วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2558

กฟผ.ชัยชนะของผู้ปราชัย (จบ)

           
อกจากรายงานกำหนดให้ทำการติดตั้งม่านน้ำเพื่อเป็นการลดฝุ่นละอองในบรรยากาศ มีความยาว 800 เมตร ระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันออกกับบ้านหัวฝาย และระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันตกกับหมู่บ้านทางทิศใต้ ที่ถือว่า กฟผ.ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติแล้ว ยังมีอีกหลาประเด็น ที่ กฟผ.ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา
           
กรณีไม่ดำเนินการพิจารณาอพยพราษฎรบ้านห้วยคิง ออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร  แม้มีการอพยพราษฎรบางส่วนแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด ถือว่าเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ กฟผ.ต้องปฏิบัติ
           
อีกประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นที่โต้แย้งกันค่อนข้างมาก คือกรณีที่ กฟผ.ฟื้นฟูขุมเหมือง ทำเป็นสวนพฤกษชาติ และสนามกอล์ฟ ศาลเห็นว่ามาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม กำหนดไว้ชัดเจนให้ทำการฟื้นฟูขุมเหมืองให้มีสภาพใกล้เคียงกับสภาพธรรมชาติ โดยวิธีการถมดินกลับในบ่อเหมืองและให้ปลูกป่าทดแทน
           
“มิได้มีข้อความใดๆ ให้อำนาจ กฟผ.นำพื้นที่ขุมเหมืองไปจัดทำเป็นสนามกอล์ฟหรือสวนพฤกษชาติ การที่ กฟผ. ทำการฟื้นฟูสภาพขุมเหมืองด้วยวิธีการทำเป็นสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟจึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
           
ความบางตอนในคำพิพากษา ชัดเจน !
           
กฟผ.อุทธรณ์ว่า สวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟอยู่ในพื้นที่บริเวณพักผ่อนตามแผนผังการฟื้นฟูที่ระบุในรายการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และอยู่นอกเขตสัมปทาน ศาลเห็นว่า เป็นการยกข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงไม่พิจารณาอุทธรณ์ในประเด็นนี้
           
พูดให้เข้าใจง่าย คือ จะต้องไม่มีสนามกอล์ฟและสวนพฤกษชาติที่แม่เมาะ
           
กรณีที่ กฟผ.ต้องปฏิบัติอีกเรื่องหนึ่ง คือไม่ได้นำพืชที่ปลูกใน wetland ไปกำจัดและปลูกเสริมทุก 18 เดือน และไม่ได้ขุดลอกเพื่อเปลี่ยนทิศทางกาไหลของน้ำใน wetland  ของมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม
           
กรณีที่ กฟผ.มิได้วางแผนจุดปล่อยดินตามฤดูกาล มิได้กำหนดพื้นที่ Buffer Zone และทำ Bunker ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์สอดคล้องกันเพื่อป้องกันฝุ่น ข้อเท็จจริงรับฟังว่ายังคงมีปัญหาฝุ่นอยู่ กฟผ. ก็รับว่าในทางปฏิบัติไม่สามารถกำหนดจุดทิ้งดินตามฤดูกาลได้ กรณีนี้ กฟผ.ยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไข
           
อีกกรณีหนึ่ง คือ กฟผ.มิได้ทำรายงานการตรวจประเมินสิ่งแวดล้อม (Environmental Audit) ทุก 2 ปี เสนอให้ สผทราบตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนด ถือว่าเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด
           
สำหรับกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 16 สำนวน ฟ้องว่า กฟผ. ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เสนอไว้ในรายงานฯ และมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดโดย สผ.
           
ทำให้สิ่งแวดล้อม ตลอดจนชีวิต ร่างกาย สุขภาพอนามัย และทรัพย์สินเสียหาย และ ผู้ฟ้องคดีบางรายขอให้ กฟผ.ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเสียหายนั้น เป็นการฟ้องว่ากฟผ. กระทำละเมิดเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีดังกล่าวได้รับความเสียหาย ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มิใช่กรณีกฟผ. ในฐานะเจ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายจากการที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะก่อให้เกิดการแพร่กระจายของมลพิษ
           
ประเด็นนี้ กฟผ.ชนะ
           
เมื่อประมวลทั้งหมดแล้ว ศาลปกครองสูงสุดแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ประกอบด้วย
           
ให้กฟผ.ทำการติดตั้งม่านน้ำเพื่อเป็นการลดฝุ่นละอองในบรรยากาศ มีความยาว 800 เมตร ระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันออกกับบ้านหัวฝาย และระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันตกกับหมู่บ้านทางทิศใต้
           
ให้จัดตั้งคณะทางานระดับท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพิจารณาในการอพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบที่อาจนำไปสู่อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินและมีความประสงค์จะอพยพในการอพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ  กิโลเมตร
           
ให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยการถมดินกลับในบ่อเหมืองให้มากที่สุดและให้ปลูกป่าทดแทน เฉพาะในส่วนที่ กฟผ.นำพื้นที่ที่ต้องฟื้นฟูขุมเหมืองไปทำเป็นสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ
           
ให้นำพืชที่ปลูกใน wetland ไปกำจัด และปลูกเสริมทุกๆ 18 เดือน และต้องทำการขุดลอกเพื่อเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้าใน wetland
           
ให้ทำการขนส่งเปลือกดิน โดยใช้ระบบสายพานที่มีการติดตั้งระบบสเปรย์น้ำตามแนวสายพาน ให้วางแผนจุดปล่อยดิน โดยให้ตำแหน่งที่ปล่อยดินไม่อยู่ในตำแหน่งต้นลมที่พัดผ่านไปยังชุมชนที่อยู่โดยรอบ
           
ให้กำหนดพื้นที่ Buffer Zone ระยะจุดปล่อยดินกับชุมชน ให้เป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 50เมตร และควรจัดทำเป็น Bunker ให้จุดปล่อยดินอยู่ต่ำกว่าความสูงของ Bunker ในการปล่อยดินลงที่เก็บกองดินนั้นจะต้องกำหนดเป็นตารางที่แน่นอน โดยใช้ฤดูเป็นเกณฑ์ในการตัดสินตำแหน่งที่จะต้องห่างจากชุมชนมากที่สุด
           
ส่วนกรณีมาตรการฯ รายงานการตรวจประเมินสิ่งแวดล้อม (Environmental Audit) นั้น กฟผ.ได้จัดทำรายงานการตรวจประเมินสิ่งแวดล้อมเสนอต่อ สผ.แล้ว จึงไม่จำต้องออกคำบังคับให้ กฟผ ดำเนินการตามมาตรการข้อนี้ และให้กฟผ. ตรวจสอบกำกับดูแลการประกอบกิจการของ กฟผ. ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการออกประทานบัตรและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองลิกไนต์แม่เมาะของ กฟผ.

ในส่วนที่ กฟผ.แพ้คดี ศาลมีคำบังคับให้ กฟผ.ปฏิบัติตามภายใน 90 วัน นับแต่วันมีคำพิพากษา
           
แต่ในความเป็นจริง เวลาได้เดินทางผ่านจุดที่ กฟผ.ต้องปฏิบัติตามแล้ว มีหลายข้อที่ชัดเจนโดยเฉพาะประเด็นสนามกอล์ฟและสวนพฤกษชาติ
           
เวลาที่ผ่านมา กลับเป็นเวลาที่สิ้นเปลืองหมดไปกับการตีความ ตีความจนดูเหมือน กฟผ.ไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล
           
ถึงแม้จะเป็นการตีความที่คล้ายจะชนะชาวบ้าน แต่นี่คือชัยชนะที่ควรภาคภูมิหรือไม่

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1038  วันที่ 24 - 30  กรกฏาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์