วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2558

พระแก้วดอนเต้าของเรามาจากไหน


กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง

           
เป็นที่รู้กันดีว่า วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดารามนั้น เป็นวัดเก่าแก่และเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกตที่กรุงเทพฯ เป็นเวลาถึง 32 ปี ก่อนจะถูกอัญเชิญไปเมืองเชียงใหม่ ขณะเดียวกัน วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดารามก็เคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วดอนเต้า และยังถูกผูกโยงเข้ากับตำนานเรื่องนางสุชาดาและแก้วมรกตในผลบะเต้า ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงที่มาของพระแก้วดอนเต้าในลักษณะปรัมปราคติ

ในทางวิชาการ อาจารย์สุรพล ดำริห์กุล คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวไว้ในหนังสือแผ่นดินล้านนา โดยอ้างถึงแนวคิดของอาจารย์ศักดิ์เสริญ รัตนชัย ซึ่งอธิบายถึงการปรากฏขึ้นของพระแก้วดอนเต้าไว้อย่างน่าสนใจว่า ในช่วงปี พ.ศ. 1929 รัชสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์แห่งล้านนา มีหลักฐานอยู่ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 ระบุว่า มีพระแก้วปรากฏอยู่ในเมืองเชียงแสนองค์หนึ่ง กล่าวคือ มีพระมหาเถระชื่อ ศิริวังโส นำเอาพระพุทธรูป องค์ คือ พระแก้ว พระคำ และพระบรมธาตุ ไปประดิษฐานไว้ ณ วัดบนเกาะดอนแท่น เมืองเชียงแสน ต่อมานามของพระแก้วองค์นี้กลับไม่ปรากฏอีกเลย จนกระทั่งกองทัพของพระเจ้าเชียงใหม่กาวิละ พระยานครลำปาง และเจ้าฟ้าเมืองน่าน ได้ยกกองทัพไปตีเมืองเชียงแสนจนแตกในปี พ.ศ. 2346 เมืองเชียงแสนถูกเผาทำลาย ส่วนผู้คนถูกกวาดต้อนไปอยู่เมืองเชียงใหม่ ลำปาง น่าน เวียงจันทน์ กรุงเทพฯ สระบุรี และราชบุรี

ชาวเมืองเชียงแสนที่อพยพมาอยู่เมืองลำปาง ต่างพากันตั้งบ้านเรือนในเขตตำบลเวียงเหนือ (บริเวณโดยรอบวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดารามในปัจจุบัน) ทั้งนี้ อาจารย์ศักดิ์เสริญได้เสนอเพิ่มเติมว่า พระแก้วดอนเต้าองค์นี้ น่าจะเป็นองค์เดียวกันกับพระแก้วของเมืองเชียงแสนตามที่กล่าวมาแล้ว เพราะมีพุทธศิลป์อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ อาจจะถูกอัญเชิญมายังเมืองลำปางพร้อมกับชาวเมืองเชียงแสนที่ถูกกวาดต้อนมาในครั้งนั้น

พระแก้วดอนเต้าทำด้วยหินสีเขียว ขนาดหน้าตักกว้าง นิ้วครึ่ง เล็กกว่าพระแก้วมรกต หรือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรที่กรุงเทพฯ เพียงเล็กน้อย เป็นศิลปะแบบเชียงแสนรุ่นหลัง ปางสมาธิราบ มีชายสังฆาฏิยาวรูปแฉก ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของวัดพระธาตุลำปางหลวง โดยมีพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งตั้งอยู่ด้านหลัง ซึ่งตามประเพณีและความเชื่อจะต้องประดิษฐานไว้คู่กันเสมอ เรียกว่า พระพี่เลี้ยง

อย่างไรก็ตาม อาจารย์สุรพลได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า นับเป็นเรื่องน่าประหลาดอย่างยิ่ง ที่เรื่องราวของพระแก้วดอนเต้า พระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองลำปางนั้น กลับไม่เคยปรากฏชื่อถูกเอ่ยอ้างอยู่ในเอกสารและจารึกใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเมืองลำปางและวัดพระธาตุลำปางหลวงเลย รวมทั้งเอกสารตำนานสำคัญ ๆ ของล้านนาก็ไม่ปรากฏ นอกจากจะมีกล่าวอยู่เพียงในตำนานวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดารามเท่านั้น ปัญหาจึงมีอยู่ว่า การปรากฏขึ้นขององค์พระแก้วดอนเต้าควรจะอยู่ในช่วงระยะเวลาใด

อาจารย์สุรพลวิเคราะห์ว่า บริเวณตำบลเวียงเหนือเดิมเคยเป็นที่รกร้าง จนกระทั่งพระเจ้ากาวิละส่งชาวเชียงแสนมาตั้งถิ่นฐาน โดยชาวเชียงแสนเหล่านี้นี่เอง ที่มีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูเมืองลำปางและบูรณะวัดวาอารามต่าง ๆ ในเขตเมืองเก่า รวมทั้งวัดพระแก้วชมพู ซึ่งภายหลังกลายมาเป็นวัดพระแก้วดอนเต้า ดังนั้น แนวคิดที่กล่าวว่า พระแก้วดอนเต้าควรจะเป็นองค์เดียวกับพระแก้วเมืองเชียงแสนนั้น จึงมีความน่าเชื่อถือค่อนข้างสูง

ส่วนการที่องค์พระแก้วดอนเต้าได้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุลำปางหลวงในเวลาต่อมา จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่ก็นับว่าสอดคล้องกับความเป็นวัดสำคัญของเมืองลำปางในขณะนั้น นอกจากนี้ อาจารย์สุรพลยังมองว่า เรื่องราวที่ผูกขึ้นเป็นตำนานเกี่ยวกับพระแก้วดอนเต้านั้น น่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในภายหลัง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1046 วันที่ 18 - 24 กันยายน 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์