วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

กฟผ.หัวชนฝายันทำถูกต้อง


           
-รองผู้ว่าฯ และ กฟผ.แถลงข่าว

เมื่อวันที่ 8 ก.ค.58 นายมงคล สุกใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย นายถาวร งามกนกวรรณ ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ(ชชม.) ได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนจังหวัดลำปาง ที่อาคารนันทนาการ(คลับเฮ้าท์ใหม่) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)แม่เมาะ ถึงผลการดำเนินการตามพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 10 ก.พ.58

-แจงพื้นที่ทำเหมือง

นายมงคล กล่าวว่า ในส่วนของจังหวัดมองว่า กฟผ.แม่เมาะทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติมานาน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ให้สงวนไว้เป็นแหล่งพลังงานของชาติ เนื่องจาก มีถ่านหินลิกไนต์เป็นจำนวนมาก ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 4,200 เมกะวัตต์/วัน คิดเป็นร้อยละ 10 ของไฟฟ้าในประเทศ โดย กฟผ. ขอใช้พื้นที่ทั้งหมด 42,100 ไร่ แบ่งการใช้งานเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 คือขุมเหมืองและโรงไฟฟ้า พื้นที่ 39,153 ไร่ คิดเป็น ร้อยละ 93 ของเนื้อที่ทั้งหมด ส่วนที่ 2 พื้นที่ 1,362 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 3 สำหรับสร้างอ่างเก็บน้ำ และอีก 4 เปอร์เซ็นต์สุดท้าย จำนวน 1,684 ไร่ นำไปทำที่พักผ่อนหย่อนใจ นันทนาการ ที่ออกกำลังกาย แต่ในขณะเดียวกันหากประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน กฟผ. ก็ต้องแก้ไข เพราะหากไม่ใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้า ประชาชนในประเทศก็จะต้องใช้ไฟในราคาที่แพงมากขึ้นและจะหมดสัมปทานการทำเหมืองในปี 2594

-ควรสร้างความเข้าใจเรื่องสนามกอล์ฟ

ประเด็นที่สื่อมวลชนและประชาชนยังเข้าใจไม่ตรงกัน กรณีพื้นที่สร้างสนามกอล์ฟอยู่ในเขตขุมเหมืองหรือไม่ การตีความตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ควรจะรื้อสนามกอล์ฟหรือไม่ จึงจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งทาง กฟผ.ก็ยืนยันมาตลอดว่าสนามกอล์ฟไม่ได้อยู่ในขุมเหมือง แต่อยู่ในโซนสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ นันทนาการ ซึ่งเจ้าหน้าที่สำนักงานศาลปกครองเชียงใหม่ลงพื้นที่ตรวจติดตามผลการดำเนินงานแล้ว เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2558 กระบวนการทุกอย่างก็น่าจะจบแล้ว

-ศาลยกคำร้อง 2 ประเด็น

นายถาวร กล่าวว่า ผู้ฟ้อง คือ นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ พร้อมกับพวก 318 ราย ฟ้อง กฟผ.และผู้เกี่ยวข้องใน 3 ประเด็น คือ ประเด็นแรก กล่าวหาว่า กฟผ.แม่เมาะไม่ปฏิบัติตามวิธีการทำเหมือง แผนผังโครงการ และมาตรการแนบท้ายรายงาน EIA ประกอบคำขอประทานบัตร ประเด็นที่สอง ให้เพิกถอนประทานบัตรพื้นที่พิพาท และ ประเด็นที่สาม ให้ กฟผ.แม่เมาะจ่ายเงินชดเชยให้ความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี และศาลปกครองได้ยกฟ้องประเด็นที่ 2 และประเด็นที่ 3 จึงเหลือเพียงให้ดำเนินการในประเด็นแรก

-พิพากษาประเด็นแรก 5 ข้อ

ซึ่งศาลได้พิพากษาให้ กฟผ.ปฏิบัติใน 5 ข้อ คือ การติดตั้งม่านน้ำ , การอพยพชาวบ้านออกจากรัศมี 5 กม., ให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยการถมดินกลับในบ่อเหมืองให้มากที่สุด และให้ปลูกป่าทดแทน ,ให้นำพืชที่ปลูกใน wetland ไปกำจัด และปลูกเสริมทุก 18 เดือน และให้ทำการขนส่งเปลือกดิน โดยใช้ระบบสายพานที่มีการติดตั้งระบบสเปรย์น้ำตามแนวสายพาน โดยทาง กฟผ.แม่เมาะได้ยื่นแก้ไขมาตรการให้เจ้าหน้าที่บังคับคดี ศาลปกครองเชียงใหม่ไปแล้ว

-เผยคำสั่งศาลปกครองสูงสุด กรณีสนามกอล์ฟ

ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวลานนาโพสต์ได้มีข้อสงสัยประเด็นของสนามกอล์ฟ และสวนพฤกษชาติ ซึ่งคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด หน้า 109-111 ระบุไว้ชัดเจนว่า “กรณีที่ห้า ผู้ถูกฟ้องที่ 3 (อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) อุทธรณ์ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เสนอไว้ในรายงานฯ ข้อ 1.17 ที่กำหนดว่า ให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยการถมดินกลับในบ่อเหมืองให้มาที่สุดและปลูกป่าทดแทนนั้น กรณีนี้เห็นว่า เมื่อพิจารณารายงานการตรวจสอบของผู้ถูกฟ้องที่ (อุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง) ตามหนังสือที่ ลป 0028(1)/32 ลงวันที่ 1 ก.ค.2556 ที่ระบุว่า ผู้ถูกฟ้องที่ 7 มิได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เสนอไว้ในรายงานฯข้อ 1.17 ประกอบกับผลการตรวจสอบของคณะผู้ตรวจร่วม ตามบันทึกการตรวจสอบร่วม ลงวันที่ 15 ส.ค. 2546  ที่คณะผู้ตรวจร่วมมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะว่า การฟื้นฟูพื้นที่ภายหลังการทำเหมืองแร่ สามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ การฟื้นฟูสภาพพื้นที่สวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟสามารถทำได้ เนื่องจากสามารถลดผลกระทบที่เกิดขึ้นภายหลังจากการทำเหมือง จากการชะล้างพังทลายของน้ำและลมได้ อีกทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์เป็นสถานที่พักผ่อนของชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงและพนักงาน  ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 นำพื้นที่ภายหลังการทำเหมืองส่วนหนึ่งไปทำเป็นส่วนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ  มิได้นำไปฟื้นฟูให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยการถมดินกลับในบ่อเหมืองให้มากที่สุด และปลูกป่าทดแทน ซึ่งตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เสนอไว้ในรายงานฯ ข้อ 1.14 กำหนดไว้ชัดเจนให้ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ทำการฟื้นฟูขุมเหมืองให้มีสภาพใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยวิธีการถมดินกลับในบ่อเหมืองและปลูกป่าทดแทนเท่านั้น  มิได้มีเงื่อนไขในมาตรการดังกล่าวที่ให้อำนาจผู้ถูกฟ้องที่ 7 นำพื้นที่ขุมเหมืองไปจัดทำเป็นสนามกอล์ฟหรือสวนพฤกษชาติ แม้ว่าการทำเป็นสวนพฤกษชาติจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนก็ตาม  แต่ตราบใดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ยังมิได้อนุญาตให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 แก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เสนอไว้ในรายงานฯ ข้อ 1.14 ก็ถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องที่ 7 ต้องทำการฟื้นฟูขุมเหมืองให้มีสภาพใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยวิธีการถมดินกลับในบ่อเหมืองและให้ปลูกป่าทดแทนเท่านั้น โดยเฉพาะการทำสนามกอล์ฟซึ่งเป็นกิจการที่ต้องทำสนามหญ้าและใช้น้ำในการบำรุงรักษา ย่อมส่งผลกระทบต่อการรักษาปริมาณน้ำตามธรรมชาติ และการใช้ทรัพยากรน้ำของประชาชนในบริเวณใกล้เคียงอย่างเหมาะสม  การที่ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ทำการฟื้นฟูสภาพขุมเหมืองด้วยวิธีการทำเป็นสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เสนอไว้ในรายงานฯ ข้อ 1.14 และถือว่าเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ  อุทธรณ์ผู้ถูกฟ้องที่ 3 และผู้ถูกฟ้องที่ 7 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

-กฟผ.ไม่ยื่นต่อสู้ในศาลชั้นต้น

“ส่วนที่ผู้ถูกฟ้องที่ 3 (อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) อุทธรณ์ว่า สวนพฤกษศาสตร์และสนามกอล์ฟอยู่ในพื้นที่บริเวณพักผ่อนตามแผนผังการฟื้นฟูที่ระบุในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และอยู่นอกเขตสัมปทานการเหมืองแร่นั้น  กรณีนี้เห็นว่า ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ข้อ101 วรรคสอง  กำหนดว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นคำอุทธรณ์นั้น ผู้อุทธรณ์จะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในคำอุทธรณ์ และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลปกครองชั้นต้น แต่ถ้าปัญหาข้อใดเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือปัญหาเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ ผู้อุทธรณ์จะยกปัญหาข้อนั้นขึ้นกล่าวในคำอุทธรณ์หรือในชั้นอุทธรณ์ก็ได้ เมื่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนไม่ปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ได้ยกประเด็นว่าสวนพฤกษศาสตร์และสนามกอล์ฟอยู่ในพื้นที่บริเวณพักผ่อนตามแผนผังการฟื้นฟูที่ระบุในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) และอยู่นอกเขตสัมปทานการทำเหมืองขึ้นต่อสู้ไว้ในศาลปกครองชั้นต้น ทั้งที่หากข้ออ้างดังกล่าวมีอยู่จริง ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ก็ชอบที่จะต่อสู้เป็นประเด็นไว้ในศาลปกครองชั้นต้นแล้ว คำอุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นการยกข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลปกครองชั้นต้นขึ้นอ้างในการยื่นคำอุทธรณ์ และไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือปัญหาเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะที่ผู้ถูกฟ้องที่ 7 จะยกขึ้นกล่าวอ้างในคำอุทธรณ์ตามข้อ 101 วรรคสอง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 คำอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องที่ 3 และผู้ถูกฟ้องที่ 7 ในข้อนี้จึงไม่อาจรับฟังได้

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้สอบถามว่า เมื่อมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดพิจารณาออกมาเช่นนี้แล้ว กฟผ.ยังคงยืนยันว่าพื้นที่สนามกอล์ฟและสวนพฤกษชาติไม่ได้อยู่ในพื้นที่ขุมเหมือง ถูกต้องหรือไม่

-วิจารณ์ศาลอาจเข้าข่ายละเมิด

นายถาวร งามกนกวรรณ  ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ กล่าวว่า เรื่องพื้นที่สนามกอล์ฟ ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดจะดูเอกสารและข้อมูลหลักฐานเป็นหลัก การไปวิพากษ์วิจารณ์ อาจเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาล แม้จะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยก็ตาม ถ้าคดีสิ้นสุดแล้วก็คือจบ ถ้าสืบทราบภายหลังว่า กฟผ.ไม่ดำเนินการตามคำพิพากษา ก็จะมีกระบวนการตรวจติดตามจากชุมชนและหน่วยงานภายนอกอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว เชื่อว่าทุกคนที่อ่านคำพิพากษาความเห็นไม่เหมือนกันเป็นเรื่องปกติ แต่ต้องเคารพคำสั่งศาล ชุมชนในอำเภอแม่เมาะไม่ว่าจะชมหรือด่า กฟผ. ก็ให้การดูแลอย่างทั่วถึงทั้งหมด ไม่เลือกปฏิบัติ ในวันที่สำนักงานศาลปกครองเชียงใหม่ตรวจติดตามผลการดำเนินการ มีชาวบ้านไปร้องเรียนว่า ถูกเจ้าหน้าที่ กฟผ.รังแก ข่มขู่

ในฐานะที่ผมเป็นผู้ดูแลโรงไฟฟ้าแม่เมาะลำปาง ขอยืนยันว่า กฟผ.ไม่มีนโยบายที่จะเลี้ยงคนประเภทนี้ไว้ แต่เนื่องจากคนของ กฟผ.มีเกือบ 5,000 คน อาจจะมีบ้างเป็นพวกนอกคอก แต่ถ้ารู้ตัวก็จะจัดการขั้นเด็ดขาดให้ออกทันที ที่ผ่านมา กฟผ.ต้องการทำความจริงให้ปรากฏ เราไม่ต้องการให้ใครมาแบล็คเมล์ การช่วยเหลือเนื่องจากเงินนี้เป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน บางส่วนถ้าพูดกันจริงๆ ที่มาของบประมาณแบบมีตังค์ทอนเราก็ไม่ให้ เพราะเมื่อถึงเวลาฝ่ายบริหารติดคุกนะครับ ขอเรียนให้ทราบว่า ในเรื่องที่เป็นคำสั่งศาลออกมาแล้ว เราไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนแปลงอะไรสุดท้าย ในฐานะผู้ถูกฟ้อง 1 ใน 11 ราย ก็ต้องปฏิบัติตามอย่างครบถ้วนที่สุด และเจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับคดีก็ได้เดินทางมาตรวจติดตามและได้บันทึกข้อกังวลต่างๆเสนอไป แล้วแต่ศาลท่านจะพิจารณาเอง

-สภาทนายความเตรียมยื่นบังคับคดี

ด้านนายวิโรจน์ ช่างสาร  สภาทนายความ เป็นตัวแทนฝ่ายผู้ฟ้อง กล่าวว่า  ขณะนี้ทางผู้ฟ้องได้มีการหารือกัน โดยจะมีการยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ศาลบังคับคดีให้ กฟผ.แม่เมาะปฏิบัติตามคำพิพากษา เพราะตอนนี้ทางศาลได้รับรายงานจากทาง กฟผ.เพียงฝ่ายเดียว  เรื่องสนามกอล์ฟทาง กฟผ.ก็ไม่ได้มีการสู้คดีมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์จึงไม่รับฟังประเด็นนี้  ทางสภาทนายความจึงอยู่ระหว่างกำหนดเวลาที่จะไปลงพื้นที่พบกับชาวบ้านผู้ฟ้อง และจะไปยื่นคำร้องให้ศาลปกครองบังคับคดีกับ กฟผ.ต่อไป

-คดีเก่าจบ คดีใหม่อาจเกิด

นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ เปิดเผยว่า หลังจากที่ตัวแทนกลุ่มสนับสนุนงานคดีและบังคับคดีปกครอง ศาลปกครองเชียงใหม่ ได้ลงพื้นที่ กฟผ.แม่เมาะ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.58 ที่ผ่านมา เพื่อติดตามการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด พร้อมกับตรวจสถานที่พิพาทตามประเด็นที่ศาลตัดสิน 5 ประเด็น   ทางผู้ฟ้องคดีได้มีการหารือกับทีมทนายความอยู่ ในเมื่อคำพิพากษาออกมาก็น้อมรับ แต่ในขณะเดียวกันเราก็เห็นต่างจาก กฟผ. ถึงแม้ กฟผ.จะบอกว่าทำตามคำพิพากษาแล้วก็ตาม แต่ได้ทำหลังจากที่ศาลมีคำสั่งแล้ว   ซึ่งขณะนี้ กฟผ.ได้ยื่นแก้ไขมาตรการใหม่ให้ทางศาลพิจารณาแล้ว หากศาลมีความเห็นว่า กฟผ.ปฏิบัติตามชอบแล้ว เราก็คงจบเรื่องนี้ไป แต่จะกลับไปทบทวนใหม่ว่าคำฟ้องและหลักฐานการฟ้องมีตรงไหนที่เป็นจุดอ่อนอยู่  ไม่ได้หมายความว่าคดีนี้จบไปแล้ว แต่คดีใหม่จะไม่เกิดขึ้น

นางมะลิวรรณ กล่าวอีกว่า  เมื่อวันที่ 7 ก.ค.58 ได้ไปติดตามความคืบหน้าของคดีที่ศาลปกครองเชียงใหม่ ว่าศาลมีความเห็นชอบอย่างไรกับการลงพื้นที่เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ศาลยังไม่ได้สรุปความเห็นดังกล่าว ในขณะเดียวกันทางฝ่ายบังคับคดีก็รอทางฝ่ายผู้ฟ้องแสดงความเห็นต่างยื่นไปให้ศาลด้วย

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1036 วันที่ 10-16  กรกฏาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์