วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2558

ไฟฟ้าขยะสะดุด ไม่มีแผนแม่บทรองอธิบดีมลพิษยัน-ทหารเลื่อนฟังชาวบ้าน



รอง ผบ.มทบ.32 เรียกประชุมทุกฝ่ายคุยเรื่องโรงไฟฟ้าขยะ สั่งเลื่อนประชาพิจารณ์วันที่ 29 มี.ค.58 เนื่องจากชาวบ้านยังไม่ได้รับทราบข้อมูลเท่าที่ควร  ขณะที่ชาวบ้านยังคงเดินสายยื่นหนังสือคัดค้าน  ด้านรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษไม่สนับสนุนสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ไม่มีในแผนแม่บทการจัดการขยะของลำปาง และขยะลำปางไม่ได้มีมากพอในการผลิตไฟฟ้า 6.5 เมกะวัตต์   ส่วนบริษัทเจ้าของโครงการเผยเหตุผลสร้างเพื่อลดปริมาณขยะในลำปาง ยันไม่มีการนำขยะต่างถิ่นเข้ามา

หลังจากที่มีชาวบ้าน โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า รักษ์ป่าเหียง ออกมาต่อต้านการก่อสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานไอน้ำจากของเหลือใช้ ขนาด 6.5 เมกะวัตต์  หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าโรงไฟฟ้าขยะ เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดปัญหามลพิษขึ้นในพื้นที่ โดยได้มีการนำป้าย มีข้อความแตกต่างกัน มาติดตามจุดต่างๆในหมู่บ้าน มากกว่า 10 แห่ง อีกทั้งยังมีการแจกจ่ายใบปลิวไปทั่วหมู่บ้าน โดยข้อความในใบปลิว ได้กล่าวอ้างถึงผู้นำ หมู่ 1 ว่าไม่ห่วงใยสุขภาพของชาวบ้าน  เห็นแต่ผลประโยชน์ นำความหายนะเข้ามาในหมู่บ้าน สร้างความแตกแยกให้ชุมชน จะขายอากาศที่บริสุทธิ์ ไม่รักลูกหลานในหมู่บ้านของตัวเอง

-แต่งดำประท้วง
เมื่อเวลา 07.00 น.วันที่ 14 มี.ค.58  ชาวบ้านป่าเหียง หมู่ 1 ต.บ่อแฮ้ว อ.เมือง จ.ลำปาง ในนามกลุ่ม “รักษ์ป่าเหียง” ประมาณ 200 คน ได้นัดกันใส่ชุดดำมารวมตัวกันที่หน้าวัดป่าเหียง ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปที่หน้าตลาดบ่อแฮ้ว เพื่อแสดงพลังในการคัดค้านการก่อสร้าง โรงไฟฟ้าขยะ  โดยชาวบ้านได้นำป้ายเขียนข้อความว่าไม่ต้องการให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่  เพราะจะทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาเรื่องฝุ่นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง  กลิ่นเหม็นจากการเผาขยะ น้ำเสียจากขบวนการผลิต เป็นต้น   จากนั้นได้เดินขบวนไปรอบหมู่บ้าน และไปหยุดที่หน้าบ้านผู้นำชุมชน โดยได้นำป้ายการคัดค้านไปติดไว้ และขอให้ผู้นำยุติการนำโครงการดังกล่าวเข้ามาในหมู่บ้าน

-ห่างหมู่บ้านไม่ถึง 500 เมตร

นายออน  จันทร์พรหมมินทร์  ตัวแทนกลุ่มชาวบ้าน กล่าวว่า การออกมาต่อต้านเป็นการทำเพื่อพี่น้องชาว ต.บ่อแฮ้ว เพราะโรงไฟฟ้าขยะดังกล่าวจะเข้ามาก่อสร้างในพื้นที่ติดกับชุมชน ห่างไม่ถึง 500 เมตร   เจ้าของบริษัทเป็นคน จ.ลำพูน ถ้าดีจริงทำไมไม่สร้างที่ จ.ลำพูน จะได้รองรับขยะจาก จ.เชียงใหม่ด้วย ขยะลำปางยังไม่เคยมีปัญหาล้น ทำไมต้องเอาขยะเข้ามาในพื้นที่ของเรา ไหนจะเกิดปัญหามลพิษ น้ำเสีย น้ำขยะลงในดินไปสู่แหล่งน้ำ กระทบต่อเกษตรกรที่ทำไร่ทำนา  กรณีที่พาไปดูงานโรงไฟฟ้าที่ จ.ภูเก็ต ก็เห็นได้ชัดว่าพื้นที่ต่างกัน โดยที่ จ.ภูเก็ต เป็นเมืองท่องเที่ยวมีปัญหาขยะล้นเมือง และเป็นเกาะเวลาจะนำขยะออกจากเกาะต้องผ่านทางเรือ  ติดทะเลมีลมพัดผ่าน พัดฝุ่นออกไปได้ จึงสามารถสร้างได้ แต่ที่บ้านป่าเหียง ไม่ได้มีปัญหาขยะล้นเมือง ขนย้ายขยะได้ง่ายมีถนนผ่านทุกเส้น และไม่ใช่เกาะไม่มีลมทะเลพัดฝุ่นออกไปได้  จึงไม่จำเป็นที่ต้องมาสร้างโรงงานไฟฟ้าขยะในพื้นที่ ฝากไปถึงกระทรวงอุตสาหกรรมด้วยว่า ชาวบ้านป่าเหียง ต.บ่อแฮ้ว ไม่ต้องการให้สร้างโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่อย่างเด็ดขาด

-บริษัทแจงเหตุผล

น.ส.ปาริชาติ สุวรรณกนิษฐ์ วิศวกรสิ่งแวดล้อม บริษัท วีพีเอ็น ไซมิสทริค จำกัด กล่าวว่า  ตั้งแต่ อบจ.ได้ก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะฯแห่งนี้ ได้ร่วมมือกับจังหวัด และ อปท.ทั้ง 13 อำเภอ ทำบันทึกข้อตกลงรวมกันในทิ้งขยะ โดยมี อบจ. และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ ทสจ.ควบคุมดูแลขยะที่จะเข้ามาทิ้งว่าเป็นขยะที่มาจากในพื้นที่จริง โดยรถที่จะขนขยะเข้ามาจะมีข้อตกลงกันว่าต้องแจ้งจำนวนรถที่จะเข้ามา จดหมายเลขทะเบียนรถไว้ รวมทั้งจดชื่อคนขับ หากมีรถขยะแปลกจากที่แจ้งไว้ก็จะไม่ให้เข้ามาในศูนย์ฯเลย ก่อนจะเปิดศูนย์จะมีการเรียน อปท.มาพูดคุยกันอีกครั้ง  ซึ่งรถขยะที่จะเข้ามาต้องเป็นรถที่มีฐานรองรับน้ำชะขยะไม่ให้ไหลลงถนน มีผ้าใบคลุมให้เรียบร้อย เวลาเข้าออกเป็นช่วงกลางคืน เพื่อตัดปัญหาการใช้รถใช้ถนนของชาวบ้าน  ยืนยันว่าไม่มีการนำขยะจากต่างจังหวัดเข้ามาในพื้นที่ 

-เผาแบบระบบปิด ทุ่ม 1,600 ล้าน

โรงไฟฟ้าที่จะสร้างไม่ใช่การนำขยะสดเข้าไปเผา โดยจะผ่านการคัดแยกขยะที่ศูนย์กำจัดขยะฯก่อน  ผ่านการบีบอัดและชะน้ำออกก่อน ขั้นตอนในการเผาจะใช้ระบบเตาเผาระบบปิดทั้งหมด ซึ่งการลงทุนในการทำโครงการประมาณ 1,600 ล้านบาท   โดยมีห้องเผา 3 ห้อง อุณหภูมิ ไม่เกิน 1,000 องศาเซลเซียล เพื่อไม่ให้เกิดไดออกซิน ห้องแรกเป็นห้องเผาความชื้น ห้องที่สองเป็นการเผาตัวขยะเอาก๊าซร้อนไปใช้ และห้องที่สามคือเผาควันพิษ  และมีท่อเพียงท่อเดียวที่จะปล่อยอากาศออก ก่อนจะปล่อยออกจะต้องผ่านระบบบำบัดอากาศก่อน   ซึ่งระบบการบำบัดอากาศจะมีอยู่ 2 ส่วน คือ การบำบัดก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ที่เป็นสารเคมี จะมีห้องบำบัดโดยใช้กระบวนการทางเคมีในการปรับสภาพ ให้ทำปฏิกิริยากันและกลายเป็นของแข็งและใช้วิธีดักจับฝุ่น  และที่ปล่องอากาศจะติดเครื่องวัดคุณภาพอากาศ มีการแสดงผลทุกวัน และต้องรายงานให้กรมควบคุมมลพิษทราบ   

-อ้างเลือก ต.บ่อแฮ้ว เพราะไฟฟ้าไม่เพียงพอ

เหตุผลที่ไม่สร้างในพื้นที่ของศูนย์กำจัดขยะฯของ อบจ. นางปาริชาติ กล่าวว่า เนื่องจากโรงไฟฟ้าบริษัทลงทุนเองเป็นของเอกชน แต่พื้นที่นี้เป็นของรัฐซึ่งเอกชนมาลงทุนในพื้นที่ของรัฐไม่ได้ และที่เลือกสถานที่บ้านป่าเหียง ต.บ่อแฮ้ว เพราะพื้นที่ ต.บ่อแฮ้ว เป็นพื้นที่ใช้ไฟเยอะ กฟภ.ได้มีการเดินสายเมนไว้ เพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าของประชาชน แต่กำลังการผลิตของการไฟฟ้ามีจำกัด ก่อนทำโครงการทางบริษัทได้สอบถามไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแล้วว่าถนนเส้นนี้ยังมีไฟฟ้าไม่เพียงพอ สายเมนก็ยังเหลือพื้นที่รับไฟฟ้าจากเอกชนได้ ถ้าไปทำในจุดที่ไฟเต็มแล้วก็ไม่เกิดประโยชน์

-ขุดบ่อน้ำใช้เอง

ส่วนน้ำที่จะนำมาใช้ จะมีการขุดบ่อในพื้นที่เพื่อเก็บน้ำ และนำไปหมุนเวียนใช้ในการผลิต ประมาณ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งมีการนำกลับไปควบแน่นเป็นไอน้ำ และนำกลับมาใช้ได้อีก การลงทุนส่วนใหญ่จะหนักไปทางการขุดบ่อน้ำ และการทำระบบบำบัดน้ำชะขยะ ถึงแม้จะเป็นขยะที่คัดแยกมาแล้ว แต่ก็ต้องทำระบบไว้ด้วย

 -กว่า 300 คนร่วมลงชื่อค้าน

ต่อมาวันที่ 15 มี.ค.58  กลุ่มชาวบ้านป่าเหียง กว่า 300 คน ได้ร่วมประชุมกันที่วัดป่าเหียง   พร้อมกับลงชื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ  โดยมีนายพยุงศักดิ์ อัคราเกื้อกูล อาจารย์คณะวิศวกรรม มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนาเชียงใหม่ ซึ่งเป็นชาวบ้านป่าเหียง นำนักวิชาการมาร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าขยะแก่ชาวบ้าน  โดยในการจัดประชุมดังกล่าว ได้เรียกประชุมโดยผู้นำชุมชนบ้านป่าเหียง แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลาประชุมผู้นำชุมชนกลับไม่มาเข้าร่วมแต่อย่างใด
           
นายพยุงศักดิ์ อัคราเกื้อกูล  กล่าวว่า  สิ่งที่จะเข้ามาสร้างคือโรงเผาขยะ โรงไฟฟ้าเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น ชาวบ้านไม่ได้คัดค้านให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ แต่ไม่ต้องการให้มาสร้างในพื้นที่ หากไม่สร้างที่อื่นก็ไม่ขัดข้อง เพราะไม่ต้องการให้ขยะต่างถิ่นเข้ามาในพื้นที่ของเรา สิ่งที่จะตามมากก็จะคือ กลิ่นเน่าเหม็น เชื้อโรค น้ำเสีย ซึ่งพวกเราไม่ต้องการให้เกิดในหมู่บ้าน
           
-รองอธิบดีไม่สนับสนุน

จากนั้นวันที่ 16 มี.ค. 58 ที่ห้องประชุมสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลำปาง ต.หัวเวียง อ.เมือง จ.ลำปาง นายสุวิทย์ ขัตติยวงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน กรณีชาวบ้านป่าเหียง ต.บ่อแฮ้ว ได้รวมกลุ่มกันต่อต้านคันค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ  โดย นายสุวิทย์ เปิดเผยว่า การจัดการขยะนั้นเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้รับผิดชอบอยู่ ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้พูดในรายการคืนความสุขให้คนในชาติทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจถึง การบริหารจัดการขยะให้เป็นระบบทั้งนี้ได้มีการสนับสนุนให้บริษัทเอกชนลงทุน ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการขยะเพื่อมาทำเป็นพลังงาน ทดแทน จ.ลำปาง นั้นก็ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการทำแผนแม่บทการจัดการขยะของจังหวัดขึ้น โดยแบ่งการจัดเก็บขยะออกเป็น 3 โซน คือ โซนเหนือ โซนกลาง โซนใต้ โดยปริมาณขยะที่มากที่สุดนั้นจะอยู่ที่โซนกลางคือเขต อ.เมือง อ.แม่เมาะ อ.เสริมงาม อ.เกาะคา อ.แม่ทะ โดยขณะนี้สถานที่กำจัดขยะโดยถูกต้อง มีอยู่เพียงแห่งเดียวคือ บ่อฝังกลบขยะของเทศบาลนครลำปาง ตั้งอยู่ที่ ต.กล้วยแพะ อ.เมือง จ.ลำปาง และยังมีบ่อขยะที่ไม่ถูกต้องตามสุขลักษณะอีกหลายแห่ง โดยที่ผ่านมาทางกระทรวงทรัพยากรฯ ได้สนับสนุนงบประมาณให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง เพื่อสร้างบ่อขยะขนาดใหญ่โดยสามารถรับขยะได้มากกว่า 500 ตันต่อวัน ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือน ส.ค.58 นี้

-โรงไฟฟ้าขยะไม่อยู่ในแผนแม่บทจัดการขยะ

ทั้งนี้ นายสุวิทย์  กล่าวต่อไปว่า ในแผนแม่บทการจัดการขยะของจังหวัดลำปาง ที่ส่งให้กรมควบคุมมลพิษนั้น ไม่มีเนื้อหาปรากฏอยู่ในแผนว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ ซึ่งทางกรมควบคุมมลพิษเองก็ไม่สนับสนุนให้มีการตั้งโรงไฟฟ้าจากขยะใน จ.ลำปาง หากตั้งโรงไฟฟ้าก็จะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นอีก โดยใน จ.ลำปาง ก็มีโรงไฟฟ้าของ กฟผ.แม่เมาะ อยู่แล้ว ไม่มีเหตุผลใดที่จะมาสร้างโรงไฟฟ้าอีก

-ขยะทั้งจังหวัดก็ไม่พอผลิตไฟฟ้า

นอกจากนั้นพื้นที่ ต.บ่อแฮ้ว ก็ปริมาณขยะไม่ถึง 10 ตันต่อวัน การจะป้อนขยะให้โรงไฟฟ้านั้น อย่างต่ำต้องใช้ขยะวันละไม่ต่ำ 100 ตันขึ้นไป จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษทราบว่าขยะสด 300 ตันจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 1 เมกะวัตต์  หากโรงไฟฟ้าที่จะสร้างนั้นมีขนาด 6.5 เมกกะวัตต์ จะต้องใช้ปริมาณขยะถึง 1,800 กว่าตันต่อวัน ซึ่งปริมาณขยะรวมกันทั้ง จ.ลำปาง แล้วมากสุดจะอยู่ที่ประมาณ 800 ตันต่อวัน เท่านั้น

-ฝาก อปท.คิดให้ดี

รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ยังได้ฝากไปถึงผู้บริหาร อปท. ในพื้นที่ด้วยว่า ให้ดูอำนาจหน้าที่ให้ดีในการอนุญาตการก่อสร้างต่างๆ หากได้มีการอนุญาตแล้วนั้นปัญหาที่ตามมาก็คือด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่สามารถตั้งโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้ ซึ่งหากต้องการสร้างจริงก็ต้องไปคุยกับทางจังหวัดเพื่อมาพูดคุยถึงความเป็นไปได้และเหตุผลที่จะสร้างโรงไฟฟ้ากำจัดขยะ เพื่อจะได้ทำแผนแม่บทเสนอต่อกรมควบคุมมลพิษพิจารณาต่อไป

-ทหารเรียกประชุม

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 58 พ.อ.ชัยณรงค์ แกล้วกล้า รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 ได้เป็นตัวแทน ผบ.มทบ.32 เข้าประชุมหารือและรับฟังปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่ ต.บ่อแฮ้ว อ.เมืองลำปาง ที่ห้องประชุมภายในมณฑลทหารบกที่ 32 ค่ายสุรศักดิ์มนตรี โดยเชิญส่วนราชการทั้งนายอำเภอเมืองลำปาง พลังงานจังหวัดลำปาง อุตสาหกรรมจังหวัด กฟภ. และนายสุวิทย์ ขัตติยวงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ที่มาตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดลำปางเข้าร่วมด้วย ส่วนภาคประชาชนได้มีการเชิญผู้นำท้องถิ่น ประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน สมาชิก อบต. และตัวแทนชาวบ้านป่าเหียง ที่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ และนางวรรณี ลิทองกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท วีเอ็นพี คอนเล็คชั่น จำกัด ซึ่งจะเข้ามาตั้งโรงไฟฟ้าขยะดังกล่าวในพื้นที่

-ชาวบ้านติงดูงานมีเบี้ยเลี้ยงหลักหมื่น
        
ในที่ประชุมได้กล่าวถึงกรณีที่บริษัทพาแกนนำไปดูงานที่โรงไฟฟ้าขยะภูเก็ต ซึ่งระหว่างดูงานบริษัทได้เลี้ยงดูอย่างดี แต่ดูงานจริงๆ เพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น นอกนั้นเป็นการพาเที่ยวกิน สนุกสนานตลอดงาน แถมมีค่าเบี้ยเลี้ยงอีกคนละ 5,000 บาท ส่วนผู้ใหญ่บ้านคนละ 10,000 บาท ที่สำคัญจะมีการทำประชาคมชาวบ้านในวันที่ 29 มี.ค.นี้ ซึ่งชาวบ้านยังไม่ได้รับทราบข้อมูลใดๆ และไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าภาพในการจะจัดทำประชาคมในครั้งนี้

-บริษัทไม่บังคับให้เห็นด้วย
           
นางวรรณี ลิทองกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท วีเอ็นพี คอนเล็คชั่น จำกัด ได้ระบุว่า การพาผู้นำชุมชนไปดูงาน ไม่ได้บังคับว่าหากไปดูแล้วจะต้องเห็นด้วยทั้งหมด หากไปดูแล้วคิดว่าดีก็ขอให้บอกต่อ แต่หากมีจุดไหนที่บกพร่องก็ขอให้บอกเพื่อทางบริษัทจะได้แก้ไข  ดังนั้น หากผู้ที่ไปดูงานมาแล้วไม่ได้นำไปบอกต่อ หรืออธิบายให้คนที่ไม่ได้ไปความขัดแย้งก็จะตามมา และยิ่งมาบอกว่าโครงการไม่มีประโยชน์ ไม่ควรสร้าง ชาวบ้านจะคัดค้านกันทั้งหมด แต่เมื่อเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียแล้ว เห็นว่าประชาชนจะได้ประโยชน์มากกว่า เช่น การมีงานทำ รายได้ หรือสิ่งที่บริษัทจะเข้ามาทำ CSR โดยรอบชุมชนจะเกิดประโยชน์ ซึ่งทั่วประเทศมีโรงไฟฟ้าหลายแห่งที่ประสบความสำเร็จ และที่ไม่ประสบความสำเร็จก็มีเช่นกัน แต่ผู้นำจะต้องมาชี้แจงให้ชาวบ้านได้ทราบว่าจะได้รับประโยชน์อะไรบ้างจากการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งนี้

-นายก อบต.ออกตัวหนุน
        
ส่วนผู้นำท้องถิ่นที่เข้ามาร่วมประชุมครั้งนี้เกือบทุกคนเห็นด้วย และสนับสนุนให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ นายสถาพร วะเท นายก อบต.บ่อแฮ้ว ระบุว่า ตามที่ตนไปดูงานหลายประเทศก็ทำเหมือนกัน โดยเฉพาะประเทศที่เจริญแล้ว เพราะขยะมาจากเราทุกคน จะทำอย่างไรที่จะไม่ให้ขยะล้นบ้านล้นเมือง และกำจัดขยะอย่างถูกต้อง ซึ่งในอนาคตหากไม่มีโรงพลังงานไอน้ำจากขยะเหลือใช้แล้วจะเอาขยะไปไว้ที่ไหน หากมีโรงไฟฟ้าตัวนี้ก็ดีกว่าที่จะเอาไปทิ้งไปถม

-เลื่อนทำประชาพิจารณ์
       
แต่สุดท้ายในที่ประชุมได้สรุปว่าให้ยกเลิกการทำประชาพิจารณ์ วันที่ 29 มี.ค.58นี้ออกไปก่อน เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้รับทราบข้อมูลของโครงการให้มากกว่านี้ เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะให้โครงการนี้เกิดขึ้นหรือไม่

-เดินสายยื่นหนังสือคัดค้าน

ทั้งนี้ ทางกลุ่มแกนนำชาวบ้านรักษ์ป่าเหียง ยังได้เดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะดังกล่าว ให้กับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น รองอธิบดีควบคุมมลพิษ  ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง แม่ทัพภาคที่ 3   ผบ.มทบ.32   ศูนย์ดำรงธรรมฯลฯ

นายพยุงศักดิ์ อัคราเกื้อกูล กล่าวว่า หลังจากที่ตัวแทนไปประชุมร่วมหลายฝ่ายที่ค่ายสุรศักดิ์มนตรี เมื่อวันที่ 17 มี.ค.58 ที่ผ่านมา ซึ่งทางกรมควบคุมมลพิษได้ให้ระงับโครงการไปก่อน ซึ่งในการประชุมฝ่ายทหารให้บอกให้เลื่อนการประชุมทำประชามติออกไปก่อน แต่ดูจาก อบต.บ่อแฮ้ว ซึ่งเป็นผู้ออกหนังสือเชิญทำประชามติในครั้งนี้ ก็ดูเหมือนว่ายังคงจะดำเนินการทำประชามติอยู่  แต่เรื่องทั้งหมดนี้ยังไม่มีเป็นคำสั่งทางราชการที่ชัดเจน เป็นเพียงการพูดตกลงกันในที่ประชุม ชาวบ้านก็ยังคงรอความชัดเจนอยู่  

นายพยุงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ในหมู่บ้านก็ยังมีการออกซื้อเสียงอยู่ หัวละ 2,000-3,000 บาท  มีตัวแทนกลุ่มคนที่ไปดูงานมาแล้วออกมาเคลื่อนไหว ขอเก็บสำเนาบัตรประชาชนชาวบ้าน  ปลุกกระแสชาวบ้านด้วยการใช้เงินซื้อ เพื่อให้ลงประชามติในวันที่ 29 มี.ค.58  ซึ่งมีคนที่ถูกทาบทามมาแจ้งให้เราทราบแต่ตอนนี้ให้มีการเลื่อนทำประชามติไปแล้ว  กลุ่มชาวบ้านก็จะสู้ตามแนวทางเดิมคือขอให้ย้ายออกจากพื้นที่ชุมชน  กลุ่มรักษ์ป่าเหียงก็จะให้ความรู้ชาวบ้านกับต่อไป หากวันที่ 29 มี.ค.58 นี้จะต้องไปลงประชามติ อย่างน้อยชาวบ้านก็จะได้มีข้อมูลในการตัดสินใจ

 ในวันที่ 22 มี.ค.58ถ้าบริษัทจะเข้ามาให้ข้อมูลในหมู่บ้านก็จะไปร่วม เพื่อจะได้ทราบถึงผลดีผลเสียให้ชาวบ้านได้พิจารณาด้วยตัวเอง เรายินดีที่จะรับฟังทุกอย่าง ต่อสู้ด้วยความสงบ ไม่ใช้ความรุนแรง เพียงแต่เป็นการเรียกร้องสิทธิ ไม่มีนักการเมืองหนุนหลัง ไม่หวังผลทางการเมืองใดๆทั้งสิ้น แต่ทำเพื่อลูกหลานของเราจริงๆ  นายพยุงศักดิ์ กล่าว 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1021  ประจำวันที่ 20 – 26  มีนาคม 2558)
 


Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์