วันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2558

คำตอบจากแม่เมาะ


นับเป็นความรับผิดชอบที่น่าชื่นชมยินดี สำหรับคำอธิบายของผู้บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.แม่เมาะ) ที่แก้ไขข้อความซึ่ง กฟผ.อ้างว่าคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อันเนื่องมาจากบทบรรณาธิการ เรื่อง ความตายที่แม่เมาะ” ของลานนาโพสต์

สื่อมวลชนมิใช่สัพพัญญูที่จะรู้แจ้งทุกสิ่ง หากสื่อมวลชนมีหน้าที่สืบค้นหาความจริงเท่าที่สามารถทำได้ บนพื้นฐานของความสุจริต ตรงไปตรงมา และแน่นอน หากข้อความในบทบรรณาธิการดังกล่าวผิดพลาด คลาดเคลื่อนจากความจริง ม้าสีหมอก ในฐานะตัวแทนของกองบรรณาธิการลานนาโพสต์ ก็ยินดีน้อมรับความผิดพลาดนั้น โดยไม่มีคำแก้ตัว และไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น
           
บทบรรณาธิการอันเป็นที่มาของคำชี้แจง ของผู้บริหาร กฟผ.ได้พูดถึงความตายของอีกชีวิตหนึ่ง ที่เกิดขึ้นหลังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และชวนให้คิดว่าระหว่างการพัฒนาและชีวิตมนุษย์คนหนึ่งนั้น สิ่งใดมีค่ามากกว่ากัน
             
อีกชีวิตหนึ่งดับสูญหลังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด สั่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้านที่ได้รับสารพิษ จากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ คือสิ่งที่ตอกย้ำความเจ็บปวดของชาวบ้าน ที่ต้องยอมจำนนต่อ กฟผ.และข้ออ้างในนามของการพัฒนา กว่าจะพิสูจน์และยอมรับกันโดยคำพิพากษาว่า ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่รายรอบโรงไฟฟ้า ต้องล้มตายเป็นใบไม้ร่วง ด้วยอาการป่วยชนิดต่างๆ มาจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่ปล่อยออกมาจากการเผาถ่านหิน เพื่อผลิตไฟฟ้าจริง  ก็อาจกล่าวได้ว่า สายเกินไป 
           
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์และความตายที่แม่เมาะ ก็น่าจะเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะเป็นพลังในการต่อต้านความพยายามในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหิน ไม่ว่าจะตั้งขึ้น ณ ที่ใดในประเทศนี้”
           
ในขณะที่ กฟผ.ชี้แจง เสมือนหนึ่งความตายที่แม่เมาะเป็นความตายโดยธรรมชาติของมนุษย์ ตามอายุขัย ตามภาวะแห่งโรคภัย ที่มนุษย์ทุกคนก็เป็นตามกฎธรรมชาติ หาได้เกี่ยวข้องกับการมีอยู่ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะไม่
           
“คดีโรงไฟฟ้าแม่เมาะและคดีเหมืองแม่เมาะศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาเป็นอันยุติแล้วว่าจากการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินค่ามาตรฐานบางช่วงในปี 2535-2541 ไม่ทำให้ผู้ฟ้องคดีป่วยเป็นโรคนิวโมโคนิโอซีส (โรคปอดที่เกิดจากการทำงาน) โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า กฟผ.แม่เมาะ มีพนักงานปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 6,000 คน มีการตรวจสุขภาพโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจภาพรังสีทรวงอกเป็นประจำทุกปี แต่ไม่พบว่ามีพนักงานป่วยด้วยโรคนิวโมโคนิโอซีส จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ฟ้องคดีซึ่งไม่ได้ทำงานในเหมืองแม่เมาะจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคดังกล่าวมากกว่าพนักงาน
           
และผู้ฟ้องคดีไม่เป็นโรคจากซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โดยอาการของพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์นั้น เกิดจากการหายใจเอาก๊าซซัลฟอร์ไดออกไซด์เข้าไปในร่างกาย ทำให้เกิดการระคายเคือง แต่ไม่มีพังผืดในปอด และไม่มีการสะสมในร่างกาย อาการดังกล่าวเป็นเพียงชั่วคราวและไม่เป็นโรคเรื้อรัง การเจ็บป่วยของผู้ฟ้องคดีจึงไม่ได้เกิดจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์”
           
คำอธิบายของผู้บริหาร กฟผ.บางตอน ก่อนที่จะพูดถึงความตายโดยธรรมชาติของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ
           
ด้วยความเคารพในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และคำชี้แจงของผู้บริหาร กฟผ. “ม้าสีหมอก” เห็นว่า กฟผ.ชี้แจงเกินประเด็นคำถาม โดยเฉพาะวิธีพิจารณาคดีปกครอง ซึ่งบทบรรณาธิการฉบับที่อ้างถึงไม่ได้กล่าวถึงเลยแม้สักถ้อยคำหนึ่ง
           
นอกจากนั้น คำชี้แจงของผู้บริหาร กับปรากฏการณ์ที่แม่เมาะ ยังเป็นปรากฏการณ์ที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งกับผู้ป่วยโรคมินามาตะที่ประเทศญี่ปุ่น อันมีสาเหตุการเจ็บป่วยมาจากสารปรอทของโรงงานผลิตปุ๋ยไนโตรเจน คือเริ่มจากการปฏิเสธและปิดบังสาเหตุการตายของชาวบ้าน
           
 ความตายที่มินามาตะ คงต้องยกยอดไปว่ากันครั้งหน้า

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1048 วันที่ 2 - 8 ตุลาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์