วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ปล่อยกู้ 9 ล้าน ช่วย ส.กองทุนฟื้นฟูฯ


กองทุนฟื้นฟูฯเกษตรกร สนับสนุนงบกว่า 9 ล้านบาท ส่งเสริมอาชีพเกษตรกรลำปาง พร้อมช่วยชำระหนี้แทนเกษตรกรที่เป็นสมาชิกอีก 5 ราย เป็นเงิน 1.2 ล้านบาทเศษ
           
นางพรสวรรค์ สมาน หัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรมีหน้าที่ในการจัดการหนี้ให้แก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิกของกองทุนฯ และการพัฒนาส่งเสริมฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรรมให้มีความสามารถในการประกอบอาชีพการเกษตรจนสามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  โดยเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 58 ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ จ.ลำปาง ได้ประชุมรายงานแผนงานและโครงการที่สมาชิกขอรับงบประมาณอุดหนุนและงบกู้ยืมให้แก่สมาชิก ในปี 2558  ซึ่งสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ อนุมัติงบประมาณให้แก่กลุ่มในปีนี้ จำนวน 14 กลุ่ม  18 โครงการ คือ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการเกษตรบ้านทุ่งปิง  กลุ่มเลี้ยงวัว หมู่ 4 เมืองปาน กลุ่มเกษตรกรทำไร่บ้านท่าเดื่อ กลุ่มเกษตรกร หมู่ 8 พัฒนา  กลุ่มร่วมใจพัฒนาอาชีพ  กลุ่มร่วมใจพัฒนา  ธนาคารหมู่บ้านตามแนวพระราชดำริบ้านมั่ว  เกษตรกรบ้านบอมพัฒนาและสัจจะออมทรัพย์  กลุ่มเกษตรกรรายย่อยสบปุง  ส่งเสริมอาชีพสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแจ้ซ้อน กลุ่มร่องเคาะพัฒนา  กลุ่มบ้านปงสามัคคี  กลุ่มเกษตรกรหมู่ 9 และกลุ่มเลี้ยงสัตว์บ้านทุ่ง  ซึ่งส่วนใหญ่จะขอสนับสนุนตามโครงการเลี้ยงโค เลี้ยงสุกร  ปลูกผักปลอดสารพิษ  และเกษตรกรผสมผสาน  รวมงบประมาณทั้งหมด  9,157,440 บาท เป็นเงินอุดหนุน 20,440 บาท และเงินกู้ยืม 9,137,000 บาท
           
นางพรสวรรค์ กล่าวอีกว่า ปีงบประมาณ 2558 มีกลุ่มที่ขอสนับสนุนเงินกู้จากสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ 16 กลุ่ม แต่ได้มีการขอถอนเรื่องออกไป 2 กลุ่ม จึงไม่ได้รับการอนุมัติ เชื่อว่าหากทั้ง 2 กลุ่มไม่ขอถอนการให้ความช่วยเหลือ ก็จะได้รับการอนุมัติแน่นอน ส่วนการจัดการชำระหนี้แทนเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ปี 58 จำนวน 5 ราย เป็นเงิน 1,268,732.22 บาท
           
ด้านนายสำคัญ วรรณบวร ว่าที่คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ภูมิภาคที่ 1 (17 จังหวัดภาคเหนือ) กล่าวว่า สมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้สิทธิในการรับความช่วยเหลือจากสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ทั้งด้านการจัดการหนี้และด้านการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม  แต่ปัญหาคือสมาชิกต้องการรับความช่วยเหลือในรูปแบบประชานิยมมากกว่าการพัฒนาและฟื้นฟู  ซึ่งเป็นการพัฒนาคนให้สมาชิกเข้าใจเรื่องรูปธรรมการสร้างจิตสำนึกให้ทุกคนรักศักดิ์ศรีของความเป็นเกษตรของตน  เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตนเองเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ จึงไม่กระตือรือร้นในความสำคัญของกองทุน ดังนั้น สมาชิกต้องตื่นตัวที่จะร่วมกิจกรรมกับกองทุน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1043 วันที่ 28 สิงหาคม -3 กันยายน 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์