วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

ประทับตรา 6 ผลิตภัณฑ์ลำปาง ผ่านมาตรฐาน Lanna Wellness


ตามที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน) ได้ดำเนินกิจกรรมในโครงการเสริมสร้างผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในรูปแบบใหม่ ภายใต้โครงการ ล้านนาเมืองสุขภาพ Lanna Wellness  (Toward Aging Society) ซึ่งมีหลายกิจกรรมการเชื่อมโยงผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในพื้นที่กลุ่มจังหวัด และได้จัดการประกวดเพื่อคัดเลือกผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแนวใหม่ รับรองมาตรฐาน Lanna Wellness ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.สถานประกอบการสปา 2.ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ 3.ประเภทโปรแกรมท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ โดยสถานประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมแสดงสินค้าและบริการ ในงานมหกรรมล้านนาเมืองสุขภาพ Lanna Expo 2015 ที่จะได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-13 กันยายน 2558 ที่ถึงนี้ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่
           
ทั้งนี้มีผู้ประกอบการในจังหวัดลำปางที่ได้รับการคัดเลือก ประกวดเพื่อคัดเลือกผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแนวใหม่ ไปร่วมรับประกาศเกียรติบัตรดังกล่าว ณ โรงแรมแกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2558 โดย สถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของลำปาง ที่ได้รับคัดเลือก คือ น้ำดื่มน้ำแร่จากแจ้ซ้อน กรีนเมาน์เทน และข้าวไรซ์เบอรี่จากไร่ภูมิสิทธิ์ แจ้ซ้อน ได้รับคัดเลือกในหมวด ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ  และยังมีกลุ่มที่ได้รับคัดเลือกในหมวดโปรแกรมการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ อีกหลายแห่งคือ  น้ำตกแจ้ซ้อน  ฮักยูลำปาง  ลำปางรักษ์สมุนไพร  ชุมชนบ้านป่าเหมี้ยง และ กลุ่มผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและน้ำแร่ โอโซนการ์เด้น
           
ในการนี้ ผู้ประกอบการทั้ง 6 ราย นำผลิตภัณฑ์ร่วมจัดแสดงในงานลานนาเอ็กโป ในโซนพื้นที่ มหกรรมล้านนาเมืองสุขภาพ lanna wellness ซึ่งแต่ละ รายมีผลิตภัณฑ์ใหม่นำเสนอหลากหลาย เช่น ฮักยู มีกลุ่มผลิตภัณฑ์จากใบและผลหม่อน และ ข้าวไรซ์เบอรี่ แปรรูปเป็นไอศครีมข้าวไรซ์เบอรี่ แมคคาเดเมียนัท จากดอยแม่แจ๋ม เมืองปาน เป็นต้น
           
นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวในโอกาสเป็นประธานมอบเกียรติบัตรในโครงการฯ ว่า การจัดโครงการนี้ขึ้นมาเป็นรูปแบบหนึ่งของการเริ่มต้นเชื่อมโยงการท่องเที่ยวและเรื่องสุขภาพเข้าด้วยกันที่เป็นรูปธรรม เพราะปัจจุบันคนทั่วโลกให้ความสนใจเรื่องสุขภาพ ดังนั้นการท่องเที่ยวส่วนหนึ่งจึงเกิดจากกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศที่สนใจในสุขภาพ ตามไปเสาะหาแหล่งท่องเที่ยวที่มีอาหารดี มีบริการด้านสุขภาพและความงามต่างๆในเส้นทางนั้นๆ ซึ่งการจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวที่บรรจุเอา สถานประกอบการที่มีสินค้าและบริการด้านสุขภาพเอาไว้สำหรับนักท่องเที่ยว จะมีส่วนช่วยเสริมสร้างรายได้ให้กับชุมชน และผู้ประกอบการอีกทางหนึ่ง
           
ขณะที่ผู้ประกอบการ ในจังหวัดลำปางที่ได้รับคัดเลือกในโครงการนี้ ต่างมีความยินดีและภาคภูมิใจในการพัฒนาสินค้าและบริการของตนเข้าสู่อีกมาตรฐานหนึ่ง (มาตรฐาน Lanna Wellness) ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันในการรักษาคุณภาพและพัฒนาให้เป็นที่ยอมรับในด้านการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ นอกเหนือจากมาตรฐานอื่นๆที่ต่างก็พัฒนากันอยู่แล้ว
           
ธุรกิจเชื่อมโยงที่มีแนวโน้มเติบโตได้อีก ได้แก่ ธุรกิจบริษัทตัวแทน/ที่ปรึกษาด้านสุขภาพ (Health Agency)  เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ช่วยเติมเต็มช่องว่างการบริการระหว่างโรงพยาบาลกับลูกค้าชาวต่างประเทศ โดยทำหน้าที่ติดต่อประสานงานและอำนวยความสะดวกในการนำลูกค้าชาวต่างประเทศเข้ามารับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาล อีกทั้งยังสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าชาวต่างประเทศที่ต้องการใช้บริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่ดูแลจัดการเดินทาง แนะนำโรงพยาบาลและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นัดหมายแพทย์เพื่อทำการรักษา รวมถึงการให้บริการเสริมด้านต่างๆ เช่น บริการจัดหาที่พัก บริการรถรับ-ส่ง และบริการนำเที่ยวอีกด้วย
           
ขณะที่รูปแบบการลงทุนในธุรกิจเชื่อมโยงที่มีศักยภาพ สามารถลงทุนได้ในพื้นที่ท่องเที่ยวหลักและพื้นที่ท่องเที่ยวรอง ได้แก่ ธุรกิจสถานบริการเพื่อสุขภาพขนาดเล็กแบบครบวงจร (Mini Compact) โดยผนวกบริการด้าน Medical และ Wellness เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งอาจเข้าไปตั้งอยู่ตามแหล่งช็อปปิ้งเซ็นเตอร์ หรือ Office Building ต่างๆ เพื่อความสะดวกของผู้บริโภคและเพิ่มความคล่องตัวในการเลือกใช้บริการ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1044 วันที่ 4 - 10 กันยายน 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์