วันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

ข่าวบ้านๆมาตรฐานระดับชาติ


ม้จะมองด้วยความเข้าใจ แต่ก็ยังสงสัยการประเมินคุณค่าข่าวของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นบางฉบับ ที่เลือกข่าวประเภทเร้าอารมณ์ หรือข่าวที่ไม่มีสาระมานำเสนอเป็นข่าว และทึกทักเอาว่าเป็นข่าวใหญ่ ข่าวสำคัญที่ผู้คนสนใจ
เช่นเดียวกับสื่อส่วนกลาง ทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และออนไลน์ ที่ฉาบฉวยมากขึ้น ในการใช้ข่าวซึ่งไม่มีแหล่งที่มาจากสื่อสังคมออนไลน์ โดยไม่มีการตรวจสอบ หลายครั้งจึงตก “หลุมดักควาย” อันหมายถึงการเสนอข่าวลวงของคนใช้สื่อสังคมออนไลน์ ทำให้สื่อกระแสหลักไปขยายต่อโดยไม่มีข่าวจริง
ผมเห็นว่า วัฒนธรรมในการเสนอข่าวโดยเฉพาะสื่อท้องถิ่น หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ที่ให้น้ำหนักกับข่าวหมามีเขา เต่ามีหนวด ข่าวงมงาย ไร้สาระ ข่าวอุบัติเหตุ ข่าวฆ่าฟัน เลือดท่วม ข่าวข่มขืน ข่าวและภาพที่เป็นการซ้ำเติมชะตากรรมผู้สูญเสีย เช่น ภาพศพ ภาพเหยื่ออาชญากรรม ข่าวที่เสนอโดยผิดกฎหมาย เช่น ข่าวเด็กและเยาวชนที่มีอายุยังไม่เกิน 18 ปี ข่าวการกระทำความรุนแรงในครอบครัว น่าจะไม่ใช่ข่าวในประเภทที่ผู้บริโภคข่าวสารรุ่นใหม่ต้องการ และสื่อบางประเภท ยังคงยัดเยียดให้เขาให้อ่าน ให้ดู ให้ฟัง ด้วยความสำคัญผิด
บริบทของสังคมเปลี่ยนไป คนรับสารมีความรู้มากขึ้น เรียกร้องข่าวคุณภาพ และมีความรับผิดชอบมากขึ้น ดังนั้น การปรับเปลี่ยนรูปแบบในการนำเสนอ การมุ่งเน้นเสนอข่าวที่มีผลกระทบและเป็นประโยชน์สาธารณะ จึงเป็นเรื่องจำเป็น และท้าทายความกล้าหาญของสื่ออาชีพอย่างยิ่ง เพราะนั่นหมายถึงความอยู่รอดขององค์กร ในระหว่างห้วงเวลาไม่ว่ายาวหรือสั้น เพื่อที่จะพิสูจน์ตัวเอง พิสูจน์ว่าแนวทางเช่นนี้เป็นเรื่องที่ยั่งยืนมากกว่า
สามปีก่อน “ลานนาโพสต์” ได้พยายามยกระดับมาตรฐานในการนำเสนอข่าว ที่ต้องลงแรง ระดมสมองจากหลายฝ่ายในการวางแผนข่าว เพื่อพิสูจน์ว่าสื่อท้องถิ่น ไม่ได้จำกัดบทบาทในการคัดบันทึกประจำวันของตำรวจ ถ่ายภาพศพ ภาพอาชญากรรม ภาพสัตว์ประหลาด ภาพปีศาจ เท่านั้น หากยังสามารถทำข่าวเชิงลึกที่ต้องใช้เวลา ใช้ทรัพยากร ใช้ความเพียร ในการทำข่าวเพื่อให้ได้ข่าวคุณภาพอันเป็นที่ยอมรับของคนในท้องถิ่นและระดับชาติด้วย
ปีที่ผ่านมา หลักฐานแห่งความสำเร็จในการเลือกแนวทางนี้ คือรางวัลชมเชยข่าวประเภทข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากข่าว ปลุกสำนึกลำปาง ฟื้น “แม่วัง” สายน้ำแห่งชีวิต ของชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และปีนี้ ข่าว “มหันตภัยเงียบ จอกหูหนู รุกเขื่อนกิ่วลม” เป็นความพยายามอีกครั้งหนึ่งของลานนาโพสต์ ที่จะนำรางวัลแห่งความภาคภูมิใจมาสู่ชาวลำปางทุกคน
ข่าวนี้เริ่มต้นด้วยการสำรวจเอกสารวิชาการและสภาพพันธุ์พืชน้ำในเขื่อนแห่งอื่นๆ เท่าที่สืบค้นได้ อีกทั้งการสอบถาม ค้นคว้า พูดคุยกับนักวิชาการ ชาวบ้านที่ทำมาหากินและอยู่อาศัยในบริเวณเขื่อน จากนั้นได้ประมวลข้อมูล ความคิดความเห็น และสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น นำเสนอข่าวนี้อย่างต่อเนื่อง นับจากเดือนมกราคม 2557 โดยมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นเตือนให้หน่วยงานที่รับผิดชอบตื่นตัวเข้ามาแก้ไขปัญหา และสร้างจิตสำนึกให้กับชาวบ้านให้ได้ตระหนักถึงปัญหาที่พวกเขาควรมีส่วนร่วมในการหวงแหนและอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตัวเอง
ตั้งแต่ ฉบับเดือนมกราคม 2557 ลานนาโพสต์ ได้นำเสนอข่าว จอกหูหนูรุกเขื่อนกิ่วลม จนส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในบริเวณเขื่อน และการท่องเที่ยว แพท่องเที่ยวต้องหยุดกิจการ จอกหูหนูระบาดแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งถึงเดือนมีนาคม 2557 กรมชลประทานได้เปิดประตูระบายน้ำ เพื่อระบายจอกหูหนูออกจากหน้าเขื่อน จากนั้นได้ใช้เครื่องจักรกลตักจอกออกจากเขื่อน การจัดการอย่างต่อเนื่องของกรมชลประทาน ซึ่งต่อมาจังหวัดลำปาง โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ได้เดินทางมายังพื้นที่ และได้เป็นผู้นำในการสั่งการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ทำให้ปัญหานี้คลี่คลายลงในที่สุด
    
ผลจากการนำเสนอโดยตระหนักถึงคุณค่าข่าว จอกหูหนูรุกเขื่อนกิ่วลม จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และการตื่นตัวของชาวบ้านที่ร่วมแรงร่วมใจกันกำจัดจอกหูหนู ลานนาโพสต์ได้กลายเป็นผู้นำในการนำเสนอข่าวนี้ในระดับชาติ โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและข่าวสดได้ตีพิมพ์ข่าวนี้ในเวลาต่อมา รวมทั้งสื่อโทรทัศน์ผ่าน สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5  
 ลานนาโพสต์ยังคงเกาะติดข่าว จอกหูหนูมหันตภัยเงียบ รุกเขื่อนกิ่วลมต่อไป โดยที่ยังมีความมุ่งมั่นในการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การกำหนดนโยบายข่าวที่พยายามสะท้อนปัญหาท้องถิ่นไปสู่ระดับชาติ ด้วยตระหนักในหน้าที่ของ ลานนาโพสต์ ในฐานะหนังสือพิมพ์ชุมชน ที่มีส่วนรับผิดชอบชุมชนเช่นเดียวกับภาคส่วนอื่นๆอย่างไม่เปลี่ยนแปลง
คุณค่าของการเสนอข่าวจอกหูหนู มหันตภัยเงียบรุกเขื่อนกิ่วลม คือการสร้างจิตสำนึกร่วมทั้งภาครัฐและประชาสังคม ให้ได้ตระหนักถึงปัญหาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการตื่นรู้ในปรากฎการณ์รอบตัวที่มองอย่างผิวเผินอาจเห็นเป็นเรื่องธรรมดา แต่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศและคุณภาพชีวิตในอนาคต
ถึงแม้ยังต้องเฝ้าระวัง ปัญหานี้ต่อไป เพราะปัญหาจอกหูหนูคงไม่ได้หมดไปอย่างสิ้นเชิงในระยะเวลาอันสั้น แต่เมื่อความมุ่งมั่นที่จะเสนอปัญหานี้ผ่านรุปแบบของข่าว คอลัมน์ บทความ อย่างต่อเนื่องและจริงจัง ปัญหาจอกหูหนูจะเป็นเสมือน สารตั้งต้น ให้สื่อท้องถิ่นที่เคยละเลย ไม่ได้ให้ความสำคัญกับข่าวประเภทนี้ เริ่มมานำเสนอข่าวที่เป็นสาระ และมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น เช่นเดียวกับที่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นบางฉบับ ได้นำเสนอข่าวนี้หลังจากลานนาโพสต์ได้ตีพิมพ์ข่าวมานานหลายเดือน
แผนฟื้นฟูเขื่อนกิ่วลมอย่างเป็นระบบ ด้วยการจัดการและการจัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งเพื่อการนี้  ก็เป็นผลมาจากการนำเสนอข่าวของลานนาโพสต์ชิ้นนี้  ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นคุณค่าข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บนพื้นที่สื่อท้องถิ่น โดยสื่อท้องถิ่น เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการสร้างข่าวคุณภาพบนพื้นที่สื่อท้องถิ่น

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1012 ประจำวันที่ 16  - 22 มกราคม 2558)   
      


Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์