วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

'ป่าเหียง'ฮึด ต้านโซล่าฟาร์ม ยันเก็บ300ไร่เป็นป่าชุมชน


ตัวแทนป่าเหียงยื่นหนังสือถึงรองผู้ว่าฯ -ธนารักษ์พื้นที่  ค้านการขอใช้พื้นที่ราชพัสดุสร้างโซล่าฟาร์ม  ยืนยันจะเก็บพื้นที่ 350 ไร่เป็นป่าชุมชนให้ชาวบ้านทำมาหากิน ด้านธนารักษ์พื้นที่ลำปางเผยกรมธนารักษ์แจ้งเรื่องให้สำรวจและประเมินราคาพื้นที่ราชพัสดุที่ศูนย์ฝึกตำรวจภูธรภาค 5 ขอใช้ อยู่ระหว่างการนำเสนอ พร้อมกับรายงานปัญหาของชาวบ้านให้กรมฯรับทราบ  ขณะที่ผู้การภาค 5 ระบุเป็นนโยบายของ สตช.แต่ยังไม่ได้มีการสั่งการในพื้นที่รับผิดชอบ 

เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 58  ที่ศาลาอเนกประสงค์ วัดป่าเหียง หมู่ 1 ต.บ่อแฮ้ว อ.เมือง จ.ลำปาง  ชาวบ้านป่าเหียง ได้รวมตัวกันประมาณ 100 คน ร่วมกับอาจารย์และนักศึกษา คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ได้เข้าร่วมเวทีเสวนาเรื่อง ป่าบ้านป่าเหียง สู่โรงไฟฟ้าโซล่าฟาร์ม เพื่อเปิดให้ชาวบ้านได้แสดงความคิดเห็นและบอกเล่าถึงทรัพย์ในดินสินในน้ำของป่าชุมชนบ้านป่าเหียง บนเนื้อที่ 350 ไร่  ว่ามีประโยชน์กับชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่อย่างไรบ้าง   รวมทั้งให้ข้อมูลกับชาวบ้านเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าโซล่าฟาร์ม  โดยมีนายทรงพล ศรีคำสุข ผู้ใหญ่บ้านป่าเหียง  นายไตรภพ ชมพูชัย  นายอินจันทร์ กองจินา  นายออน จันทร์พรหมมินทร์  กลุ่มแกนนำร่วมสับเปลี่ยนกันให้ข้อมูล

เนื่องจากที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่า ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีนโยบายจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าโซล่าเซลทั่วประเทศจำนวน 18 แห่ง โดย จ.ลำปาง อาจจะเป็น 1 ใน 18 แห่งของพื้นที่การก่อสร้าง  คาดว่าเป็นพื้นที่ราชพัสดุ จำนวน 350 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตบ้านป่าเหียง ต.บ่อแฮ้ว อ.เมือง  ซึ่งทางศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 5 ได้ขอใช้เป็นสถานที่ฝึกกำลังพล ตั้งแต่ปี 2530  แต่ปัจจุบันได้ไม่ได้ดำเนินการใดๆ จึงเป็นพื้นที่ป่าที่ชาวบ้านเข้าไปหาของป่าเลี้ยงชีพ

นายทรงพล ศรีคำสุข ผู้ใหญ่บ้านป่าเหียง กล่าวว่า   พื้นที่นี้ทางศูนย์ฝึกอบรมภาค  5 ขอใช้มาตั้งแต่ปี 2530 เพื่อศึกภาคสนามให้กับนักเรียนพลตำรวจ แต่ใช้ได้ไม่ถึง 5 ปีก็เงียบหายไป กระทั่งมีนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าจะทำโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซล่าฟาร์ม  ชาวบ้านจึงได้ตื่นตัว เนื่องจากพื้นที่ป่า 350 ไร่ ชาวบ้านใช้ทำมาหากินตั้งแต่ดั้งเดิม หากมาถางป่าเพื่อทำโซล่าฟาร์ม ชาวบ้านก็จะไม่เหลืออะไรเลย   การขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้มีการประชุมคณะกรรมการฯอย่างต่อเนื่อง  ที่ผ่านมาได้ยื่นขอเอกสารจากธนารักษ์พื้นที่ เกี่ยวการเรื่องการขอใช้พื้นที่ราชพัสดุ แต่ก็ไม่ได้รับมูล จึงทำ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารไปเพราะต้องการทราบว่าขณะนี้ที่ดินราชพัสดุดังกล่าว ตำรวจยังขอใช้อยู่หรือไม่ แต่ผ่านมา 2 เดือนก็ยังไม่ได้รับเรื่อง  ตนจึงได้ไปติดตามเรื่องที่ธนารักษ์พื้นที่ ทางธนารักษ์พื้นที่ได้แนะนำให้ ทำหนังสือไม่ต้องการให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่แห่งนี้  จึงได้สอบถามความคิดเห็นจากชาวบ้าน คนที่ไม่เห็นด้วยให้ร่วมลงชื่อพร้อมนำสำเนาบัตรประชาชนมาเป็นหลักฐานเพื่อยื่นคัดค้านให้กับทางธนารักษ์พื้นที่ลำปาง รวมไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางด้วย

“นโยบายของผู้ว่าฯ บอกไว้ชัดเจนว่า 1 หมู่บ้าน 1 ป่าชุมชน  ซึ่งผืนป่าแห่งนี้เป็นของชาวบ้านป่าเหียงมาแต่ดั้งเดิม เราจะไม่ยอมให้นำป่าบ้านเราไปทำโรงไฟฟ้าเด็ดขาด”   นายทรงพล กล่าว

ต่อมาวันที่ 29 ต.ค. 58 กลุ่มตัวแทนชาวบ้าน นำโดยนายทรงพล ศรีคำสุข ผู้ใหญ่บ้านป่าเหียง ได้นำตัวแทนเข้าพบนายสมชัย กมลเทพเทวินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด  และนายสุวพงศ์ สงวนศักดิ์  ธนารักษ์พื้นที่ลำปาง เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการให้เอกชนเข้ามาดำเนินการโรงไฟฟ้าโซล่าเซลล์ในพื้นที่ป่าของหมู่บ้าน  และขอให้รองผู้ว่าฯช่วยติดตามเรื่องโครงการก่อสร้างระบบชลประทาน หลังจากได้มีการระงับการก่อสร้างพื้นที่ อ.ห้างฉัตร ทำให้ชาวบ้านไม่มีน้ำใช้ทางการเกษตร

นายสุวพงศ์ สงวนศักดิ์ ธนารักษ์พื้นที่จังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า  ทางศูนย์ฝึกตำรวจภูธรภาค 5 ได้ขอใช้พื้นที่ราชพัสดุ พื้นที่ 350 ไร่ เขตบ้านป่าเหียง ต.บ่อแฮ้ว อ.เมืองลำปาง ติดต่อกับ อ.ห้างฉัตรมาตั้งแต่ปี 2530 จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้ส่งคืนพื้นที่ให้กับทางธนารักษ์  จากนั้นทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับการเสนอโครงการทำโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซล่าฟาร์มจากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง  โดยจะใช้ที่ดินของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ว่างอยู่ จึงได้สำรวจทั่วประเทศว่ามีที่ไหนบ้าง  ผนวกกับที่ จ.ลำปางมีที่ดินราชพัสดุที่ทางศูนย์ฝึกตำรวจภูธรภาค 5 ขอใช้อยู่ที่ จ.ลำปาง  เมื่อเดือน ก.พ.58 ที่ผ่านมา ทางกรมธนารักษ์ได้ทำหนังสือสอบถามเข้ามาที่สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ว่าที่ดินดังกล่าวมีสภาพเป็นอย่างไร ราคาประเมินเท่าไร  โดยให้รายงานกลับไปให้กรมธนารักษ์ทราบ

ธนารักษ์พื้นที่ลำปาง กล่าวต่อไปว่า  กรณีที่ชาวบ้านป่าเหียงต้องการให้พื้นที่ดังกล่าว คงสภาพเป็นป่าชุมชนตามนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง 1 หมู่บ้าน 1 ป่าชุมชนนั้น สามารถทำได้ แต่ต้องให้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ อบต.บ่อแฮ้ว เสนอเรื่องเข้ามา ทางชาวบ้านไม่สามารถยื่นขอเองได้ แต่ทราบจากทางชาวบ้านกับทาง อบต.ไม่สามารถประสานกันได้  ดังนั้นทางปลัดอาวุโสอำเภอเมืองลำปางจึงจะเป็นตัวแทนประสานกับทาง อบต.บ่อแฮ้วให้   หลังจากนี้ทางธนารักษ์พื้นที่จะได้รายงานกลับไปยังกรมธนารักษ์เกี่ยวกับเรื่องสภาพพื้นที่และราคาประเมิน รวมทั้งจะรายงานเรื่องที่ชาวบ้านป่าเหียงยื่นเรื่องเข้ามาแนบไปด้วย เพื่อให้ทางกรมธนารักษ์ได้รับทราบถึงปัญหา ส่วนทางกรมธนารักษ์จะพิจารณาอย่างไรนั้นคงต้องรอติดตามผลต่อไป

ด้านนางพจนีย์  ขจรปรีดานนท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด กล่าวยืนยันว่า พื้นที่บ้านป่าเหียงเป็นพื้นที่สีชมพู ไม่สามารถสร้างโรงงานใดๆได้  แต่กรณีการใช้พื้นที่ของทางราชการจะมีข้อยกเว้นและมีข้อกำหนดอยู่  จึงต้องตรวจสอบเป็นกรณีไป ซึ่งเรื่องการก่อสร้างโซล่าฟาร์มยังไม่มีใครมายื่นของตรวจสอบพื้นที่

พล.ต.ท.ธนิตศักดิ์ ธีระสวัสดิ์  ผบช.ภ.5  กล่าวว่า นโยบายเรื่องพลังงาน เป็นเรื่องที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินงาน ขณะนี้เป็นแผนงานที่จะพิจารณาดำเนินการ  ซึ่งยังไม่มีการเริ่มดำเนินการในส่วนของภูธรภาค 5

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1052 วันที่ 30 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์