วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2558

เด็ดปีก ผอ.ไทยพีบีเอส คำตอบไม่ได้อยู่ในสายลม

           
คุณสมชัย สุวรรณบรรณ เปิดใจครั้งแรก หลังถูกปลดฟ้าผ่า ในรายการ FACETIME ทาง SPRING NEWS กับ ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ ว่า คนที่ทำสื่อมาทั้งชีวิต มีสิ่งที่ต้องปกปักรักษา นั่นคือ อหังการ์ของสื่อ อหังการ์ของเขาภายใต้ความคาดหวังเรื่องเรทติ้งของกรรมการนโยบาย อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดที่ไม่ได้ปรากฏในหนังสือเลิกจ้าง
           
สำหรับผมกับคุณสมชัย เราพบกันครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 12 กันยา ในงาน 50 ปี นิเทศ จุฬาฯ ยังปรับทุกข์กันเรื่อง ตำแหน่ง ผอ.ไทยพีบีเอส โดยคุณสมชัย สุวรรณบรรณ บอกว่าปีหน้าเขาจะเกษียณอายุในตำแหน่ง ผู้อำนวยการแล้ว และคงไม่ได้ทำงานต่ออีก เนื่องจากอายุเกินตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้
           
บทสนทนาสั้นๆ คืนนั้น ผมได้พูดถึงสถานะของผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ว่าคงหาคนที่เสียสละมาทำงานในตำแหน่งนี้ยากยิ่ง เพราะนอกจากต้องเข้าใจบทบาทของสื่อสาธารณะ ที่แปลกแยกแตกต่างจากความเข้าใจของสังคมทั่วไปที่มีต่อสื่อพาณิชย์แล้วยังต้องต่อสู้กับกรรมการนโยบาย ร้อยพ่อพันแม่ ที่ต่างมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องความเป็นสื่อสาธารณะแตกต่างกันไป ต้องต่อสู้กับความสำคัญผิดในบทบาทของกรรมการนโยบาย ที่มีหน้าที่กำกับดูแลเรื่องทิศทาง และปกป้องความเป็นอิสระของไทยพีบีเอส
           
แต่ในหลายยุคสมัย กรรมการนโยบายกลับเข้าใจว่าเป็นผู้บริหารที่ต้องรับผิดชอบคะแนนนิยม ความพึงพอใจของคนดู และเรียกร้องต้องการในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ในความเป็นสื่อสาธารณะ
           
การได้มาซึ่งกรรมการนโยบายบางคน ก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้าอย่างยิ่ง เพราะโดยกระบวนการไม่สามารถเลือกคนที่ดีที่สุด คนที่มีคุณสมบัติที่ดีที่สุดได้เลย ครั้งหนึ่ง เมื่อมีการเลือกกรรมการนโยบาย ในฐานะกรรมการสรรหาคนหนึ่ง หลังจากดูเอกสาร ประวัติการทำงาน และฟังวิสัยทัศน์แล้ว ผมและกรรมการบางท่าน ยืนยันว่า กรรมการท่านนั้นมีคุณสมบัติไม่เพียงพอที่จะเป็นกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส แม้คะแนนของกรรมการจะเป็นอันดับหนึ่งก็ตาม ไทยพีบีเอสควรจะมีโอกาสได้คนที่ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ และควรมีช่องทางที่จะสรรหากรรมการนโยบายใหม่ แต่ข้อคัดค้านนั้นตกไป
           
นี่คงไม่ใช่เรื่องความผิดพลาดในแง่ตัวบุคคล แต่เป็นความผิดพลาดและความเลวร้ายของระบบ ที่เอาคนที่ไม่เข้าใจงานสื่อ มาตัดสินวิชาชีพสื่อ ร้ายกว่านั้น ก็คือไม่มีความกล้าหาญเพียงพอที่จะปกป้องความเป็นอิสระของ ไทยพีบีเอส ไม่ว่าความไม่กล้าหาญนั้นจะมาจากการสยบยอมต่อผู้มีอำนาจ ที่พยายามแทรกแซง ชี้นำงานของ ไทยพีบีเอสตลอดมาหรือไม่ก็ตาม
           
การเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายค่าชดเชย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ต้องเป็นกรณีที่ลูกจ้างกระทำโดยตั้งใจให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง หรือนัยหนึ่งลูกจ้างต้องกระทำโดยรู้สำนึกของการกระทำว่าจะเกิดความเสียหาย แก่นายจ้าง
(คำพิพากษาฏีกาที่ 4204/2551)
           
เป็นวิธีการเรียกร้องความเป็นธรรมวิธีหนึ่ง ซึ่งคุณสมชัย กำลังพิจารณาฟ้องศาลปกครอง เพราะเป็นกรณีพิพาทระหว่างเอกชน กับหน่วยงานรัฐ
           
แน่นอนว่า ต้องฟังความทั้งสองด้าน คณะกรรมการนโยบายอาจมีเหตุผลที่มีมติเอกฉันท์ในการเลิกจ้างคุณสมชัย ในขณะที่คุณสมชัย ก็ต้องเลือกวิธีการพิสูจน์ความจริงที่ชัดเจนและสังคมยอมรับได้ ในขณะที่การโต้แย้งเพื่อสนับสนุน ทั้งตัวผู้ถูกเลิกจ้าง และความชอบธรรมของฝ่ายผู้เลิกจ้าง อาจมิใช่สาระสำคัญอีกต่อไป เพราะต่างฝ่ายต่างมีภาระการพิสูจน์อยู่แล้วในศาล
           
แต่ในภาพของคนที่รู้จักคุ้นเคยคุณสมชัย มากกว่ากรรมการนโยบาย ขณะนี้เสียงของคุณสมชัยอาจดูมีน้ำหนักกว่าในตอนนี้
           
อีกทั้งเห็นว่า เรื่องของคุณสมชัย มิใช่เรื่องตัวบุคคล แต่มันคือการยืนยันหลักการความเป็นอิสระของสื่อสาธารณะ อันเป็นหมุดหมายสำคัญของการปฏิรูปสื่อ สมาคมวิชาชืพสื่อที่เกี่ยวข้องไม่อาจนิ่งดูดาย และปล่อยให้คุณสมชัย ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว หากสิ่งนั้นคือการต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระของไทยพีบีเอสอย่างแท้จริง
           
ยกเว้นจะมีผู้นำองค์กรสื่อ ที่คิดถึงแต่ผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง หรือเป็นวัวสันหลังหวะจนไม่กล้ามายืนอยู่กับความถูกต้อง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1050 วันที่ 16 - 22 ตุลาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์