วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558

คนลำปาง เรามาลดใช้ถุงพลาสติกกัน

กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง

มันอาจจะเป็นอะไรที่ย้อนแย้งกับแคมเปญ ยืดอกพกถุง ของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขอความร่วมมือจากห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ทุกแห่งในการรณรงค์ลดใช้ถุง (พลาสติก) ทุกวันที่ 15 ของเดือน “Every 15th of every month say NO to plastic bags !”

ประมาณกันว่าในแต่ละวัน คนไทยจะทิ้งถุงพลาสติกกัน 2.3 ชิ้น แต่ละสัปดาห์ คนไทยนำถุงพลาสติกกลับบ้านรวมแล้วมากกว่า 100 ล้านถุง ถุงพลาสติกที่เราใช้ใน ปีนั้น หากนำมาต่อกันจะได้ระยะทางเท่ากับการเดินทางไป-กลับดวงจันทร์ รอบ !

ถุงพลาสติกใช้เวลาย่อยสลายนาน 500-1,000 ปี หากไม่กำจัดด้วยวิธีฝังกลบ การเผาก็ไม่ใช่วิธีการที่ดีนัก เพราะมันจะทำให้เกิดสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ด้านข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมพบว่า แต่ละปีมีนกทะเลตายเพราะขยะพลาสติกราว 1,000,000 ตัว รวมทั้งสัตว์ทะเลอื่น ๆ อีกกว่า 100,000 ตัว อันเนื่องมาจากการทิ้งขยะถุงพลาสติกลงทะเลกว่า 3,000,000 กิโลกรัมอย่างไร้การควบคุมที่เข้มงวด เมื่อมันผุพังลง มันจะกลายเป็นขยะชิ้นเล็ก ๆ ปะปนเข้าไปสู่ห่วงโซ่อาหาร ทั้งในน้ำและในดิน ส่งผลต่อสัตว์และพืช หรือแม้แต่ตัวของเราเอง
           
นั่นเพราะการใช้ถุงพลาสติกเกี่ยวโยงกับภาวะโลกร้อนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ถุงพลาสติกผลิตจากน้ำมันดิบและยังใช้เชื้อเพลิงในการผลิตด้วย กล่าวกันว่า พลังงานที่ใช้ผลิตถุงพลาสติก 9 ใบ สามารถเปลี่ยนเป็นน้ำมันให้รถวิ่งได้ไกล กิโลเมตร และด้วยความที่ถุงพลาสติกสามารถผลิตได้อย่างรวดเร็ว ในปริมาณมาก ๆ แล้วยังใช้ต้นทุนต่ำ ที่สำคัญคือ มีอายุการใช้งานสั้น ส่วนใหญ่เป็นการใช้เพียงครั้งเดียว มันจึงเป็นภาระอย่างยิ่งในการกำจัด เนื่องจากคุณลักษณะที่บางเบาและมีปริมาณมาก ปะปนกับขยะประเภทอื่นได้ง่าย ทำให้การย่อยสลายขยะอื่นยากยิ่งขึ้น ดังนั้น ยิ่งมีการใช้ถุงพลาสติกมากเท่าไร ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลกจากการผลิตและกำจัดขยะถุงพลาสติกก็จะยิ่งมากขึ้น
           
จากการสำรวจของกรมควบคุมมลพิษ คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลร้อยละ 70 ได้รับถุงพลาสติกมาจากห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ รองลงมาร้อยละ 20 ได้รับจากตลาดและร้านค้าย่อย และจากที่อื่นอีกร้อยละ 10 หากลดปริมาณถุงพลาสติกที่ได้จากห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อลงได้ คาดว่าจะสามารถลดขยะถุงพลาสติกลงได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 เลยทีเดียว
           
อันที่จริง ประเทศอื่น ๆ ต่างเห็นถึงพิษภัยของถุงพลาสติกกันมานานแล้ว ออสเตรเลียและบังกลาเทศ-ประกาศห้ามใช้ถุงพลาสติก ไอร์แลนด์-เก็บภาษีถุงพลาสติก ไต้หวัน-เก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก เมืองฮิโรชิม่า ญี่ปุ่น-ห้างสรรพสินค้าให้แต้มสะสมเพื่อรับสิทธิประโยชน์แก่ลูกค้า สิงคโปร์-รณรงค์ให้วันพุธแรกของเดือนเป็นวันพกถุงไปช็อปปิง ซานฟรานซิลโก-ออกกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกเป็นเมืองแรกของสหรัฐฯ เมืองลีฟเรปิดส์ แคนาดา-ประกาศตัวเป็นเมืองปลอดถุงพลาสติก ใครฝ่าฝืนถูกปรับอย่างหนัก ฝรั่งเศส-ออกกฎให้ใช้พลาสติกชีวภาพ ฯลฯ
           
ถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกคนจะหันมาทบทวนเรื่องการใช้ถุงพลาสติก (รวมถึงกล่องโฟม) กันอย่างจริงจัง เปิดใจกว้าง ๆ ยอมรับทางเลือกใหม่อย่างการใช้ถุงผ้าและภาชนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มองให้ทะลุถึงประโยชน์อันน้อยนิดในช่วงเวลาสั้น ๆ ของบรรดาถุงพลาสติก ซึ่งเราต่างเก็บมันไว้ที่บ้าน แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้นำออกมาใช้ใหม่สักที จนเก่าเปื่อยนั่นแหละ จึงจะโละทิ้ง ทิ้งไปแล้วมันยังย้อนมาสร้างปัญหามหาศาลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องยาวนาน นานจนคนทิ้งตายแล้วเกิดใหม่ (กี่ชาติก็ไม่รู้) เจ้าถุงใบเก่าใบเดิมที่ทิ้งไปนั้น มันก็ยังคงอยู่...

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1047 วันที่ 25 กันยายน - 1 ตุลาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์