วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2558

โทรป่วนกู้ชีพ วันเดียว 100 สาย ตามพบ ด.ข.สติไม่ดี


รพ.ลำปางวุ่น เจอโทรศัพท์ป่วน 100 สาย เกิดอุปสรรคขณะออกเหตุช่วยเหลือผู้ป่วย แจ้งตำรวจช่วยตามตัว พบเป็นเด็กสติไม่ดี แม่ซื้อโทรศัพท์ให้จึงไล่กดเบอร์โทรฟรี ฝากเตือนผู้ปกครองให้ดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด อาจสร้างความเสียหายต่อชีวิตผู้อื่นได้

นายอธิษฐาน วงศ์ใหญ่ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโรงพยาบาลศูนย์ลำปาง เปิดเผยถึงกรณีที่คนโทรศัพท์เข้ามาก่อกวนสายด่วนในการรับแจ้งเหตุอุบัติเหตุ ผู้ป่วยฉุกเฉิน หมายเลข 1669  จนสามารถติดต่อในขณะกำลังรับแจ้งเหตุผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว จนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวนั้น ทาง นายแพทย์ ธานินทร์ โลเกศกระวี นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน หัวหน้าสำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน กลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลลำปาง ซึ่งเป็นศูนย์รับแจ้งเหตุ และสั่งการจังหวัดลำปาง หรือที่เรียกว่าสายด่วน 1669 ได้รายงานสถานการณ์โทรศัพท์ก่อกวน ให้ทราบว่า เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา เวลา 21.30 น. ได้มีหมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขหนึ่ง ได้โทรเข้ามาก่อกวนสายด่วนในการรับแจ้งเหตุ - ผู้ป่วยฉุกเฉิน หมายเลข 1669

โดยลักษณะของการก่อกวน คือ โทรเข้ามาแล้วไม่พูด เปิดเพลงให้ฟังทุก ๆ 1 นาที มากกว่า 100 สาย จนถึงเวลา 07.00 น. ของวันที่ 9 ตุลาคม 2558 และยังมีการโทรเข้ามาก่อกวนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในขณะเวลา 22.30 น. ของคืนวันที่ 8 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา ได้รับแจ้งเหตุมีผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว บริเวณบ้านท่าเดื่อ ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง ทำให้ทางศูนย์ฯ เกิดอุปสรรคต่อการติดต่อสื่อสารกับผู้ที่แจ้งเหตุเข้ามา ในการสอบถามอาการ และสั่งการในการเข้าไปช่วยชีวิต กระทั่งได้ประสานทางวิทยุสื่อสารว่า ผู้ป่วยคนดังกล่าวได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา ณ บ้านจุดเกิดเหตุ

จากรายงานเรื่องดังกล่าว ทางโรงพยาบาลลำปาง ถือว่าการกระทำในการโทรมาก่อกวน ได้ส่งผลกระทบต่อระบบบริการในการรับแจ้งเหตุอุบัติเหตุ ผู้ป่วยฉุกเฉิน หมายเลข 1669  อย่างมาก จึงได้เข้าแจ้งความไว้กับทาง สภ.เมืองลำปาง โดยทาง พ.ต.อ.กฤษฎา พันธ์เกษม ผู้กำกับการกลุ่มงานสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดลำปาง และ พ.ต.อ.นิคม เครือนพรัตน์ ผู้กำกับการ สภ.เมืองลำปาง ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนออกติดตามตัว ตามที่อยู่หมายเลขโทรศัพท์ที่โทรเข้ามาก่อกวน ก่อนที่จะจะพบ และเชิญตัวผู้กระทำความผิดเข้ามายัง สภ.เมืองลำปาง จึงทำให้ทราบว่า ผู้ที่ใช้โทรศัพท์ โทรเข้ามาก่อกวนนั้น คือ เด็กชาย อายุ 19 ปี ซึ่งเป็นผู้พิการทางด้านสมอง โดยทางแม่ได้พึ่งรับตัวมาจากเชียงใหม่ เพื่อมาพักที่บ้านใน จ.ลำปาง ซึ่งแม่มีอาชีพค้าขายอยู่ที่ตลาดสดอัศวิน ต.สบตุ๋ย อ.เมือง จ.ลำปาง โดยได้ซื้อโทรศัพท์มือถือให้ 1 เครื่อง และปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพัง ทำให้เด็กได้เล่นโทรศัพท์ และได้กดหมายเลขฉุกเฉินทางการแพทย์ จึงทำให้ไปติดปลายทางสายด่วน 1669”

ในการตรวจสอบโทรศัพท์มือถือของเด็กคนดังกล่าว พบว่า ได้มีการกดโทรศัพท์ไปยังเบอร์ฉุกเฉินต่าง ๆ อยู่หลายหมายเลข แต่หมายเลขฉุกเฉินทางการแพทย์ ได้มีการกดมากที่สุด จึงทำให้เกิดการต่อสายมายังปลายทาง 1669 มากตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทางเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลลำปาง ได้พูดคุย และกำชับต่อแม่ ซึ่งเป็นผู้ปกครองของเด็กชายคนดังกล่าว ให้เกิดความเข้าใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ว่า ได้กระทบต่อการให้บริการในการรับแจ้งเหตุอุบัติเหตุ ผู้ป่วยฉุกเฉิน หมายเลข 1669 อย่างมาก ซึ่งทางผู้ปกครองเด็ก ก็เข้าใจดี ดังนั้น จึงมีการลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน จากเหตุที่เกิดขึ้น โดยทางแม่ผู้ปกครองเด็ก ไม่ให้เด็กมีโทรศัพท์ หรือเล่นโทรศัพท์อีก เพื่อป้องกันการกดโทรไปก่อกวนหมายเลขอื่น ๆ อีก สำหรับการใช้โทรศัพท์ก่อกวนในครั้งนี้ นับว่าเป็นการก่อกวนที่มาก จนกระทบต่อระบบบริการทางการแพทย์ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการก่อกวนในลักษณะดังกล่าวบ่อยครั้ง แต่ไม่มากหลายสายเหมือนกับในครั้งนี้

นายอธิษฐาน ยังกล่าวอีกว่า สำหรับสายรับแจ้งเหตุอุบัติเหตุ ผู้ป่วยฉุกเฉิน หมายเลข 1669 ของโรงพยาบาลลำปาง มี 4 คู่สาย โดยขณะเกิดเหตุนั้น มีผู้ที่แจ้งเหตุเข้ามาหลายกรณี ประกอบกับเจอการก่อกวนจากเด็กคนดังกล่าวไปด้วย จึงทำให้บางคู่สายเต็มจากการติดต่อสื่อสารกันในหลายกรณีในคราวเดียว รวมถึงกรณีที่บ้านท่าเดื่อ ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง ที่เกิดอุปสรรคในการติดต่อสื่อสารกันทางโทรศัพท์ จากการถูกก่อกวน และอาจจะเป็นส่วนหนึ่ง ในการทำให้ขาดการติดต่อในการรับข้อมูลผู้ป่วยที่ขณะนั้นเกิดไม่รู้สึกตัว และเกิดเสียชีวิตในเวลาต่อมา

หลังจากเกิดกรณีดังกล่าวไปแล้วนั้น ปรากฏว่าขณะนี้ ยังพบมีบุคคลอีก 4 – 5 ราย ที่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือโทรเข้ามาก่อกวนสายรับแจ้งเหตุอุบัติเหตุ ผู้ป่วยฉุกเฉิน หมายเลข 1669  ซึ่งลักษณะในการก่อกวนก็แตกต่างกันไป แต่ก็ได้โทรเข้ามาบ่อยครั้ง จนกระทบต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ ถึงแม้สายด่วนดังกล่าวจะมีทั้งหมด คู่สาย แต่ในบางช่วงเวลา หากเกิดกรณีเร่งด่วนในการแจ้งขอความช่วยเหลือ ทั้งผู้ป่วยทั่วไป และอุบัติเหตุ ซึ่งอาการอยู่ในระดับวิกฤต และเสี่ยงต่อชีวิต ในหลายพื้นที่ และเหตุการณ์ จะทำให้การติดต่อสื่อสารเกิดเป็นอุปสรรค จากการถูกก่อกวน ทั้งผู้ที่เกิดความคึกคะนอง หรือตั้งใจ ซึ่งมาตรการต่อไปนั้น ทางโรงพยาบาลลำปาง อาจจะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตรวจสอบ และจับกุมอีก

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1050 วันที่ 16 - 22 ตุลาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์