วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2558

1252 บนเส้นทางขุนเขาและเหล่าพืชพรรณ


กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง

บริเวณสามแยกที่มีป้ายทางเข้าขนาดใหญ่ของอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน หากเลือกเลี้ยวซ้าย เส้นทางจะนำเราไปถึงอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนในอีกไม่กี่กิโลเมตรข้างหน้า ทว่าหากเลือกที่จะตรงไป ทางหลวงหมายเลข 1252 จะยกตัวจากที่ราบอันไพศาลของตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน มันพารถของเราหายลับไปกับความคดโค้งและสูงชันของขุนเขา มุ่งหน้าสู่บ้านแม่แจ๋มในอีก 26 กิโลเมตรข้างหน้า

ความสูงเพิ่มระดับขึ้นเรื่อย ๆ เส้นทางเล็ก ๆ ไต่วนไปกับโค้งเขา เพียงไม่นาน ริมถนนทางซ้ายปรากฏจุดชมวิวที่เผยให้เห็นผืนนาเบื้องล่างกระจ่างตา อากาศสดสะอาดเย็นสบาย สองข้างทางเริ่มมีไร่ลิ้นจี่ สลับด้วยแปลงกุหลาบ ส่วนกาแฟอะราบิกาและชาอัสสัมนั้น ขึ้นอยู่ท่ามกลางร่มเงาของไม้ใหญ่ ดูราวกับอาณาจักรของพืชเมืองหนาวที่ความสูงระดับ 1,000 กว่าเมตร จากระดับทะเลปานกลาง
           
เมื่อลงสู่หุบเขาก็ถึงหย่อมบ้านของบ้านแม่แจ๋ม หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่เติบโตจากการทำเมี่ยง
           
สุวรรณ มูลคำดี แห่งสุวรรณ การ์เด้น ซึ่งมีพื้นเพเป็นชาวอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เล่าให้ฟังว่า เดิมทีเขาเคยขึ้นมาบ้านแม่แจ๋มเพื่อรับซื้อเมี่ยงลงไปขายทั้งฝั่งลำปางและเชียงใหม่ คนแม่แจ๋มเองแต่เดิมก็เคยฝากความหวังไว้กับการเดินเท้าบรรทุกเมี่ยงลงไปขาย แต่ทุกวันนี้ ทั้งสตรอว์เบอร์รี ซึ่งคนที่นี่ปลูกได้เป็นที่แรก ๆ ของจังหวัดลำปาง แมกคาเดเมีย กาแฟอะราบิกา และพืชพรรณเมืองหนาวนานาชนิด กำลังกระจายลัดหลั่นกันไปในสวนที่แทรกอยู่ตามภูเขา ทั้งนี้ สวนของลุงสุวรรณนับเป็นแหล่งปลูกแมกคาเดเมียแหล่งใหญ่ที่สุดในบ้านแม่แจ๋ม โดยมีถึง 1,300 ต้น นอกจากนี้ พื้นที่ 95 ไร่ของลุงสุวรรณยังเต็มแน่นไปด้วยกาแฟอะราบิกา แมกคาเดเมีย พลับ ท้อ อะโวคาโด เสาวรส เชอร์รี สาลี่ ถั่วดาวอินคา สตอว์เบอร์รี และต้นนางพญาเสือโคร่ง
           
แมกคาเดเมียคือพืชเศรษฐกิจอีกชนิดที่ราคาสูงลิบลิ่ว ลุงสุวรรณบอกว่า สำหรับแมกคาเดเมียนั้น มันเป็นอะไรที่ยากทุกขั้นตอน
           
โครงการหลวงทั้งตีนตกและป่าเมี่ยงเขาส่งเสริมให้ปลูก ลุงสุวรรณเท้าความถึงเมื่อแรกมาแผ้วถางที่ทางเพื่อทำสวนบนดอยแม่แจ๋ม ต้นพันธุ์แมกคาเดเมียต้นละ 160 บาท ผมก็เอามาปลูกไว้บนนี้ สมัยที่ยังอยู่เวียงป่าเป้า ประมาณปี 2536 แล้วก็ทิ้งไปไม่ได้มาดูแล ผ่านไปหลายปีถึงขึ้นมาดู ปรากฏว่ามันติดผล หลังจากนั้น ลุงสุวรรณเริ่มรู้ว่า กว่าแมกคาเดเมียจะออกผลก็ล่วงเข้าปีที่ ของการปลูก แต่กว่าจะมีมากพอสำหรับการขายก็ต่อเมื่อเข้าปีที่ 10 นั่นแหละ
           
สมัยก่อนราคาดี กิโลกรัมละ 1,500-2,000 บาท แต่ตอนนี้เริ่มมีคนปลูกมากขึ้น ราคาเกรด อยู่ที่กิโลกรัมละ 1,200 บาท
           
แมกคาเดเมียเป็นไม้ยืนต้นที่ต้องอาศัยเรี่ยวแรงและการประคบประหงมไม่น้อย ทั้งระยะเวลายาวนานกว่าจะให้ผลผลิต ไหนจะต้องจ้างคนงานขนออกมาจากป่า การกะเทาะเปลือกที่ขึ้นชื่อในเรื่องความแข็ง ไหนจะการคั่วอีก ทว่า มันก็ให้ผลที่น่าชื่นใจ นอกจากเม็ดแมกคาเดเมียจะอร่อยเลิศรสแล้ว ยังสามารถนำมาสกัดเย็นเป็นน้ำมันแมกคาเดเมียบำรุงผิวพรรณได้อีกด้วย
           
ชาวไร่จะรอให้ผลแมกคาเดเมียหล่นจากต้นเองแล้วจึงเก็บผลที่หล่นนั้น พวกเขาจะไม่ปลิดผลออกจากขั้วเอง แม้แมกคาเดเมียในวันที่เราไปเที่ยวไร่ลุงสุวรรณจะถูกเก็บไปหมดแล้ว แต่ก็ยังหลงเหลือบางผลให้ได้หยิบขึ้นมาดู แล้วก็พบว่า เปลือกของมันหนาจริง ๆ สมัยก่อนชาวบ้านใช้วิธีทุบทีละเม็ด แต่สมัยนี้มีเครื่องกะเทาะเปลือกแล้ว
           
จากบ้านแม่แจ๋ม ทางหลวงหมายเลข 1252 ยังสามารถขับรถไปเที่ยวในเขตจังหวัดเชียงใหม่ที่ตำบลเทพเสด็จ เที่ยวบ้านป่าป่านที่ความสูง 1,500 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง ซึ่งเป็นแหล่งปลูกกาแฟอะราบิกาและยังมีกิจกรรมโหนสลิง ต่อไปยังบ้านปางบง บ้านกิ่วต่ำ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง ก่อนเข้าสู่เขตดอยสะเก็ดและตัวเมืองเชียงใหม่ นับเป็นเส้นทางขับรถเที่ยวจากอำเภอเมืองปานไปยังเมืองเชียงใหม่ในระยะทางราว 50 กิโลเมตร ที่งดงามไปด้วยวิวป่าเขาและร่มเงาของพืชพรรณที่น่าเรียนรู้

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1049 วันที่ 9 - 15 ตุลาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์