วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2558

บทเรียนราชประสงค์ !


ม้าสีหมอก                                              
    
รากฏการณ์ระเบิดบริเวณสี่แยกราชประสงค์ค่ำวันนี้ เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับการรายงานข่าวในสถานการณ์รุนแรง ประการหนึ่งต้องยอมรับว่า ผู้ก่อเหตุเลือกใช้บริเวณที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจสำคัญและการท่องเที่ยวของประเทศ
การขยายผลด้วยภาพและข่าวเหตุการณ์ของสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างครึกโครม ก็เท่ากับช่วยกระพือข่าวให้เห็นว่าประเทศไทยไม่มีความมั่นคง ปลอดภัย ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงและกว้างขวางยิ่ง

ถึงแม้จะคาดเดาได้ว่า ผลต่อเนื่องจะเป็นอย่างไร แต่ด้วยคุณค่าข่าว และบทบาทหน้าที่ นายประตูข่าวสาร ก็ย่อมปฏิเสธในการนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน รอบด้านไม่ได้

แต่ประเด็นสำคัญคือสื่อจะเสนอข่าวและภาพโศกนาฏกรรมกลางกรุงครั้งนี้อย่างไร โดยไม่บกพร่องในหน้าที่ ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความรับผิดชอบในฐานะคนไทยคนหนึ่งด้วย

ความรับผิดชอบข้อแรก ก็คือ ต้องแยกบทบาทความเป็นคนข่าว และอคติส่วนตัวออกจากกัน เช่น นักข่าวมีความโน้มเอียงหรือมีทัศนคติทางการเมืองไปในทางหนึ่งทางใด หรือมีความเชื่อสำเร็จรูปเหมือนกับนักวิชาการคนหนึ่งที่ว่า ไม่ว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้นที่ใด จะต้องเป็นฝีมือของผู้สูญเสียอำนาจคนนั้น

เราไม่อาจจะใช้อคติส่วนตัว บนพื้นที่สาธารณะ

ประการต่อมา การเสนอข่าวและภาพผู้สูญเสีย ต้องคำนึงมิให้ล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเป็นคนชาติภาษาไหน

และต้องไม่ซ้ำเติมความทุกข์หรือโศกนาฏกรรมความยากลำบาก ความทุกข์ทรมาน ด้วยการนำเสนอภาพศพญาติของเขาในสภาพอเนจอนาถ หรือนำเสนอภาพศพซ้ำๆ ในสื่อโทรทัศน์

นอกจากนั้น ควรตรวจสอบที่มาหรือแหล่งข่าวให้ชัดเจน  ไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดี ในการขยายความขัดแย้งด้วยข่าวลวงต่างๆผ่านสื่อสังคมออนไลน์  เช่น ข่าว คสช.ประกาศหยุดราชการ หรือเตรียมประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
สิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุม และการสื่อสารในกรอบจริยธรรม คือผู้ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะเฟสบุ๊ค แพร่และแชร์ภาพชิ้นส่วนศพผู้เสียชีวิต หรือการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง เช่น การด่า บริภาษ ด้วยภาษาหยาบคาย รุนแรง กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง

เส้นแบ่งระหว่างสื่ออาชีพ กับผู้ที่เป็นเพียงผู้ใช้สื่อ อาจแยกแบ่งได้ชัดเจน จากปรากฏการณ์ครั้งนี้ และควรจะนิยามความเป็นสื่อแต่ละประเภท เพื่อให้ประชาชนได้รู้เท่าทันสื่อ และเป็นหลักให้เขาจำแนกได้ว่าจะให้ความเชื่อถือสื่อแต่ละประเภทอย่างไร

นอกจากสื่อสังคมออนไลน์แล้ว สื่อต่างประเทศ อาจมีบางบทความ หรือมีบทวิเคราะห์เหตุระเบิดครั้งนี้ โดยเชื่อมโยงกับหลายๆเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้อง สื่อไทยต้องระมัดระวังไม่ให้ เป็นเครื่องมือขยายความ ที่จะสร้างปัญหาความขัดแย้งในหมู่คนไทยให้มากขึ้น

นี่ย่อมเป็นโศกนาฏกรรมครั้งร้ายแรงที่สุดของสังคมไทยปีนี้ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของสื่อจะต้องรายงานข่าวตามปกติ อย่างครบถ้วน รอบด้าน

แต่ขณะเดียวกันสื่อก็ต้องใช้ความเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ มีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่ใช้ความเป็นสื่อซ้ำเติม ผู้สูญเสียหรือผู้เคราะห์ร้ายอีก

อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ระเบิดบริเวณสี่แยกราชประสงค์ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ภาพและรายงานข่าวจากพื้นที่ฉับพลันที่เกิดเหตุ ล้วนมาจากผู้คนในสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์

แน่นอนว่า ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่ มีแนวโน้มที่จะซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายมากขึ้น สร้างความเศร้าสะเทือนใจมากขึ้น ด้วยภาพซากปรักหักพังของสิ่งก่อสร้าง ไฟลุกท่วมรถจักรยานยนต์

ภาพผู้ได้รับบาดเจ็บร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวด ภาพชิ้นส่วนของมนุษย์ที่ถูกฉีกออกจากแรงระเบิดโดยไม่มีการเซ็นเซอร์

ซึ่งเป็นเรื่องปกติของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ในทุกครั้งที่มีเหตุรุนแรงถึงขั้นเสียเลือด เสียเนื้อเกิดขึ้น
แต่ครั้งนี้ สิ่งที่เปลี่ยนไป ก็คือในกลุ่มคนที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์นั้นเองกลับมีคนจำนวนไม่น้อย ได้แสดงพลังในการต่อต้านผู้ที่โพสต์ภาพตอกย้ำความสูญเสีย

มีคนจำนวนมากที่โพสต์ภาพให้กำลังใจผู้สูญเสีย โดยผ่านข้อความ และการตั้ง สเตตัสในรูปแบบต่างๆ เช่น หยุดทำร้ายประเทศไทย R.I.P ราชประสงค์ R.I.P ขอความกรุณา อย่าแพร่ภาพผู้เสียชีวิต โดยไม่เซ็นเซอร์
ในขณะที่กลุ่มสื่อมวลชน ก็มีคำเตือนจากคณะกรรมการควบคุมจริยธรรม และคณะกรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ให้ระมัดระวังในการเผยแพร่ภาพผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต จากสื่อสังคมออนไลน์

มีสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งที่ยังคงแชร์ หรือใช้ภาพเหล่านั้น แต่สื่อมวลชนส่วนใหญ่ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ ออนไลน์ และโทรทัศน์ ก็ได้ใช้ความระมัดระวังมากขึ้น ที่จะไม่ขยายภาพที่เป็นการซ้ำเติมชะตากรรมผู้ประสบเคราะห์กรรม หรือผู้สูญเสีย

เหตุระเบิดครั้งนี้ เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ได้แสดงบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการป้องกัน ห้ามปรามกันเอง และให้กำลังใจผู้สูญเสีย

ขณะที่สื่อก็แสดงให้เห็นการใช้เสรีภาพ ที่มีความรับผิดชอบชัดเจนมากขึ้น

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1042 วันที่ 21 - 27  สิงหาคม 2558)

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์