วันเสาร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2558

คิดเป็นเห็นต่าง


การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะยังคงเป็นเรื่องที่คนใน จ.ลำปาง รวมไปถึงทั่วประเทศได้รับความสนใจ  ลานนาโพสต์จึงได้เสนอมุมมองของทางฝ่ายชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ  และฝ่ายบริษัทฯ ที่จะเข้ามาดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่

นายรณกร  ลีไพบูลย์  วิศวกร บริษัท วีพีเอ็น แอนด์ ไซมิสทริค จำกัด
1. เหตุผลที่เลือกมาสร้างโรงไฟฟ้าขยะที่ จ.ลำปาง  (เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ชาวบ้านสอบถามไว้ในการประชุมชี้แจง ว่าทำไมไม่สร้างที่ จ.เชียงใหม่ หรือ จ.ลำพูน เนื่องจากมีปริมาณขยะมากกว่าที่ จ.ลำปาง และทางบริษัทก็มีศูนย์กำจัดขยะที่เชียงใหม่เช่นกัน)
ตอบ   เนื่องจากรัฐบาลมีนโนบายสนับสนุนการก่อตั้งโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานหมุนเวียนในทุกจังหวัดทั่วประเทศ  ไม่เพียงเฉพาะจังหวัดลำปาง   โดยผลักดันผ่านหน่วยงานของภาครัฐต่าง ๆ  ทำให้ภาคเอกชน  รวมถึงบริษัท วีพีเอ็น แอนด์ ไซมิสทริค จำกัด  ให้ความสนใจลงทุนในธุรกิจนี้   โดยบริษัทฯ  อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าประเภทนี้ในจังหวัดอื่นนอกเหนือจากจังหวัดลำปาง  เช่นกัน
ทั้งนี้  การดำเนินการใด ๆ บริษัทฯ  ให้ความสำคัญต่อประเด็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก  การเลือกใช้เทคโนโลยีจะเป็นเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งสามารถควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. ทราบไหมว่าเหตุผลที่ชาวบ้านออกมาต่อต้านเพราะสาเหตุใด  และจะแก้ไขปัญหาอย่างไร
ตอบ   จากการประเมิน  เหตุผลที่ชาวบ้านออกมาต่อต้านมีหลายสาเหตุ  ส่วนหนึ่งเกิดจากการบิดเบือนข้อเท็จจริงของโครงการ  เช่น  ปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้  แหล่งที่มาของเชื้อเพลิงที่ใช้  โดยมีการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จว่า  โครงการจะต้องใช้ขยะมากถึง 1,800 ตันต่อวัน  และจะนำขยะจำนวนมากกว่า 1,000 ตันต่อวันมาจากจังหวัดใกล้เคียง  นำมากองเก็บในพื้นที่โล่ง ทำให้เกิดน้ำเสียและส่งกลิ่นเหม็น  ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด  และบริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการในลักษณะที่ถูกกล่าวอ้างได้อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมและขนส่งขยะจากต่างจังหวัดจำนวนมากขนาดนั้นข้ามเขตจังหวัดเข้ามายังจังหวัดลำปาง  หรือการนำขยะมากองเก็บในพื้นที่โล่งซึ่งไม่สามารถกระทำได้  ไม่ว่าจะในแง่มุมทางกฎหมาย  ความคุ้มทุน  ด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  ก็ตาม
สำหรับการแก้ไขของบริษัทฯ นั้น  บริษัทฯ  อยู่ระหว่างการทำการชี้แจงข้อเท็จจริง  ทั้งผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น  การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น  การเปิดให้ประชาชนเข้าศึกษาข้อมูลของโครงการ  เป็นต้น  เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีอำนาจตัดสินใจได้ทราบข้อเท็จจริงและใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจสนับสนุนโครงการหรือไม่

3.ข้อสังเกตของรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เกี่ยวกับเรื่องปริมาณขยะในพื้นที่ไม่พียงพอต่อการผลิตไฟฟ้า  (ประเด็นนี้ ชาวบ้านกลัวว่าจะมีการนำขยะต่างถิ่นเข้ามาในพื้นที่) ทางบริษัทจะอธิบายว่าอย่างไร
ตอบ อข้อสังเกตเรื่องปริมาณขยะ  ที่ระบุว่า  โครงการใช้ขยะจำนวนมากกว่า 1,800 ตันต่อวัน  และจะต้องใช้ขยะจากจังหวัดใกล้เคียงเนื่องจากขยะในจังหวัดลำปางไม่เพียงพอต่อการผลิตกระแสไฟฟ้านั้น  ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง  ซึ่งข้อเท็จจริงคือ  โครงการเป็นโรงผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดเล็กมาก เชื้อเพลิงของเหลือใช้ที่ใช้ในโครงการนั้น  เป็นของเหลือใช้ที่ได้จากการคัดแยกขยะมูลฝอยชุมชนในจังหวัดลำปางจำนวน 350  ตันต่อวัน  ไม่ใช่ 1,800 ตันต่อวัน  ตามที่ได้มีการให้ข้อมูลแก่ประชาชนในพื้นที่ 
ปริมาณขยะมูลฝอยในจังหวัดลำปางมีประมาณมากกว่า  800  ตันต่อวัน  จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำขยะมาจากจังหวัดใกล้เคียง    ประเด็นเรื่องปริมาณขยะและที่มาของขยะนี้  นับเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงของโครงการ

4.การดำเนินการในตอนนี้อยู่ในขั้นตอนไหน
ตอบ   ในขณะนี้  อยู่ในขั้นตอนการเผยแพร่ข้อมูล  ทำความเข้าใจต่อประชาชน และการรับฟังความคิดเห็น  จากชุมชนรอบที่ตั้งโครงการ  โดยเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นจริงต่อประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นชั้นตอนแรกในการดำเนินการโครงการ

5. เมื่อมีกระแสการต่อต้านอย่างต่อเนื่อง  มีโอกาสที่จะล้มโครงการ หรือจะย้ายไปก่อสร้างที่หรืออื่นไม่
ตอบ  ขณะนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่เป็นจริงต่อประชาชนในพื้นที่ ซึ่งภายหลังจากการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่แล้ว ประชาชนในพื้นที่จะเป็นผู้ให้คำตอบว่า บริษัทฯ สามารถก่อสร้างโครงการในพื้นที่ดังกล่าวได้หรือไม่
โดยบริษัทฯ  ให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นลำดับแรก  จึงได้เลือกใช้เทคโนโลยีที่ใช้งานมาแล้วเป็นเวลานานในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าสามารถควบคุม  บำบัด  มลภาวะได้  และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศเหล่านั้น  เช่น  ประเทศในยุโรป  แคนาดา  เป็นต้น 
การดำเนินการโครงการที่มีต้นทุนโครงการสูงมากเช่นโครงการนี้  บริษัทฯ  จะต้องมีความมั่นใจว่า  เมื่อก่อสร้างไปแล้ว  จะสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง  หากบริษัทฯ ดำเนินการลงทุนก่อสร้างแล้วเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม   ย่อมทำให้ประชาชนในพื้นที่ออกมาประท้วงคัดค้านการดำเนินงาน  ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง  จึงไม่มีเหตุผลที่บริษัทฯ จะเสี่ยงดำเนินการโดยไม่สามารถควบคุมผลกระทบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้  บริษัทฯ  จึงขอให้ความมั่นใจต่อประชาชนในพื้นที่ว่าโครงการนี้  เป็นโครงการที่ดี  สามารถควบคุม ป้องกัน  บำบัด  มลภาวะ  ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้




นายไตรภพ ชัยชมภู ตัวแทนชาวบ้าน
1.มีแผนการคัดค้านโรงไฟฟ้าขยะต่อไปอยางไร
ตอบ  ตอนนี้เราต้องหาแนวร่วม ในหมู่บ้านโดยรอบที่จะได้รับผลกระทบ ถ้าบริษัทใช้รัศมีทั้งตำบลบ่อแฮ้ว 13 กิโลเมตร เพื่อทำประชามติ ก็จะต้องนำข้อมูลทางด้านที่จะมีผลกระทบต่อชาวบ้าน แจกให้ประชาชนได้รับทราบ ซึ่งขณะนี้ทางบริษัทก็ตอบคำถามชาวบ้านไม่ได้ทั้งหมด แม้กระทั่งการวัดค่าไดออกซิน  ไม่เชื่อว่าจะมีการวัดได้ เพราะในประเทศไทยยังไม่มีโรงงานไหนทำได้ ต้องส่งตรวจที่ห้องแล็บของกรมวิทยาศาสตร์ ต้องใช้เวลา 30 วัน ถ้าบริษัทคิดว่าจะทำถูกต้องตามกฎหมายตามรัศมี 13 กิโลเมตร ก็ต้องแจ้งประชาชนกว่า 1 แสนคนมาลงมติ

2.คิดถึงผลดีของโรงไฟฟ้าหรือไม่ เพราะมีบางส่วนสนับสนุน
ตอบ  เรามองว่าโรงไฟฟ้าขยะมีข้อดีคือ มีส่วนช่วยในการกำจัดขยะโดยวิธีการเผา และนำความร้อนมาผลิตไฟฟ้า แต่เมื่อสถานที่ศูนย์กำจัดขยะของ อบจ.ก็มีอยู่แล้ว ก็น่าจะเอาไปตั้งตรงนั้น จะได้ไม่ต้องเสียงค่าขนส่งอีก และลดอุบัติเหตุทางถนน ลดปัญหาการวิ่งผ่านชุมชน  การอ้างว่าเป็นที่ของราชการไม่น่าจะมีปัญหาเพราะสามารถขอเช่าพื้นที่ได้ ส่วนกลุ่มที่ สนับสนุนส่วนใหญ่บอกได้เลยว่า เป็นกลุ่มที่ได้รับเงิน

3.บทบาทของบริษัทในการทำความเข้าใจเพียงพอหรือไม่
ตอบ  ตอนแรกบริษัทไม่เข้ามาเอง ไม่เคยเข้ามาเลย ชาวบ้านรู้ตอนที่พาชาวบ้านบางกลุ่มไปดูงาน ซึ่งเป็นคนที่ผู้นำหมู่บ้านเลือกไป  แต่พอชาวบ้านออกมารวมตัวกันบริษัทก็เริ่มเข้ามาในพื้นที่ ชาวบ้านไม่เคยได้ข้อมูลจากทางบริษัท   ตอนนี้สายไปแล้วชาวบ้านไม่ต้องการ

4.บทบาทของทหารที่เข้ามาเกี่ยวข้องคิดว่าจำเป็นหรือไม่
ตอบ  ถ้าเข้ามาโดยการเป็นชายชาติทหารช่วยมารักษาความสงบให้ชาวบ้านก็เห็นว่าดี แต่หากเข้ามาแบบมีอะไรแอบแฝงก็ไม่ดีอยู่แล้ว คิดว่าเป็นเฉพาะบางคน เรื่องนี้ไม่อยากจะพูดถึง

5.จะเรียกร้องต่อองค์การภายนอกหรือไม่ จะหาทางออกอย่างไร

ตอบ มีหลายช่องทางที่ชาวบ้านดำเนินการไปแล้ว โดยยื่นหนังสือไม่หลายหน่วยงาน ทั้งนายอำเภอ ศูนย์ดำรงธรรม  ป.ป.ช.  ป.ป.ง. เพื่อขอให้ย้ายโรงไฟฟ้าขยะออกไปจากพื้นที่กรณีเดียวเท่านั้น หลังจากนี้ก็คงต้องรอ  ส่วนการลงประชามติชาวบ้านจะไปร่วมอย่างแน่นอน  ไม่ว่าจะทำผ่านหรือไม่ผ่าน ก็ต้องฟ้องศาลปกครอง เพราะว่าขั้นตอนไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1024 วันที่ 10 – 23 เมษายน 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์