วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

แม่เมาะ ไร้แผ่นดิน

          
นถึงวันนี้ ครั้งที่เจ็ดแล้ว ชาวบ้านแม่เมาะยังไม่สามารถสูดหายใจได้เต็มปอด เพราะไม่สามารถอพยพไปสู่ผืนดินใหม่ตามมติคณะรัฐมนตรีได้ กรมป่าไม้เจ้าของที่ดินรองรับ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคู่พิพาทชาวบ้านกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนั่นเป็นเหตุผลที่ชาวบ้านยังต้องตั้งตารอคอยต่อไป
           
คงเป็นหน้าที่ของ กฟผ.ที่ต้องติดตาม เจรจากับกรมป่าไม้ เพื่อให้ชาวบ้านไม่ต้องทนทุกข์ เสี่ยงภัยจากมลพิษอีก
           
เรารอมานาน เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2552   จนกระทั่งมีมติ ครม.ปี 2556  และได้มีการทำบันทึกชัดเจนให้อพยพภายใน 3 ปี  พอมาตอนนี้เรื่องยังวนอยู่ในอ่าง ไม่มีความคืบหน้า ซึ่งติดอยู่ที่อธิบดีกรมป่าไม้ยังไม่อนุมัติให้เข้าพื้นที่  รวมทั้งกลุ่มผู้บุกรุกพื้นที่รองรับการอพยพจำนวน 64 ราย ก็ยังไม่มีใครเข้าไปจัดการ ช่วยเหลือ เยียวยาคนกลุ่มนี้ ซึ่งได้เข้าไปใช้พื้นที่ก่อนที่จะมีมติ ครม.ออกมาแล้ว
           
แสงจันทร์ มูลซาว ผู้ใหญ่บ้านห้วยคิง พื้นที่หนึ่งในเขตอพยพ ระบายความอึดอัด คับข้องใจ
           
คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 ให้อพยพชาวบ้านหลายหมู่บ้านออกจากพื้นที่ โดยให้ กฟผ.รับผิดชอบในวงเงินงบประมาณ 2,970.5 ล้านบาท แต่จนวันนี้การอพยพก็ยังเป็นเพียงตัวหนังสือในมติคณะรัฐมนตรี
           
ไม่ต่างไปจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดทั้งสองคดี ทั้งคดี อีไอเอ และคดีมลพิษ ที่ยังมีประเด็นต้องตีความกันอยู่
           
ในนามของการพัฒนา และการเป็นโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินแห่งแรก ที่ส่งแสงสว่างไปหลายภูมิภาค คือความภาคภูมิใจของคนลำปาง หากแต่เป็นความเศร้าและโศกนาฏกรรมของชาวบ้านที่อยู่รายรอบโรงไฟฟ้า จากรุ่นสู่รุ่น
           
นานกว่าหกทศวรรษแล้ว ที่ชาวบ้านแม่เมาะ มีเพื่อนบ้านเป็นเหมืองถ่านหิน และโรงไฟฟ้าถ่านหิน อุตสาหกรรมพลังงานที่ใหญ่โต ทันสมัย และเก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
           
พวกเขาไม่เคยรู้เลยว่า วันหนึ่ง เพื่อนบ้านใหม่ ที่คล้ายเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเจริญก้าวหน้า ของท้องถิ่นนั้น จะกลายเป็นฆาตกร  ทำร้ายร่างกาย ทำลายชีวิต ทรัพย์สินเงินทอง เรือกสวนไร่นา สัตว์เลี้ยงของเขา อย่างที่เรียกร้องความรับผิดชอบจากใครไม่ได้เลย
           
จนกระทั่งมีกฎหมายและประกาศหลายฉบับที่กำหนดหน้าที่ของ กฟผ.ในการกำกับดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการกำหนดให้มีรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ความคิดที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนอันก่อตัวมายาวนานของชาวบ้านก็เริ่มต้นขึ้น
           
ชาวบ้านแม่เมาะ รุ่นพ่อ รุ่นแม่ ที่รู้สึกถึงความผิดปกติในร่างกาย หายใจติดขัด ปรากฏอาการทางกายที่ไม่รู้ชัดถึงสาเหตุ พวกเขาต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมในพื้นที่กันไปตามมี ตามเกิด แต่เสียงเล็ก เสียงน้อย เหล่านี้ ก็ไม่ดังเท่าโฆษณาชวนเชื่อถึง พลังงานสะอาด ที่ส่งผ่านช่องทางสื่อระดับชาติที่ปราศจากความรับผิดชอบ ด้วยเงินทุนที่มากกว่า อำนาจและฐานะทางสังคมที่เหนือกว่า
           
อย่างไรก็ตาม การต่อสู้เริ่มเห็นความหวังที่เลือนราง เมื่อชาวบ้านส่วนหนึ่งรวมตัวเรียกร้องสิทธิผ่านกระบวนการยุติธรรม
           
ถึงกระนั้นผลคำพิพากษา ก็ไม่แตกต่างไปจากมติคณะรัฐมนตรี เรื่องการอพยพ
           
เป็นชาวบ้านเต็มขั้น สิทธิที่มีอยู่อย่างเดียว คือสิทธิที่จะรอคอย

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1052 วันที่ 30 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์