วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2558

ฝนแล้ง นาร้าง วิบากกรรม ลำปาง


           
ม้พายุ “หว่ามก๋อ”ที่เคลื่อนตัวจากเวียดนาม ไปลาว จะนำพาน้ำก้อนใหญ่ เข้ามาเมืองไทย โดยเฉพาะบริเวณภาคอีสาน ภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง กทม. ปริมณฑล รวมทั้งภาคเหนือบางจังหวัด แต่ภัยแล้งสะสมที่มีมาต่อเนื่อง จนอาจถึงขั้นวิกฤติในปีหน้า ก็ไม่ได้ช่วยให้อุ่นใจมากนัก
           
ปริมาณน้ำใน  2 อ่าง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) แม่เมาะแห้งเหลือแค่ 7 ล้านลูกบาศก์เมตร วิกฤติถึงขนาดต้องหยุดผลิตไฟฟ้า ผู้บริหารเร่งหาทางแก้ไข ขอกรมฝนหลวง ช่วยเติมน้ำในอ่าง  น้ำในเขื่อนกิ่วลมและกิ่วคอหมาก็มีน้ำน้อยที่สุดในรอบ 20 ปี
           
เมื่อเห็นฝนกระหน่ำแทบไม่ลืมหู ลืมตา เราอาจคิดว่าปัญหาภัยแล้งที่หวั่นวิตกกันนั้น คงได้ฝนจากเทวดาช่วยแล้ว แต่น่าเศร้าที่น้ำจากพายุฝน ไม่เคยไปเติมที่เขื่อน ซ้ำร้ายกลับเป็นน้ำที่มากเกินความต้องการในหลายพื้นที่ จนกลายเป็นภาวะน้ำท่วม เช่นที่เชียงราย
           
ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝนที่ตกหนักทำให้น้ำจากเทือกเขาขุนงิ้ว เขตอำเภอเมืองเชียงราย ล้นลำห้วยอ้อ และลำปงเกล็ดที่ไหลผ่านหมู่บ้านโละป่าตุ้ม และบ้านปงอ้อ ตำบลดอยลาน ทำให้บ้านที่อยู่ริมลำห้วยถูกน้ำท่วม ชาวบ้านต้องช่วยกันอพยพ ขนย้ายข้าวของ กันจ้าละหวั่น
           
แต่ที่ลำปางฝนไม่มาเท่าทุกปี ในขณะที่สัญญาณฝนแล้ง ปรากฏชัดในเขื่อนสำคัญและอ่างเก็บน้ำของ กฟผ.อย่างน้อย แห่ง
           
ระหว่างน้ำมากเกินไป จนน้ำท่วม เช่นที่เกิดขึ้นในเมืองลำปาง หรือน้ำแล้ง จนส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เหวี่ยงไปเหวี่ยงมา ระหว่างทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการทำมาหากิน ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา
           
เมื่อต้นปีนี้ ฝนทิ้งช่วงติดต่อกันนานหลายเดือน ทำให้ผืนดินแห้งผาก เรือกสวนไร่นา ดินแตกระแหงคลองชลประทาน น้ำไหลรินจนแทบไม่เหลือปริมาณน้ำไปหล่อเลี้ยงพืชผลการเกษตร นั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับลำปาง แต่จนถึงนาทีนี้ ภาวะฝนแล้งที่กำลังคืบคลานเข้ามาดูน่ากลัวกว่าหลายเท่า
           
น้ำใน 2 อ่าง อ่างแม่จาง และอ่างแม่ขาม ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า การประปาในพื้นที่ของ กฟผ. และสนับสนุนประปาในหมู่บ้านใกล้เคียง ลดระดับลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น บ้านห้วยเป็ด บ้านหางฮุง  บ้านแม่เมาะสถานี และบ้านห้วยคิงบางส่วน
           
น้ำในสองอ่างนี้ ยังส่งช่วยพื้นที่การเกษตรใกล้เคียง พื้นที่เกษตรลุ่มน้ำน้ำจางซึ่งมีฝายอยู่ใต้เขื่อนลงไปทาง อ.แม่ทะ และ อ.เกาะคา ซึ่งสามารถช่วยเหลือเกษตรกรในหน้าแล้ง
           
อ่างเก็บน้ำแม่จาง ยังเป็นอ่างเก็บน้ำสำคัญที่ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรใน อ.แม่เมาะ แต่ในปีนี้ไม่เพียงพอต่อการเกษตร
           
ผู้ใหญ่บ้านอินปั๋น อุตเตกูล บ้านข่วงม่วง ม.8 ต.นาสัก อ.แม่เมาะ  บอกว่า  เกษตรกรปีนี้ได้รับผลกระทบอย่างมาก ประมาณร้อยละ 50 เนื่องจากอ่างเก็บน้ำแม่จางไม่มีน้ำเข้า ซึ่งระดับน้ำอ่างแม่จางต่ำลงถึงวิกฤติ
           
พวกเขากำลังคิดหาหนทางขอ “ฝนหลวง” มาช่วยต่อชีวิตเกษตรกร
           
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความหวัง การปรับตัวสู้ภัยแล้ง ด้วยการลดพื้นที่เพาะปลูก หรือเปลี่ยนเป็นพืชที่ไม่ต้องอาศัยน้ำมากนัก รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อก้าวผ่านภัยแล้งนี้ไปให้ได้ เป็นสิ่งเดียวที่ต้องทำ
           
ผลจากการที่ปล่อยให้ปัญหาตัดไม้ทำลายป่าที่เรื้อรังมายาวนาน ทำให้เกิดภัยแล้งส่อเค้ารุนแรงขึ้น จังหวัดลำปางและจังหวัดอื่นๆก็มีการลงพื้นที่จับผู้กระทำการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า แต่เกือบทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่และนักข่าวไปถึงจะพบแต่เพียงเศษซากอุปกรณ์ เครื่องมือในการตัดไม้ ไว้ดูต่างหน้า และหนีไปได้ล่วงหน้าไม่นานทุกครั้งไป เหมือนกับว่า “คนมีสี”มีเอี่ยว และไม่เคยสาวถึงตัวการใหญ่ได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว แม้แต่ในยุค คสช.ที่ประกาศกร้าวมีเกือบปีแล้วว่าจะปราบมอดไม้ให้เสร็จสิ้น แต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะสำเร็จ
           
ภัยแล้ง จะเป็นบททดสอบที่ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น และจะเป็นบททดสอบหน่วยงานว่าจะชนะหรือพ่ายแพ้มอดไม้

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1046 วันที่ 18 - 24 กันยายน 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์