วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ผู้ตรวจฯแจกงาน แก้ปัญหาอพยพแม่เมาะ


ผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่ติดตามปัญหาการออกเอกสารสิทธิ ราษฎรที่อพยพเนื่องจากได้รับผลกระทบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 10 ปี  เบื้องต้นพบติดปัญหาการขอใช้พื้นที่ป่าไม้จึงเร่งประสานงานกรมป่าไม้แล้ว  ส่วนปัญหาการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่ชาวบ้านร้องว่าเข้าถึงยาก ได้สั่งให้รองผู้ว่าฯตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง  สำหรับประเด็นสำคัญเรื่องการจัดการทรัพย์สินของรัฐ มอบให้นายอำเภอดำเนินการยกเลิกทะเบียนบ้านหลังที่ขายให้รัฐ ให้ไปอยู่ในทะเบียนบ้านกลาง เพื่อจะนำทรัพย์สินไปใช้ประโยชน์

เมื่อวันที่ 22 มิ..58  ที่ห้องประชุม อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง พลเอกวิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมคณะประชุมหาแนวทางแก้ไขปัญหาราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะร่วมกับผู้แทนจังหวัดลำปาง โดยนายมงคล สุกใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ผู้แทนกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)แม่เมาะ และส่วนที่เกี่ยวข้อง  หลังจากได้รับข้อร้องเรียนจากราษฎรในพื้นที่ได้รับผลกระทบว่า ปัญหาการอพยพราษฎรออกมาจากพื้นที่การทำเหมืองถ่านหินของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่งอพยพมาถึง 7 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 - 4 เป็นการอพยพราษฎรเพราะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต้องใช้พื้นที่เพื่อการขุดทำถ่านหิน ในครั้งที่ 5 – 7 ราษฎรประสงค์แจ้งความประสงค์ขอย้ายออกจากพื้นที่ โดยอ้างว่าได้รับผลกระทบจากฝุ่น เสียง และมลพิษทางอากาศ จนถึงขณะนี้ แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรีออกมาตั้งแต่ปี 2549 แต่ปัญหาก็ยังยืดเยื้อมานานกว่า 10 ปี 
           
จากการลงพื้นที่ติดตามข้อเท็จจริงตามที่ชาวบ้านร้องเรียน ที่บ้านห้วยคิง หมู่ 6  .แม่เมาะ อ.แม่เมาะ คณะผู้ตรวจการแผ่นดินพบว่า ราษฎรที่สมัครใจอพยพออกจากพื้นที่และได้รับค่าชดเชยตามเงื่อนไขไปแล้ว บ้านเรือนต้องตกเป็นทรัพย์สินของรัฐ แต่กลับมีการลักลอบรื้อถอน ขนย้ายไม้เรือนเก่าออกไป ทั้งคนที่เคยเป็นเจ้าของและไม่ใช่เจ้าของ ขณะที่บางครอบครัวได้รับค่าชดเชยจากรัฐไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมย้ายออกไปจากบ้านหลังเดิมซึ่งถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีที่ทรัพย์สินของรัฐสู­หายไปต้องให้ตำรวจท้องที่และผู้นำท้องถิ่นต้องเข้าไปดูแลรับผิดชอบร่วมกันและขอให้สำนักงานธนารักษ์พื้นที่จังหวัดเข้าไปสำรวจและจัดทำแผนเพื่อป้องกันการสูญหายเพิ่มอีก เพื่อหาทางนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม หากพบการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องฟ้องร้องคดีความเอาผิดกับคนที่เอาไป ในส่วนของราษฎรที่รับเงินชดเชยจากรัฐแล้วไม่ยอมย้ายออกไป ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ขอให้ทางอำเภอไปยกเลิกบ้านเลขที่ ย้ายบุคคลเหล่านี้ไปอยู่ทะเบียนบ้านกลาง เพื่อรอการรื้อถอนตามขั้นตอนต่อไป
           
พลเอกวิทวัส  กล่าวถึงปัญหาการอพยพราษฎรมาอยู่ในพื้นที่ใหม่ในป่าเสื่อมโทรม ซึ่งต้องยกเลิกพื้นที่ป่าจึงจะสามารถออกเอกสารสิทธิ์ให้ราษฎรได้ แต่ปรากฏว่า กรมป่าไม้ ยังไม่มีการยกเลิกเขตป่าทำให้ดำเนินการต่อไปได้ ทั้งที่เป็นสัญญาประชาคมและเป็นมติคณะรัฐมนตรี จังหวัดเองก็ออกสำรวจเสนอไปแล้ว ซึ่งในเรื่องนี้คงต้องไปผลักดันในระดับนโยบาย เพราะอำนาจอนุมัติอยู่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกกฎกระทรวงเพิกถอนพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมแล้วจึงจะเดินต่อไปได้
           
ส่วนเรื่องที่ราษฎรกลุ่มเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยร้องเรียนว่าเข้าไม่ถึงกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้า ซึ่งในความเป็นจริงกองทุนมีคณะกรรมการ มีระเบียบ กฎเกณฑ์ทั้งในระดับตำบล และระดับจังหวัดอยู่แล้ว จึงฝากให้รองผู้ว่าราชการจังหวัด ไปทบทวนระเบียบว่า ครอบคลุมทุกมิติหรือไม่ โดยขอให้ผู้ดูแลเงินกองทุนคิดถึงหลักมนุษยธรรมในการพิจารณาโครงการและปัญหาเรื่องการรักษาพยาบาล และอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะกลับมาดูอีกทีว่ามีอะไรคืบหน้าไปบ้าง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1034 วันที่ 26 มิถุนายน - 2 กรกฏาคม 2558)

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์