วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558

เก่า สดใส ใหม่ขึ้นสนิม บทเรียนตลาดหลักเมือง

           
สำหรับพื้นที่ทางวัฒนธรรม ตลาดเก่า คนแก่ วิถีชีวิตดั้งเดิมแบบบ้านๆ ดูน่าเดิน น่าซื้อหาข้าวของ มากกว่าตลาดใหม่ ทันสมัย ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย หลายแห่งก็เป็นเช่นนี้ แต่ก็ดูเหมือนเป็นบทเรียนที่นายทุน หรือหน่วยงานรัฐ ไม่ใส่ใจ ตลาดหลักเมืองอันดูโอ่อ่า ก็เป็นบทเรียนหนึ่ง
           
ดูกาดทั้งหลายริมทาง ตั้งแต่ออกจากเชียงใหม่ กาดทุ่งเกวียนดูมอมแมม ที่วางขายของปะปน ไม่เป็นระเบียบ ที่จอดรถระเกะระกะ แต่ต่อให้มีกาดสร้างใหม่ ดูใหญ่โต กว้างขวาง เป็นสัดส่วน แต่ก็ดึงคนไปจากกาดทุ่งเกวียนไม่ได้
           
สำหรับตลาดหลักเมือง รูปแบบทันสมัย สร้างมานานปี แต่กลับเงียบเหงา วังเวง ตัดกันกับภาพผู้ค้านอกอาคาร คนขายของริมระเบียง ที่ขายดีกว่า นานปีแล้ว สภาพเช่นนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ความพยายามของเทศบาลที่จะปลุกให้ตลาดตื่นจากความหลับใหล ให้เป็นตลาดที่มีเสน่ห์ดึงดูดใจ ก็น้อยเกินกว่าที่จะคาดหวังอนาคตของตลาดได้
           
แน่นอนว่า นี่เป็นตลาดสด ค้าขายของสด ของแห้ง เป็นตลาดขายของทั่วไป ไม่ใช่ตลาดทางวัฒนธรรม เช่น กาดตองก้า ที่มีจุดดึงดูดทั้งคนท้องถิ่น และนักท่องเที่ยว แต่ตลาดสร้างใหม่จำนวนไม่น้อย ก็ประสบความสำเร็จพอสมควร จากแนวคิดด้านการตลาด
           
แม้ว่า ตลาดหลักเมืองจะซบเซามาแต่ต้น บางนาทีคนขายดูมากกว่าคนซื้อ แต่ชีพจรของตลาดก็ยังเต้นเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ยังมีคนจำได้ ยังมีคนขายของ ยังมีคนเดินเข้าไปซื้อของ ปัญหาของตลาดหลักเมืองจึงอยู่ที่การสร้างบรรยากาศให้ดูน่าคบหา น่าเดิน
           
พูดอีกอย่าง ก็ต้องรีแบรนด์ดิ้งตลาดหลักเมือง ให้กลับมาอยู่ในความจดจำของผู้คนอีกครั้ง  
           
การรีแบรนด์ ก็คือการสร้าง “ภาพจำ” ของตลาดหลักเมือง ให้เป็นตลาดที่มีสินค้าเฉพาะ นอกเหนือจากสินค้าทั่วไป คล้ายตลาดวโรรสที่เชียงใหม่ คล้ายตลาดท้องถิ่นในหลายจังหวัด ที่ขายของในเวลาปกติ ไม่ได้ปิดถนนขายบางช่วงเวลา เหมือนถนนคนเดิน เช่น อาจเป็นตลาดที่ขายสินค้าท้องถิ่น หรือตลาดสดที่จัดรูปแบบทันสมัย แยกแบ่งประเภท ชัดเจน เช่น ตลาดสะพานใหม่ ดอนเมือง
           
สิ่งเหล่านี้ คือโจทย์ที่ต้องไปสืบค้นรูปแบบ ต้องไปศึกษาดูงานวิธีการ จัดการบริหาร ในที่ที่เขาประสบความสำเร็จ
           
แต่สิ่งที่เป็นปัญหาขณะนี้ ในขณะที่เทศบาลก็ยังไม่สามารถจัดการบริหารตลาด ให้มีหลักประกันสำหรับคนซื้อ คนขาย ก็คือการเพิ่มค่าเช่าอีก 3 % บวกกับค่าต่อสัญญาอีกนับหมื่น เหมือนสายฟ้าฟาด เพราะเท่ากับไปเพิ่มภาระให้กับผู้ค้ามากขึ้น
           
“ฉันเช่าโต๊ะขายผักเดือนละ 900 บาท แต่ค้าขายได้น้อยมาก ไม่คุ้มค่าเช่า เพราะไม่ค่อยมีลูกค้าเข้ามาซื้อของด้านใน เพราะด้านนอกก็มีแม่ค้าอีกกลุ่มหนึ่งวางขายอยู่ตามระเบียง โดยเสียค่าเช่าเพียง 30 บาท   ทำให้มีรายจ่ายมากว่ารายได้ เพราะขายผักได้เงินครั้งละไม่มาก มัดละ 5-10 บาทเท่านั้น กำไรก็ได้น้อยยิ่งไม่มีคนซื้อก็ยิ่งลำบาก  หากจ่ายค่าเช่าช้าก็โดนปรับอีก แม่ค้าลำบากกันหมดทั้งตลาดแล้วตอนนี้”
           
นางฟอง กุนณด้วง  แม่ค้ารายหนึ่งในตลาด ระบายความอัดอั้นของเธอ
           
หากเทศบาลยึดถือหลักกฎหมายเคร่งครัด ไม่ใส่ใจความจริง ไม่คิดถึงหัวอกผู้ค้า ที่ว่าตามจริงแล้ว ก็เป็นผู้มีพระคุณ ที่ช่วยต่อชีวิตไม่ให้ตลาดตายเสียก่อนกาล ก็เป็นเรื่องที่พอมองเห็นอนาคตอยู่แล้วว่า อีกไม่นานตลาดหลักเมือง ก็จะเป็นเมืองร้าง เป็นซากอาคารที่ประจานเทศบาลอยู่กลางเมือง
           
การยอมถอยเสียก้าวหนึ่ง ใช้หลักปกครองแทนหลักกฎหมายที่แห้งแล้ง ไม่ใส่ใจความทุกข์ร้อนของมนุษย์ เมื่อตลาดหลักเมืองสามารถฟื้นตัวขึ้นมา พอให้ผู้ค้าเห็นอนาคต หรือถึงขนาดที่ทำให้รู้สึกว่า การมีพื้นที่ในตลาด เป็นโอกาสทองที่ต้องช่วงชิงกัน นั่นก็จะเป็นจุดเริ่มต้น ที่ต้องใช้สัญญากันเป็นเรื่องเป็นราว
           
ไม่ยอมเสียอะไร ซ้ำร้ายจะขูดรีดเขามากขึ้น ทั้งที่รู้ความจริงว่าตลาดหลักเมือง คือตลาดที่กำลังใกล้ตาย หายใจรวยริน สุดท้ายจะไม่ได้อะไรเลย

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1047 วันที่ 25 กันยายน - 1 ตุลาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์