วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2558

บ้านท่าสี-บ้านดงฮึด ชูอันซีนชุมชน ภาพเขียนโบราณ ถ้ำ บ้านชนเผ่า

           
จากจุดเริ่มต้นของชาวบ้านท่าสีตำบลบ้านดง อ.แม่เมาะ ที่อยากผลักดันให้แหล่งค้นพบภาพเขียนสีโบราณในเขตภูเขาใกล้หมู่บ้านให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว จึงเกิดโครงการ สัมมนาเชิงปฏิบัติการ ส่งเสริมการท่องเที่ยวตำบลบ้านดงเมื่อวันที่ 28-29 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ณ ค่ายฝึกการรบประตูผา ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ เป็นกิจกรรมจุดประกายความคิดและแนวทางอย่างเป็นรูปธรรม
           
กิจกรรมครั้งนี้มีผู้มีประสบการณ์ในการบุกเบิกแหล่งท่องเที่ยวอย่าง ดร.บุญทา ชัยเลิศ เจ้าของปางช้างแม่แตง จ.เชียงใหม่ คนรุ่นใหม่ไฟแรงอย่างพัฒนา บุญเป็ง เจ้าของ ฟาร์มแกะฮักยูลำปาง และ นภดล วุชวงค์ เจ้าของวังวิว อ.เถิน ลำปาง แถมนักเชื่อมประสานจากภาครัฐ อย่าง ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำปาง จตุรงค์ ภักดีวานิช มาเป็นแม่แบบ และแรงบันดาลใจให้แก่ชาวบ้าน ท่าสี และตัวแทนทุกหมู่บ้านในพื้นที่ตำบลบ้านดงในครั้งนี้ โดยการสนับสนุนงบประมาณจัดเวทีนี้จาก อบต.บ้านดง และ กองทุนรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ
           
ชาญ เปียงสืบ ผู้ใหญ่บ้านท่าสี ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เผยว่า หลังจากมีการค้นพบภาพเขียนสีโบราณ อายุ 3,000-6,000 ปี และยังมีแหล่งขุดค้นโบราณคดี บริเวณหน้าผาดอยผ้าก้าน คล้ายกับภาพเขียนสีประตูผา และถ้ำหินงอกหินย้อย 8 แห่ง ที่มีความงามอัศจรรย์เป็นอันซีน(Unseen) แห่งใหม่ มีจุดชมวิว พิชิตยอดเขา และจุดประวัติศาสตร์แหล่งหลบซ่อนของทหารญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเขตภูเขาหินปูนที่ตั้งตระหง่านเป็นทิวยาวสวยงามคู่ขนานไปกับริมถนนหลวง สายลำปาง-งาว นอกจากนี้ยังมีวิถีชุมชนพื้นราบ และวิถีชนเผ่าในหลายหมู่บ้านติดเขาลูกนี้  
           
แต่ที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำให้ชาวบ้านรวมตัวกันเองเพื่อผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน แม้ขณะนี้มีไกด์ท้องถิ่นที่เริ่มบุกเบิกเส้นทางท่องเที่ยวบ้างแล้ว แต่ชาวบ้านยังขาดความรู้ความเข้าใจและแนวทางกระบวนการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้เป็นรูปธรรมได้ จึงขอให้นักวิชาการจากหลายสถาบันเข้ามาช่วยเหลือด้านต่างๆ เช่นข้อมูลด้านขุดค้นโบราณคดี และการจัดการท่องเที่ยว และขอรับการสนับสนุนหน่วยงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.)แม่เมาะและ อบต.บ้านดง เข้ามาสนับสนุนเรื่องการพัฒนาเส้นทางเดินป่าเข้าไปชมภาพเขียนสีโบราณ นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านบางส่วนเริ่มทำโฮมสเตย์สำหรับบริการนักท่องเที่ยวแล้ว
           
ดร.บุญทา ชัยเลิศ เจ้าของปางช้างแม่แตง กล่าวว่า การผลักดันสถานที่ใดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวนั้นจุดสำคัญต้องให้ชาวบ้านและชุมชนเข้าใจในทิศทางเดียวกัน รวมถึงกระจายผลประโยชน์และรายได้ให้กับชาวบ้านและชุมชนโดยรอบ พื้นที่บ้านท่าสีซึ่งมีภาพเขียนสีโบราณและภูเขาที่โดดเด่นสวยงามเป็นทรัพยากรต้นทุนที่แตกต่าง มีจุดขายด้านการท่องเที่ยวที่ชัดเจนทางกายภาพและภูมิศาสตร์ มีความเป็นไปได้สูงเพราะติดถนน ใกล้เมือง และมีหน่วยงาน กฟผ.แม่เมาะ เป็นแหล่งงบประมาณสนับสนุนการพัฒนา แต่สิ่งสำคัญในการจะผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่จัดการโดยชุมชน ชาวบ้านต้องรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งและ มีผู้เชี่ยวชาญหลายด้านเป็นที่ปรึกษาในการขับเคลื่อน เชื่อว่า หากทำอย่างจริงจังแหล่งท่องเที่ยวบ้านท่าสีจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อ
           
จตุรงค์ ภักดีวานิช ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำปาง ระบุว่า จากตัวอย่างการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่จัดการโดยชุมชน ที่ดอยหนอก อำเภอวังเหนือ สำเร็จมาแล้ว เป็นเรื่องของชุมชนที่เข้มแข็งในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและลงมือทำ โดยมีหน่วยงานรับและส่วนท้องถิ่นเป็นพี่เลี้ยง และเกิดการมีส่วนร่วมที่แท้จริง มีระบบการจัดการที่ดีทั้งการบริการ การบำรุงรักษา ไปจนถึงการจัดการขยะ ในส่วนของชุมชนบ้านที่สีมีข้อได้เปรียบมากมายโดยสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา ลำปางพร้อมที่จะร่วมผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของลำปาง  
           
ขณะที่ พัฒนา บุญเป็ง เจ้าของ ฟาร์มแกะฮักยูลำปาง และ นภดล วุชวงค์ เจ้าของวังวิว แนะว่าการวางแผนการจัดการท่องเที่ยวจะต้องมองถึงกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดที่จะเข้ามาเที่ยวแต่ละจุดให้ตรงเป้า เพราะการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ วิถีชุมชนและวัฒนธรรม จะมีนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มที่สนใจ ดังนั้นต้องนำเรื่องภูมิทัศน์ อากาศและกลิ่นอายของวิถีชุมชน และประวัติศาสตร์ ที่แตกต่างสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวออกมาเป็นจุดขาย
           
ดร.ศรีศุกร์ นิลกรรณ์ นักวิชาการ ผู้ดำเนินโครงการสัมมนาฯ ครั้งนี้ กล่าวว่า ความพร้อมและความตื่นตัวของชาวบานท่าสีเป็นเพียงจุดเริ่มต้นและเกิดการผลักดันให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ และยังเกิดเชื่อมโยงเครือข่ายชุมชนในใกล้เคียงทั้งตำบลมีส่วนร่วมเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับทรัพยากรในท้องถิ่น    การสัมมนาครั้งนี้ชาวบ้านได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว และมีทิศทางการเชื่อมโยงหน่วยงานที่จะเข้ามาสนับสนุน เรียนรู้การวิเคราะห์จุดดีจุดด้อยของท้องถิ่นเพื่อเป็นฐานในการวางแผนโครงการพัฒนาที่ทำได้จริง รวมถึงการจัดวางกรอบแนวทางออกแบบเส้นทางท่องเที่ยว ทั้งเชิงอนุรักษ์ เชิงวัฒนธรรม วิถีชุมชนพื้นราบและอีก 4 ชนเผ่าไทยภูเขาในพื้นที่ตำบลบ้านดงแต่ยังต้องอาศัยการสนับสนุนและความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย ช่วยสนับสนุนภาพเขียนสีบ้านที่สีและ ตำบลบ้านดง อ.แม่เมาะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของลำปาง และสร้างรายได้ท่องเที่ยวให้ชุมชนที่ยั่งยืนในอนาคต

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1039  วันที่ 31 กรกฏาคม - 6 สิงหาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์