วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

เด็กชุลมุน ผู้ใหญ่วุ่นวาย

           
กิดมาเป็นนักเรียนไทยก็ต้องทนยอมรับชะตากรรม จากความคิดวูบวาบของผู้ใหญ่ และผู้กุมนโยบายกระทรวงศึกษาธิการที่เปลี่ยนหน้าอย่างช้าทุกหนึ่งปี
           
จากสมุดพกความดี จนเลิกเรียนบ่ายสอง ยังไม่รู้ว่าจะพลิกผันไปเรื่องใดอีก
           
จำได้ว่าช่วงปลายเดือน กรกฎาคม 2557 มีกระแสในวงการศึกษาว่าจะมีการนำเรื่องสมุดพกความดีนี้เป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อสู่ระดับอุดมศึกษาด้วย !!!
           
เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์หากจะนำสมุดพกความดีมาใช้แล้วอะไรจะเกณฑ์ประเมินผลสำเร็จของกิจกรรมนี้  เพราะมันมีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีการสร้างปั้นแต่งเรื่องความดีโดยที่ไม่ได้ทำจริง เพียงเพื่อให้ครูเซ็นชื่อให้ผ่านไป แทนที่จะเป็นการปลูกฝังให้เยาวชนทำความดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน แต่กลับกลายเป็นว่า เรากำลังสร้างให้เยาวชน ทำงานแบบ ผักชีโรยหน้า
           
ถัดมาได้อีกไม่นาน วันที่ สิงหาคม 2557 หัวหน้า คสช. เปิดงาน เส้นทางการปฏิรูปประเทศไทย เป็นการแถลงการณ์ทำงานตามสไตล์บิ๊กตู่ ฟังดูเบาๆขำๆเรียกเสียงฮาได้ยอดเยี่ยม แต่เป็นความขำที่หลายหน่วยงานคงจะขำไม่ออก แถมยังจะเหงื่อแตกซิกๆ  โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา
           
เด็กสมัยนี้เรียนไม่ต้องเกินเวลามั้ง มันเรียนอะไรนักหนา กลับบ้านมามันก็หงุดหงิด ยังต้องมานั่งทำการบ้านถึงสี่ทุ่มเที่ยงคืน ให้มันมีเวลาอยู่กับครอบครัวบ้าง แล้วอย่างนี้มันจะหาความอบอุ่นในครอบครัวจากไหน พ่อแม่ก็ต้องหาเงินให้ เลี้ยงลูกเป็นเทวดาให้เรียนอย่างเดียว วันหยุดเรียนพิเศษ เด็กเรียนหนังสือมีแต่ชีท ไม่มีตำรา.. แล้วคุรุสภาทำอะไร !พิมพ์หนังสือมาเยอะแยะ จบประโยคนี้เรียกเสียงปรบเสียงหัวเราะได้ดังไม่แพ้เดี่ยวไมโครโฟนเลยทีเดียว
           
ปัญหาระบบการศึกษาบ้านเราไม่ต่างอะไรกับฝุ่นใต้พรมที่สะสมทุกวัน นานเข้าฝุ่นเขรอะก็ฟ้องออกมา เพียงแต่ว่าคราวนี้คนเปิดพรมคือ ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งประเทศไทย และนายกรัฐมนตรี ที่พูดเรื่องที่มันจี้ใจดำ แทงหัวใจเหล่านักวิชาการ ครู ในแวดวงการศึกษา  ไม่ว่าจะเป็นการบ้านเยอะจนไม่มีเวลาในครอบครัว แจกชีทเยอะทั้งที่มีหนังสือเรียน ฯลฯ
           
จนก่อให้เกิดธุรกิจ “รับจ้างทำการบ้าน โครงงาน และวิทยานิพนธ์” ที่หาได้ง่ายๆเพียงแค่เข้ากูเกิลก็เจอเป็นล้านเว็บ จนเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ในที่สุด สพฐ.ก็ต้องตามน้ำตามกระแส อีกตามเคย
           
วันที่ 27 สิงหาคม 2557 เลขาธิการฯมีหนังสือร่อนถึงสำนักงานเขตการศึกษาทุกเขต  ที่อ้างจากกระแสข่าวการรับจ้างทำการบ้านออนไลน์ทุกประเภท เป็นการบ่อนทำลายการศึกษาของประเทศ เพื่อหยุดการกระทำดังกล่าวจึงขอให้สำนักงานการศึกษาทุกเขตช่วยดำเนินการเรื่องต่อไปนี้อย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็น  ครูต้องมอบหมายการบ้านอย่างเหมาะสม ไม่มากและยากเกินไป ควรมอบหมายให้งานกลุ่ม ให้ผู้บริหาร ร.ร.ติดตาม หากนักเรียนมีการลอก หรือจ้าง ให้ลงโทษตามระเบียบ ให้แต่ละ ร.ร.ติวสอนเสริมให้กับนักเรียน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ให้ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ติดตามการให้การบ้านของแต่ละ ร.ร.อย่างใกล้ชิด
           
จนกระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา วงการศึกษาก็มีอยู่ในกระแสเป็น Talk of the Town อีกครั้ง เมื่อจะปรับเวลาเด็กให้ลดลงเรียนถึงบ่ายสอง ส่วนเวลาที่เหลือหลังจากนั้น ให้เสริมด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์ กระตุ้น สพฐ. วางแนวทางปลูกฝังการคิดวิเคราะห์ ความมีน้ำใจ ทำงานเป็นทีม เรียนรู้ศักยภาพและความสามารถเฉพาะตัวของเด็กแต่คน พร้อมสนับสนุนให้เด็ กค้นคว้าหาความรู้ได้ด้วยตนเอง และเวลาเรียนที่ปรับลดลงนี้ต้องไม่กระทบเนื้อหาหลักที่เด็กๆ ควรเรียนรู้
           
ซึ่งนั่นหมายความว่า คุณครูและอาจารย์ต้องใช้ความสามารถในการอธิบายและบูรณาการให้ครบถ้วนอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น!!
           
อภิโธ่...อภิถัง กะละมังแตก เกิดเป็นเด็กไทยช่างมีกรรมเหลือเกิน เพราะในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เหล่าผู้หลักผู้ใหญ่ในแวดวงการศึกษาต่างปรับตรงนั้นเปลี่ยนหลักสูตรตรงนี้ เพิ่มขั้นตอนตรงโน้น ดุจดั่งว่านักเรียนเป็นหนูทดลอง พอลองแล้วไม่ดีก็เปลี่ยนใหม่ ไปเรื่อยๆ แทนที่จะคิดวิเคราะห์ให้ดีก่อนลงมือเปลี่ยนแปลง
           
แล้วประเทศอื่นๆเลิกเรียนกันกี่โมง
           
จีน เริ่มเรียนโดยเฉลี่ย 7.30 น. ถึง 17.00 น.  เกาหลีใต้ เรียน 8.00 น. ถึง 16.00 น. บราซิล เรียน 7.00 น. เลิกตอนเที่ยง เพื่อให้เด็กกลับมากินข้าวมื้อกลางวันกับที่บ้าน  ฝรั่งเศส เรียน 8.00 น. ถึง 16.00 น. และเรียนเพิ่มในวันเสาร์อีกครึ่งวัน เคนยา เรียน 8.00 น. ถึง 16.00 น.  รัสเซีย เรียน 8.30 น. ถึง 15.00 น.
           
การแก้ปัญหาลดเวลาเรียนเพื่อลดความเครียดของเด็กๆเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้องหรือไม่ กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ที่รู้ดี เพราะที่ผ่านมาเราแก้ปัญหาที่ปลายเหตุตลอด
           
หากครูผู้สอนมีประสิทธิภาพพัฒนาเทคนิคการสอนเพื่อสอนให้นักเรียนเข้าใจและประยุกต์การคิดได้นั่นคือสิ่งที่ควรทำไม่ใช่หรือ
           
มิฉะนั้น กรรมก็จะเกิดกับเด็กตลอดปีตลอดชาติ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1044 วันที่ 4 - 10 กันยายน 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์