วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2558

เตรียมเวทีสาธารณะถกเปลี่ยนชื่อ 'นครลำปาง'


ผู้ว่าฯย้ำขอเปลี่ยนชื่อ นครลำปาง” แค่เริ่มต้น  สั่งส่วนราชการ นายอำเภอ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องต่อประชาชน  ด้าน อบจ.ลำปาง เตรียมจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น  นักวิชาการชี้สิ่งสำคัญคือการเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชน

จากกรณีการยื่นเสนอขอเปลี่ยนชื่อจังหวัดลำปางเป็น “นครลำปาง”  สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง ได้นำเรื่องเข้าที่ประชุมสภาสมัยวิสามัญ สมัยที่ 1  เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 58 ที่ผ่านมา เนื่องจากเรื่องดังกล่าวต้องผ่านการพิจารณาจากสภาจังหวัดก่อนจึงจะเสนอเรื่องถึงกระทรวงมหาดไทยต่อไป  โดยสภา อบจ. ได้มีมติว่าให้เลื่อนญัตติดังกล่าวไปก่อน โดยให้ทางฝ่ายบริหารมีการจัดทำโครงการต่อเนื่อง จัดการประชุมเสวนา โดยเชิญประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัด มาชี้แจง พร้อมกับเชิญองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งมาร่วมในการเสวนา จากนั้นจะได้ไปทำประชามติกับชาวบ้าน หรือให้ชาวบ้านได้แสดงความคิดเห็น แล้วค่อยนำมาเข้าสภา อบจ.เพื่อพิจารณาอีกครั้ง

เมื่อวันที่ 2 ก.ย.58 นายธานินทร์ สุภาแสน  ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวในที่ประชุมเสวนายามเช้าประจำสัปดาห์ ที่ห้องประชุมเวียงละกอน ศาลากลางจังหวัดลำปาง ถึงกรณีการเปลี่ยนชื่อจังหวัดลำปาง เป็น จังหวัดนครลำปาง ว่า กรณีจังหวัดลำปาง จะไปใช้ชื่อ นครลำปาง” เป็นการกลับไปใช้ชื่อเดิมไม่ใช่การเปลี่ยนชื่อจังหวัดเหมือนกับ จังหวัด หรือ จังหวัดอื่นที่ตั้งใหม่ เพียงแต่ต้องการเติมคำว่า นคร กลับไปเหมือนชื่อที่เคยใช้ในอดีตเมื่อ 100 กว่าปีก่อน โดยสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง ที่มี ดร.อุดมศักดิ์ ศักดิ์มั่นวงศ์ เป็นประธานฯ  พร้อมคณะทำงานซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่รู้ประวัติศาสตร์ของจังหวัดลำปางได้นำเสนอต่อที่ประชุมประจำเดือนส่วนราชการจังหวัดลำปาง ที่ประชุมให้ความเห็นชอบตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558 เพราะตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 2005.3/ว 1266 ลงวันที่ 9 เมษายน 2547 กำหนดขั้นตอนวิธีการขอเปลี่ยนชื่อจังหวัดจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก กรมการจังหวัด และ สภาจังหวัด

ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางไม่ใช่ผู้เสนอ ขอกลับมาใช้ชื่อจังหวัดนครลำปาง ผู้เสนอคือ สภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง ซึ่งได้หยิบยกหลักฐานประวัติศาสตร์ลำปางที่มีมายาวนาน  1,300 กว่าปี  ตั้งแต่ยุคที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 ได้ทรงปฏิรูปมณฑลเทศาภิบาล ได้เปลี่ยนชื่อจังหวัดต่างๆ เข้าสู่การปกครองสมัยใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2459 จังหวัดลำปาง จึงได้ชื่อที่เปลี่ยนจากมณฑลมาเป็น จังหวัดลำปาง  แต่พระราชนิยม หรือ ประเพณีนิยม ไม่ว่าจะเป็นพระราชหัตถเลขา หรือบันทึกต่างๆในการตรวจราชการของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เสด็จขึ้นมาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ก็ทรงเรียก จังหวัดลำปาง ว่า นครลำปาง เป็นคำพูดติดปากมาตั้งแต่เดิม ที่สถานีรถไฟลำปาง ก็ยังให้คำว่า นครลำปาง” มาจนถึงปัจจุบัน

ความห่วงใย และความเข้าใจคาดเคลื่อนว่าจะเกิดปัญหากระทบต่อประชาชนในการเปลี่ยนแปลงเอกสารทางราชการบัตรประจำตัวประชาชน ใบขับขี่ หนังสือเดินทาง หรือ ป้ายต่างๆนั้น โดยทั่วไปเอกสารทางราชการจะมีบทเฉพาะกาลคุ้มครอง สามารถใช้ได้ต่อไปจนกว่า จะหมดอายุได้อยู่แล้ว เมื่อทำใหม่จึงจะใช้ชื่อที่เปลี่ยนแปลง จึงไม่น่ามีปัญหาแต่อย่างใด

ผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวอีกว่า  ตอนนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนการนำเสนอเท่านั้น เมื่อสภา อบจ.ลำปาง จะเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบก็เป็นเป็นเอกสิทธิ์ของสภาเรื่องนี้ไม่ใช่ว่าจังหวัด หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัดอยากจะตั้งชื่อขึ้นมาเอง เมื่อมีความเห็นออกมาอย่างไรก็ตามจังหวัดก็จะได้นำเรื่องส่งให้กระทรวงมหาดไทยเท่านั้น ส่วนที่วิพากษ์วิจารณ์กันไปว่า เปลี่ยนแล้วจะทำให้จังหวัดลำปางดีขึ้นอย่างไร ตรงนี้ไม่ได้อยู่ที่ชื่อ แต่อยู่ที่ยุทธศาสตร์โอกาส และศักยภาพของลำปาง ตลอดจนนโยบายของรัฐบาลมากกว่าว่าจะมองศักยภาพของลำปาง ให้กลับมาเป็นศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรืองเหมือนในอดีตหรือไม่ ซึ่งขณะนี้จังหวัดก็พยายามผลักดันทั้งการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน ทุกรูปแบบลำปางจะเดินไปในทิศทางใด ก็อยู่คนลำปาง ไม่ใช่คนที่อื่น

ด้าน นายไพโรจน์    ไชยเมืองชื่น   อาจารย์ประจำหลักสูตรการท่องเที่ยว   คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์   มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา   ลำปาง  ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า  โดยหลักการเห็นว่าการเปลี่ยนชื่อจังหวัดนั้นสามารถกระทำได้   หากเรามีเหตุผลและข้อมูลสนับสนุนที่เพียงพอ  แต่การเปลี่ยนแปลงสิ่งใดแบบฉับพลัน     ขณะที่ยังไม่ได้สร้างกระบวนการสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมในหมู่ประชาชนชาวลำปางอย่างเพียงพอ  จึงเป็นเรื่องที่พึงระมัดระวัง  เพราะชื่อของจังหวัดเป็นเรื่องที่สำคัญ  มีความเกี่ยวเนื่องกับอะไรหลายอย่าง

ส่วนตัวตนจะมุ่งความสนใจไปที่การสร้างความรู้ทางวิชาการและเผยแพร่ความรู้เหล่านั้นเป็นลำดับแรกก่อน  แล้วจึงค่อยๆ พัฒนากระบวนการนี้ไปสู่การขับเคลื่อนเพื่อจุดหมายใดจุดหมายหนึ่ง    ซึ่งน่าจะเกิดประโยชน์ต่อคนลำปางมากกว่าการพยายามแค่เปลี่ยนชื่อจังหวัดเพียงอย่างเดียว อยากเห็นว่า   เรามีกระบวนการสร้างความรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับชื่อของจังหวัดเพื่อให้ประชาชนตื่นตัวและสร้างความตระหนักรู้อย่างจริงจัง  เช่น  เริ่มจากการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ของเมืองลำปางอย่างเป็นระบบ  และจัดเวทีสัมมนาเพื่อสร้างการรับรู้อย่างกว้างขวาง   

นายไพโรจน์ กล่าวว่า  เรื่องของชื่อของเมืองหรือจังหวัดมีผู้ศึกษาในเบื้องต้นมาแล้วบ้าง  เช่นอาจารย์ศักดิ์  สักเสริญ  รัตนชัย   ผู้รู้ทางประวัติสาสตร์ของลำปางที่นำเสนอเรื่องนี้มาหลายสิบปีแล้ว     หรือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภิญญพันธุ์    พจนะลาวัณย์   แห่งคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง  ก็เคยเขียนบทความทางวิชาการและนำเสนอในงานสัมมนาเรื่องลำปางศึกษา  เพียงแต่อาจจะยังไม่เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางมากนัก ดังนั้นถือเป็นโอกาสอันดีที่สภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง  มีความพยายามผลักดันในเรื่องนี้ซึ่งเป็นความตั้งใจดีที่น่าชื่นชม    แต่ไม่อยากให้เป็นเพียงแค่การผลักดันเพื่อเปลี่ยนชื่อจังหวัด และมีกรอบความคิดเพียงเท่านี้   เราน่าจะใช้โอกาสนี้เป็นเวทีสำคัญเพื่อสร้างความตระหนักและให้คนลำปางสนใจเรื่องราวของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จะทำให้ความพยายามเรื่องนี้เกิดพลังสนับสนุนอย่างกว้างขวาง  ยกตัวอย่างว่า คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยอาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า  คำว่า “นคร”  ที่อยากจะเพิ่มเข้ามามันคืออะไรหรือเกี่ยวข้องอย่างไรกับจังหวัดลำปาง    เรื่องนี้ควรที่จะให้ความรู้และข้อมูลทางวิชาการเพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นด้วย     องค์ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองลำปางยังมีพื้นที่ว่างให้ศึกษาค้นคว้าอีกมาก   ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจในเรื่องราวของท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้น  ฉะนั้นเราไม่ควรมองแค่ผลสำเร็จว่า จะเปลี่ยนแปลงชื่อจังหวัดได้หรือไม่ได้เท่านั้น และหยุดแต่เพียงแค่นั้น    สิ่งสำคัญต้องมองไปที่กระบวนการสร้างความรู้ที่เป็นระบบ และเผยแพร่ความรู้ให้คนลำปางพร้อมกันไปด้วย   ตรงนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้างอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการผลักดันให้เปลี่ยนชื่อจังหวัดก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการตั้งคำถาม  เกิดความฉงนขึ้นมาว่า    ทำไมมีคนกลุ่มหนึ่งเกิดความพยายามเช่นนี้  มีสาเหตุมาจากอะไร
และถ้าเราใช้จุดนี้เป็นโอกาสในการอธิบายความรู้หรือแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันในหมู่ประชาชนท้องถิ่น   ย่อมทำให้เกิดปัญญาอันจะนำไปสู่ความรักในมาตุภูมิที่รักด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง  มีเหตุมีผลไม่หลักลอย   เพื่อทำให้ผู้คนรู้จักรากเหง้าของตนเอง    รู้ข้อดีข้อด้อย    รู้ถึงความเจริญและความเสื่อม  ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยของบ้านเมืองที่ตนเองอยู่อาศัย    อันเป็นการสร้างสติปัญญาให้ผู้คนเพื่อความรักในท้องถิ่นอย่างมีวุฒิภาวะ   ผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ดี    แต่ต้องมีการรับฟังอย่างตั้งใจและอดทนฟังเหตุผลของแต่ละฝ่าย

แต่แน่นอนว่า  ทุกคนก็มีสิทธิที่จะตั้งคำถามในประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก  จึงเป็นหน้าที่ของกลุ่มคนที่มีความพยายามผลักดันให้มีการเปลี่ยนชื่อจังหวัดลำปาง  ต้องใช้ความพยายามอย่างสูงที่จะอธิบายเหตุผล  ข้อมูล  หรือคำอธิบายว่า    เหตุใดจึงอยากจะเปลี่ยนชื่อจังหวัดลำปาง มาเป็นจังหวัดนครลำปาง  ซึ่งก็อาจมีทั้งคนที่เห็นด้วยหรือคัดค้าน  เพราะฐานข้อมูลทางวิชาการในประเด็นนี้ของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน   จึงเห็นว่ามีกระบวนการสร้างความรู้ในเรื่องดังกล่าวไปด้วย   และสังคมก็ควรให้โอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้  รับฟังเหตุผลระหว่างกัน  ซึ่งเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดสติปัญญา  อย่างไรก็ตามต้องมีความอดทนรับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน  ไม่รีบด่วนสรุปหรือตัดสินใจจนกว่าจะมีข้อมูลหรือความรู้สนับสนุนอย่างเพียงพอ  นายไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น  กล่าว.

ทั้งนี้  ทาง อบจ.ลำปาง ได้กำหนดจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่อง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1044 วันที่ 4 - 10 กันยายน 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์