วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ยันไม่มีด่านลอย แจงตั้งถี่สร้างวินัยประชาชน


ผกก.สภ.เมืองลำปาง ยันตั้งจุดตรวจตามกฎหมาย ขานรับนโยบาย สตช.ห้ามด่านลอย เผยตั้งด่านถี่เพื่อสร้างวินัยทางจราจรให้กับประชาชน และป้องปรามการก่อเหตุอาชญากรรม ตามทฤษฎีการปรากฏกายของตำรวจ บนท้องถนน ระบุการตรวจจับเป็นเพียงปลายเหตุ แต่ต้นเหตุอยู่ที่ประชาชนต้องรู้จักกฎหมาย รักษาวินัยจราจร

หลังจากเมื่อวันที่ ต.ค.58  พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการเรียกประชุมผู้รับผิดชอบงานจราจร พร้อมออกนโยบายให้ยกเลิกการตั้งด่านลอยทุกชนิดทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนตำรวจนครบาล ตำรวจทางหลวง ตำรวจภูธร ให้ยกเลิกตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หากจะตั้งด่านจะต้องมีเจ้าหน้าที่ระดับสารวัตรเป็นผู้ควบคุมประจำด่าน หากพบว่ามีการกระทำดังกล่าวจะให้มาช่วยราชการหรือปรับย้ายออก

ในเรื่องดังกล่าว  พ.ต.อ.นิคม เครือนพรัตน์  ผกก.สภ.เมืองลำปาง  เปิดเผยว่า จ.ลำปาง ได้มีการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจต่างๆ ตามกฎหมายอยู่แล้ว  ซึ่งการตั้งด่านตรวจขนาดใหญ่ต้องขออนุมัติจาก ครม. เช่น ด่านสบปราบ  ในส่วนของจุดตรวจต้องเป็นคำสั่งของผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ว่าจะตั้งจุดตรวจที่ใด ตามรูปแบบที่ระเบียบของ สตช.กำหนด  ซึ่ง จ.ลำปางมีทั้งจุดตรวจของจราจร และจุดตรวจของงานป้องกันฯเพื่อควบคุมการเกิดอาชญากรรมโดยได้มีการขออนุมัติเป็นแผนงานไว้ก่อนแล้ว  และการจะเคลื่อนย้ายจุดตรวจขึ้นอยู่กับสถานการณ์และผู้ควบคุมจุดตรวจระดับสารวัตร หรือ ผกก. และรอง ผกก. โดยขออนุมัติจากผู้บังคับการทุกครั้ง ส่วนจะตั้งจุดตรวจกี่จุดนั้นก็แล้วแต่การพลิกผันไปตามสถานการณ์ในพื้นที่ และขึ้นอยู่กับกำลังพลที่มีอยู่

ผกก.สภ.เมืองลำปาง กล่าวต่อไปว่า  ตามนโยบายการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ เน้นย้ำไม่ให้มีการเรียกรถเพื่อค้นหาความผิดหรือการเรียกรับผลประโยชน์  ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้กำชับและเน้นย้ำอยู่เสมอ การตั้งจุดตรวจเรามุ่งเน้นด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมมากกว่า  โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับการตั้งด่านจราจร เพราะเป็นการปรากฏกายของตำรวจบนท้องถนน เป็นการลดช่องว่างการทำผิด เช่น เมื่อคนร้ายต้องการวิ่งราวทรัพย์ เมื่อเห็นว่ามีการตั้งด่านตรวจ ก็อาจจะทำให้ยกเลิกความคิดไปได้ จึงเป็นการป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง การตั้งด่านมีประโยชน์อยู่แต่เราก็ต้องคำนึงถึงการตั้งด่านที่ถูกต้องตามครรลองของกฎหมาย

สำหรับด่านลอย ยังไม่รู้ถึงความหมายที่ชัดเจน แต่เข้าใจว่าเป็นกรณีที่ตำรวจอยู่ตามจุดต่างๆประมาณ 2-3 คน และเรียกตรวจรถที่ขับขี่ผ่านมา โดยพยายามตรวจสอบหาความผิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ  แต่ถ้าเจอผู้ขับขี่ขับรถย้อนศร ตำรวจสามารถเรียกและเขียนใบสั่งได้ เนื่องจากเป็นความผิดซึ่งหน้า กรณีนี้ถ้าเห็นแล้วไม่ดำเนินการ ก็จะเกิดปัญหาเช่นนี้ไปทั่ว  รวมทั้งเรื่องการไม่สวมหมวกนิรภัยก็เป็นความผิดซึ่งหน้าเช่นกัน ทางตำรวจก็พยายามที่จะคอยป้องกันและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน รวมทั้งปราบปรามอาชญากรรม

พ.ต.อ.นิคม กล่าวว่า  การตั้งด่านบ่อยๆนั้น เป็นการกวดขันวินัยอย่างหนึ่ง หากไม่ทำให้ประชาชนมีวินัยทางจราจร อุบัติเหตุย่อมเกิดขึ้นได้ การตั้งด่านของ จ.ลำปาง เป็นกิจจะลักษณะ ตั้ง 9.00-11.00 น.  และ 14.00-15.00 น.  ในช่วงเวลาเร่งด่วนตำรวจก็จะไปบริการประชาชน ไม่กระทบต่อการสัญจรของประชาชน  และทำงานอย่างตรงไปตรงมา   เราไม่ได้วัดเป็นเปอร์เซ็นต์ว่าปัญหาอาชญากรรมลดลงมากน้อยแค่ไหน แต่การที่ตำรวจออกปฏิบัติหน้าที่บนถนนเป็นการป้องกันอาชญากรรมส่วนหนึ่ง ซึ่งมีทฤษฎีอยู่  หากเทียบกับการที่ไม่เห็นตำรวจออกปฏิบัติหน้าที่เลย การที่บุคคลจะกระทำผิดจะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า  ขอย้ำว่าตำรวจไม่ได้ตั้งด่านเพื่อคอยจับผิด เว้นแต่รถต้องสงสัยที่อาจจะก่ออาชญากรรมและยาเสพติด เช่น รถที่ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนจะเน้นย้ำเป็นสำคัญ เพราะจะมีโอกาสกระทำความผิด และก่อเหตุอาชญากรรมสูง  นอกจากนั้นยังกวดขันเรื่องท่อไอเสียดัง เนื่องจากรบกวนผู้อื่น 

“อาจจะมีบ้างที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการตั้งด่านบ่อย แต่เมื่อดูผลการจับกุมของ จ.ลำปาง มีแค่หลักพันต่อเดือน จากประชากรของ อ.เมืองลำปาง ประมาณ 1.6 แสนคน  แต่อัตราการจับกุมเพียงแค่ประมาณ 5 พันคนต่อเดือน โดยเฉพาะเรื่องการจับกุมผู้ไม่สวมหมวกนิรภัย ซึ่งในเรื่องนี้เป็นนโยบายของประเทศที่รณรงค์ให้ประชาชนสวมหมวกนิรภัย เมื่อจับกุมแล้วก็มีค่าปรับ 200 บาท ก็เพื่อให้เกิดความเข็ดหลาบไม่ให้ทำผิดซ้ำอีก ซึ่งก็เป็นการทำเพื่อประชาชนอย่างหนึ่ง คือสร้างความมีวินัยจราจรให้กับประชาชนเอง   ส่วนกระแสเรื่องการทำยอด ตำรวจทุกคนไม่ได้รวยจากตรงนี้ แต่มีเกณฑ์ขั้นต่ำที่ตำรวจควรจะได้รับ นอกจากนั้นก็เอาเงินเข้าหลวงหมด  สำหรับการตั้งโต๊ะปรับในจุดตั้งด่านก็ไม่จำเป็นเสมอไป แต่เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่เร่งรีบ อาจจะไม่สะดวกไปที่สถานีตำรวจ จึงได้นำเจ้าหน้าที่ไปเปรียบเทียบปรับที่ด่านตรวจ”  ผกก.สภ.เมืองลำปาง กล่าว

พ.ต.อ.นิคม  กล่าวทิ้งท้ายว่า  การที่ตำรวจกวดขันจับกุมนั้น เป็นเพียงเรื่องปลายเหตุ ไม่ว่าจะเป็นคดีอะไรก็ตาม ต้นเหตุที่ต้องทำคือ รณรงค์ให้ประชาชนรู้จักกฎหมาย รักวินัยจราจร ตั้งแต่เด็กและครอบครัว  เรามีชุดมวลชนสัมพันธ์เข้าไปให้ความรู้กับโรงเรียนต่างๆ แต่ก็ต้องขอความร่วมมือกับทางโรงเรียน อาจจะต้องบรรจุความรู้เข้าไปเป็นกิจกรรมหนึ่งภายในโรงเรียน ครอบครัวก็ต้องช่วยกันเตือนซึ่งกันและกัน

ขณะที่ประชาชนยังคงมีข้อสงสัยในการตั้งด่านของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จ.ลำปางอยู่ และมีกระแสสังคมออนไลน์ว่า มีการตั้งด่านตรวจบ่อยเกินไปหรือไม่ ใน 1 วันตั้งด่านถึง 3 เวลา และมีการตั้งด่านทุกวัน เมื่อเทียบกับจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ยังไม่พบว่ามีการตั้งด่านตรวจจราจรบ่อยเหมือนที่ จ.ลำปาง

โดยพนักงานเอกชนรายหนึ่ง กล่าวว่า  ประชาชนยังคงอยากรู้ว่าตามกฎหมายแล้วสามารถตั้งได้เลยหรือไม่ เดือนละกี่ครั้ง จุดไหนบ้าง  และใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการตั้งด่าน มีระเบียบหรืออะไรรองรับ เพราะเชื่อแน่ว่าประชาชนคงไม่ไปนั่งอ่านกฎหมายของการตั้งด่านแน่นอน ทางเจ้าหน้าที่เองก็ควรทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบด้วย เพราะที่ผ่านมาเห็นว่ามีการตั้งด่านทุกวัน เหมือนอยากจะตั้งที่ไหนก็ตั้ง เป็นด่านถูกกฎหมายหรือไม่ก็ไม่ทราบ  รวมทั้งเชื่อว่าทุกคนไม่รู้ว่าตำรวจคนไหนยศอะไร มีตำรวจสัญญาบัตรคุมด่านอยู่หรือไม่ ขนาดตนเองยังไม่รู้เลยว่าตำรวจที่มาเรียกตรวจมียศอะไรบ้าง แล้วจะเอาอะไรมายืนยันกับประชาชนได้ว่าด่านนั้นเป็นด่านถูกกฎหมาย  อีกทั้งเงินค่าปรับที่ประชาชนเสียให้นั้น เอาไปไว้ที่ไหน เอาไปทำอะไร และใครได้เงินจากส่วนนี้ ให้ชี้แจงให้ทราบอย่างชัดเจนด้วย

ข้อมูลจากเว็บไซด์ Thai Traffic Police  ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับ เรื่อง มาตรการการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด  ไว้ว่า  1. ความหมายของคำว่า ด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด  1.1 ด่านตรวจ หมายถึง สถานที่ทำการที่เจ้าพนักงานตำรวจออกปฏิบัติหาน้าที่ในการตรวจค้นเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถ (ความหมายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2535) โดยระบุสถานที่ไว้ชัดแจ้งเป็นการถาวร การตั้งด่านตรวจจะต้องได้รับอนุมัติจาก ครม. หรือผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง หรือ กอ.รมน.แล้วแต่กรณี ,  1.2 จุดตรวจ หมายถึง สถานที่ที่เจ้าพนักงานตำรวจออกปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้น เพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถหรือทางหลวงในกรณีปกติเป็นการชั่วคราว โดยมีกำหนดระยะเวลาเท่าที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว แต่ต้องไม่เกิน 24 ชั่วโมง และเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วจะต้องยุบเลิกจุดตรวจดังกล่าวทันที , 1.3 จุดสกัด หมายถึง สถานที่ที่เจ้าพนักงานตำรวจออกปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้น เพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถ หรือทางหลวง ในกรณีที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนเกิดขึ้นเป็นการชั่วคราวและจะต้องยุบเลิกเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจดังกล่าว

2. การจัดตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด  2.1 ห้ามมิให้ตั้งด่านตรวจ จุดตรวจหรือจุดสกัด ในเขตทางเดินรถหรือ ทางหลวงเว้นแต่  2.1.1 ด่านตรวจ การจัดตั้งด่านตรวจจะกระทำได้ ต้องได้รับอนุมัติจาก ครม. หรือผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง หรือ กอ.รมน. แล้วแต่กรณี   2.1.2 จุดตรวจ การตั้งจุดตรวจจะต้องได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชา ตั้งแต่ชั้น ผบก.ขึ้นไป โดยพิจารณาว่าเป็นกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นอย่างยิ่ง และต้องมีกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง   2.1.3 การจัดตั้งจุดสกัด จะตั้งได้เฉพาะกรณีที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉิน หรือจำเป็นเร่งด่วนเกิดขึ้น และจะต้องได้รับอนุมัติาจากผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ระดับหัวหน้าสถานีตำรวจหรือผู้รักษาการแทนขึ้นไป โดยมีกำหนดระยะเวลาเท่าที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนดังกล่าวยังคงมีอยู่เท่านั้น  ,2.2 ให้เลิกด่านตรวจ จุดตรวจ ที่ตั้งขึ้นไม่ตรงตามวัตถุประสงค์และความหมายตามข้อ 1 และ 2 ทั้งหมดตั้งแต่บัดนี้

3. การปฏิบัติ   3.1 การปฏิบัติหน้ามี่ ณ ด่านตรวจ จุดตรวจหรือจุดสกัด จะต้องมีนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรเป็นหัวหน้า และจะต้องแต่งเครื่องแบบในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว , 3.2 การปฏิบัติในการตรวจค้น จับกุม ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ว่าด้วยการนั้นโดยเคร่งครัด ,  3.3 ที่ด่านตรวจหรือจุดตรวจ ต้องมีแผงกั้นที่มีเครื่องหมายการจราจรว่า หยุด” โดยให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ด่านตรวจหรือจุดตรวจ จะต้องมีในการติดตั้งป้ายและเครื่องหมายการจราจร และในเวลากลางคืนจะต้องให้มีแสงไฟส่องสว่างให้มองเห็นได้อย่าง ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตรก่อนถึงจุดตรวจ และให้มีแผ่นป้ายแสดงยศ ชื่อ นามสกุล และตำแหน่งของหัวหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำด่านตรวจและจุดตรวจดังกล่าวนอกจากนั้นให้มีแผ่นป้ายแสดงข้อความว่า หากพบเจ้าหน้าที่ทุจริต หรือประพฤติมิชอบให้แจ้ง ผู้บังคับการ โทร….”(ให้ใส่หมายเลขโทรศัพท์ของ ผบก.ไว้ ข้อความดังกล่าวข้างต้นให้มองเห็นได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 15 เมตร   , 3.4 การตั้งจุดตรวจ หรือจุดสกัด ให้ทุกหน่วยประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยใกล้เคียงให้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบติดต่อกัน โดยมิให้เกิดการตั้งจุดตรวจ หรือจุดสกัดซ้ำซ้อนอันเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้สัญจร ไปมาเป็นอันขาด

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1050 วันที่ 16 - 22 ตุลาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์