วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ส่งออกไทยซบเซา ผู้ประกอบการลำปาง ปรับทิศธุรกิจทวนกระแส

         
หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ได้ประเมินสถานการณ์การส่งออกของประเทศ และทบทวนเป้าหมายการส่งออกใหม่ โดยเบื้องต้นคาดว่าเป้าหมายการส่งออกใหม่จะปรับลดลงเหลือร้อยละ 0 แต่จะติดลบหรือไม่นั้น จะต้องหารืออีกครั้ง โดยเป้าหมายดังกล่าว จะปรับลดจากคาดการณ์ปัจจุบันที่ตั้งไว้ร้อยละ 1.2 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวอย่างที่คาด และราคาน้ำมันในตลาดโลกยังไม่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้มาตรการการผลักดันการส่งออกของรัฐบาลที่ดำเนินการขณะนี้จะเริ่มปรากฏผลออกในช่วงต้นปีหน้า
           
อนุรักษ์ นภาวรรณ กรรมการบริหาร ในเครืออินทราเซรามิค จ.ลำปาง หนึ่งในธุรกิจอุตสาหกรรมเซรามิกส่งออก ซึ่งมีฐานตลาดหลักในกลุ่มสหรัฐอเมริกาและยุโรป เห็นด้วยว่าในภาพรวมของการส่งออกไทยยังมีสถานการณ์ไม่ดีต่อเนื่อง 2-3 ปีแล้ว ในส่วนการส่งออกของอินทราเซรามิก ครึ่งปีแรกของปี 58 นี้อยู่ในภาวะทรงตัว โดยตลาดอเมริกามีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ส่วนตลาดยุโรปยังคงซบเซาไม่มีที่ท่าว่าจะดีขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกลดลง ราว 10-20 แต่ยังโชคดีที่ภาวะค่าเงินบาทแข็งตัวทำให้ตัวเลขรายได้ขยับขึ้นตามเล็กน้อย  อย่างไรก็ตามเชื่อว่าอุตสาหกรรมส่งออกครึ่งปีหลังยังคงต้องเผชิญกับผลกระทบ  
           
"ในเรื่องของการปรับตัว ผมเชื่อว่าทุกธุรกิจอุตสาหกรรมส่งออกที่อยู่รอดในปัจจุบันปรับตัวกันทุกทาง แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีผลกระทบบ้าง ดังนั้นการปรับตัวด้านการตลาดเป็นปัจจัยสำคัญในการอยู่รอดท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังผันผวน " นายอนุรักษ์กล่าว
           
พนาสิน ธนบดีสกุล ผู้บริหารในเครือธบดีเซรามิค หนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกเซรามิกของลำปาง เผยว่า ในภาพรวมมองว่าการส่งออกไทยยังคงเจอผลกระทบหลายด้านในเรื่องเดิมๆ ทั้งเรื่องทุนและแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง  แม้ขณะนี้จะได้รับผลดีเรื่องค่าเงินบาทแข็งตัวทำให้มีผลกำไรจากการค้าขายเพิ่มขึ้น แต่ลูกค้าบางส่วนก็ค้าขายเงินบาทซึ่งอาจจะไม่ได้ผลประโยชน์ในข้อนี้ในบางกลุ่ม หากมองมิติของปริมาณการส่งออกยอมรับว่าตัวเลขปริมาณการส่งออกลลดลง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้ซื้อมีความกังวลเรื่องของภาวะเศรษฐกิจยุโรป(EU) ถดถอย
           
"ธนบดี เรามีตลาดหลักอันดับหนึ่งอยู่ที่ ยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้ยังถือว่าทรงตัวและยังไม่ถือว่าดีนัก ซึ่งเราเองก็พัฒนาปรับตัวไปหลายด้าน จากที่เราเคยคิดงานออกมาแล้วขาย รอคนมาซื้อ ออกบูธในงานแฟร์ต่างประเทศ พบลูกค้า และเสนอไอเดีย ทำโปรเจกต์รวมกันเพื่อสนองตอบความต้องการทางตลาดใหม่ๆ ขณะนี้เรามีตลาดใหม่ แซงหน้าตลาดอียูมาแล้ว คือกลุ่มตลาดบนในจีนซึ่งมีกำลังซื้อค่อนข้างดี และมองหาลูกค้าที่ยั่งยืนซื้อขายกันระยะยาว ซึ่งเป็นแนวทางที่เรายังอยู่ได้ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถอดถอย" กรรมการผู้จัดการ ในเครือธบดีเซรามิคกล่าว
           
สัญลักษณ์ เลิศปัญญานุช กรรมการผู้จัดการ บริษัท คีรามอสอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทในเครือ ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากไม้รายใหญ่ ไซแอมวูดเดนแวร์ จำกัดซึ่ง มี 1 ใน 3 โรงงานในเครือตั้งอยู่ ในลำปาง เผยว่า ต้องยอมรับว่าภาพรวมของการส่งออกไทยอยู่ในภาวะไม่ค่อยดีนัก จากการสื่อสารระหว่างกันในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม SME ด้วยกันพบว่า หลายโรงงานยอดส่งออกหาย ขณะที่หลายโรงงานก็ยังพออยู่ได้ ซึ่งตนมองว่า การส่งเสริมการส่งออกจากภาครัฐ บางส่วนอาจจะตอบโจทย์ไม่ตรงเป้ามากนัก เช่น การจัดงานแฟร์ขนาดใหญ่ในประเทศ ก็ยังขาดการประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายซึ่งหมายถึงผู้ซื้อ  ทำให้ความคาดหวังและเป้าหมายการส่งออกไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ เพราะลูกค้าในงานแฟร์ส่วนใหญ่ยังคงเป็นลูกค้าในประเทศ
           
ส่วนประเด็นเรื่องของการปรับตัวของผู้ประกอบการนั้นเป็นเรื่องจริงที่ทุกฝ่ายต้องพูดถึงและยอมรับว่า แม้รัฐบาลจะมีมาตรการอย่างไรจะโทษรัฐบาลฝ่ายเดียวไมได้เพราะมันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยในภาพรวมเศรษฐกิจของโลก   ดังนั้นขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการแต่ละรายว่าจะปรับตัวเองอย่างไรให้มีศักยภาพในการแข่งขันและอยู่รอดในภาวะถดถอย
           
“เราเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากไม้ประเภทเฮาส์แวร์ มาหลายสิบปี รุ่นพ่อผมทำมา 40 ปี รุ่นลูกอีก 30 ปี เรามีประสบการณ์และล้มลุกมามากพอที่จะเรียนรู้ในการปรับตัว มันหมดยุคของการเป็นโรงงานรับจ้างผลิตไปนานแล้ว ยุคนี้เป็นยุคของการแสดงศักยภาพท่ามกลางการแข่งขันทุกด้าน เราเน้นการตลาดแบบสร้างโอกาสให้ตัวเองและพร้อมจะยืนอยู่บนความเสี่ยง แต่เป็นความเสี่ยงที่มีการประเมินความเป็นไปได้ ปัจจุบันเรายังคงรักษาตลาดอเมริกากับยุโรปเอาไว้ได้ดี เพราะสินค้าในไลน์การผลิตของเราตรงกับไลฟ์สไตล์ของตลาดกลุ่มนี้ คือ เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ในบ้านของเขาเป็นเหมือนแฟชั่น มีการเปลี่ยนใหม่ ซื้อเป็นของขวัญ มีเรื่องของเทรนด์ฤดูต่างเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้การตลาดมันยังคงเดินเวียนไปได้ไม่มีจบสิ้น ในส่วนของการส่งออกของเราอาจจะเรียกได้ว่าเราสวนกระแสที่ว่าการส่งออกซบเซา "
           
สัญลักษณ์ ระบุว่า การตลาดในยุคนี้ลูกค้าต้องการบริการที่เบ็ดเสร็จในการซื้อขายระหว่างกันมากขึ้น โดยผู้ผลิตที่มีความสามารถในการเทรด และขนส่งสินค้าถึงท่าเรือได้ทั้งกระบวนการจะเป็นผู้ได้เปรียบในตลาดส่งออก และผู้ผลิตที่สามรถผลิตได้ตามความต้องการของลูกค้า และมีความสามารถในการบริหารต้นทุนให้สัมพันธ์กับการผลิตและส่งสินค้า ในเงื่อนไขที่ยืดหยุ่นระหว่างกันได้ จะเป็นทางรอดสำคัญมากกว่ารอให้รัฐเป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือ
 
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1040 วันที่ 7 - 13 สิงหาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์