้รวมความสนุกสุดอลังการอย่างแน่นอน

ถ้อยคำบรรยายในการ์ดเชิญ บอกให้รู้ว่างานนี้สนุกสุดเหวี่ยงอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่ที่ต้องสงสัย ก็คือ ช่วงเวลาที่ถูกกำหนดไว้ในกำหนดการว่า จับรางวัล มอบของขวัญแก่ผู้โชคดี

เพราะเมื่อบอกไว้แต่แรกว่า เป็นการมาร่วมงานแบบไม่ต้องมีของขวัญ ช่วงเวลานี้ก็เป็นการบอกว่า ไม่มีของขวัญมา แต่จะมีของขวัญถือกลับบ้านไป หรือบางครั้งอาจเรียกว่าถือไม่ได้ เพราะของขวัญ ของรางวัล จะเป็นตู้เย็น จอแอลซีดี เตาไมโครเวฟ ซึ่งต้องใช้วิธีแบกขนกันไป หรืออาจมีบริการส่งถึงบ้าน  หรืออาจเป็นของเบาๆ แต่ราคาหนัก เช่น ไอโฟนรุ่นล่าสุด

ประเด็นก็คือ นักข่าวสมควรเข้าไปร่วมจับรางวัลหรือไม่  ในงานขอบคุณสื่อมวลชนบางงาน อาจมีของรางวัลให้ทุกคนที่จับสลากกระจายโอกาสในการเข้าถึงของรางวัลอย่างเท่าเทียมกัน

ก่อนจะตอบคำถามว่า สมควรหรือไม่  อาจต้องถามก่อนว่า การที่นักข่าวทำหน้าที่รายงานข่าว ซึ่งถ้าเป็นกิจการขนาดใหญ่เกี่ยวพันกับผู้คนจำนวนมาก ก็อาจมีความถี่ในการนำเสนอมาก เช่นนี้ เป็นการทำหน้าที่ตามวิชาชีพ หรือการทำหน้าที่เพื่อบริษัทห้างร้านนั้นๆ ถ้าเป็นการรายงานตามวิชาชีพเช่นเดียวกับข่าวประเภทอื่นๆ โดยไม่แยกแบ่งว่าเป็นข่าวของชนชั้นใด เช่น อาจมีการรายงานข่าวคนเล็ก คนน้อยในสังคม หรือข่าวที่มุ่งต่อประโยชน์สาธารณะ ถือว่าเป็นการทำงานที่มีบุญมีคุณกันเป็นพิเศษหรือไม่ และคนทั้งหมดนี้จะต้องถือเป็นธรรมเนียมปฎิบัติที่ต้องจัดงานเลี้ยงขอบคุณนักข่าวหรือไม่

แต่ในความเป็นจริง มีเพียงกลุ่มคน หรือกิจการบางแห่งเท่านั้น ที่มีการจัดงานในลักษณะนี้ และงานของคนกลุ่มนี้ หรือกิจการในประเภทนี้ ก็มักจะเป็นข่าวบนพื้นที่ของสื่อมวลชนอยู่เสมอ

ผมคิดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างนักข่าวกับแหล่งข่าวในกรณี Thank Press ไม่ใช่สัญญาต่างตอบแทน คือ ฝ่ายหนึ่งทำหน้าที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์เรื่องราวที่ดีๆของอีกฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ การใช้งานแบบนี้ เป็นการตอบแทนจึงเป็นเรื่องปกติ ซึ่งหากมองในอีกแง่มุมหนึ่ง หน้าที่ตามวิชาชีพของนักข่าว คือการทำข่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะ และนั่นหมายความว่า งานของเขาควรได้รับการตอบแทนในรูปของเงินเดือน ผลประโยชน์ต่างๆที่บริษัทให้ รวมทั้งความภาคภูมิใจที่ได้ทำงานในอาชีพสื่อมวลชน

พูดได้เลยว่า การจัดการของรางวัลในงาน Thank Press ล้วนเป็นของขวัญที่มีมูลค่า ซึ่งผิดหลักการสำคัญที่ว่า นักข่าวไม่ควรรับของขวัญที่มีมูลค่าสูง หรือแม้กระทั่งเรียกร้องการยกเว้นค่าที่พัก หรือขอราคาพิเศษในการซื้อสินค้า หรือการใช้บริการ หรือร้องขอสิทธิพิเศษที่คนทั่วไปไม่ได้รับ

สื่อมวลชน ไม่ใช่ภิกษุผู้ทรงศีลที่จะต้องถือศีลเคร่งครัดถึง 227 ข้อ แต่เพียงข้อที่ไม่ควรรับของรางวัลที่มีมูลค่า หรือรับการขอบคุณจนเกินสมควร เพื่อรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นสื่อมวลชนก็เพียงพอแล้ว

ในขณะเดียวกันแหล่งข่าว กิจการร้านค้าต่างๆ ก็สมควรจะทบทวนบทบาทความสัมพันธ์กับนักข่าวใหม่ ให้ชัดเจนระหว่างธุรกิจและเส้นแบ่งการทำหน้าที่ตามวิชาชีพ เส้นแบ่งระหว่างพื้นที่โฆษณาและพื้นที่สาธารณะ มิใช่การทำงานฉาบฉวยค้ากำไรเกินควรบนความอยากมีอยากได้ของนักข่าวบางกลุ่ม

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์