วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

วิถีข้าวอินทรีย์แห่งบ้านสามขา



กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง
           
ในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ เกษตรกรมากหน้าหลายตาจากแทบทุกอำเภอในจังหวัดลำปางเดินทางมารวมตัวกัน แม้ไม่ใช่กลุ่มใหญ่โต แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พวกเขาทำให้พื้นที่จัดสรรที่มีอยู่น้อยนิดนั้น ละลานตาไปด้วยสีสันแห่งพืชพรรณและเมล็ดข้าว ที่ผ่านการฟูมฟักจากวิถีแห่งเกษตรอินทรีย์
           
ชื่อของบ้านสามขา ตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง การันตีด้วยรางวัลนับไม่ถ้วนที่ชุมชนนี้ได้รับ แต่เป็นเพราะเสียงเอื้อนเอ่ยชวนให้หยุดชิมข้าวในชามขนาดเล็ก ทำให้คนที่ผ่านไปมาไม่อาจปฏิเสธได้ ข้าวหุงในชามที่ปิดฝามิดชิดอยู่นั้น เมื่อเปิดออกเผยให้เห็นเมล็ดข้าวหุงเสร็จแล้วหอมจาง ๆ สีแดงอวบอ้วน ด้วยรสสัมผัสทำให้นึกถึงฝีมืออันเหมาะเจาะของคนหุง ที่ทำให้ ข้าวหอมล้านนา สุกกำลังดี หอมและนุ่มหนึบ ทั้งยังออกรสหวานเจืออยู่ในคำเคี้ยว บอกได้คำเดียวว่า อร่อย
           
เติมอีกก็ได้ นี่ถ้ามีหมูปิ้งมาด้วยก็เหมาะเลย เสียงคุณป้าชวนให้ตักข้าวเพิ่ม พร้อมกับหัวเราะเบา ๆ ในวันนั้นหลายคนคงได้รู้จักข้าวหอมล้านนา ข้าวพันธุ์เด่นของบ้านสามขาที่ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน
           
นารี อินทร์มาปัน หรือป้าติ๋ม ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์บ้านสามขา คือผู้ปลูกข้าวหอมล้านนาคนแรก และปลูกด้วยระบบนาเส้นเดียว SRI เพื่อปรับปรุงพันธุ์ช้าวหอมล้านนาแห่งบ้านสามขา

ข้าวหอมล้านนาเป็นข้าวพันธุ์ใหม่ สร้างจากคู่ผสมของข้าวหอมนิล (Homnii Rice) และข้าวป่าออไรซา นิวารา (Oryza nivara) ปรับปรุงสายพันธุ์โดย ดร. กัญญณัช ศิริธัญญา จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา อายุการเก็บเกี่ยว 105 วัน ให้ผลผลิต 400-500 กิโลกรัม ต่อไร่ ขนาดลำต้นสูง 50-70 เซนติเมตร การแตกกอ 16-20 ต้น ต่อ กอ เมล็ดข้าว 130-200 เมล็ด ต่อ ช่อ ขณะนี้ ผลผลิตไม่พอจำหน่าย เพราะกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่าข้าวไรซ์เบอร์รีเสียอีก ด้วยความหอม เหนียว นุ่ม อร่อย ทั้งยังอุดมด้วยไฟเบอร์ โปรตีน สาร GABA วิตามินบี วิตามินบี ธาตุเหล็ก และแคลเซียม ซึ่งมีส่วนช่วยบำรุงสมอง หัวใจ กล้ามเนื้อ และระบบหมุนเวียนโลหิต รวมทั้งช่วยต้านอนุมูลอิสระและป้องกันการสะสมไขมันในร่างกาย

ที่พิเศษก็คือ ข้าวหอมล้านนาแห่งบ้านสามขาผ่านกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม นับตั้งแต่กระบวนการปรับปรุงบำรุงดินโดยการใช้ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก น้ำหมักชีวภาพ การเพาะต้นกล้าแบบพิถีพิถัน ทั้งการเพาะเมล็ดพันธุ์ในถาดเพาะ การหว่านต้นกล้าในแปลง ก่อนจะปลูกโดยวิธีปักดำแบบกล้าต้นเดียวและการโยนกล้า ทั้งนี้ มีการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์บ้านสามขา เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์บ้านสามขา ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เน้นกระบวนการจัดการที่มีคุณภาพตลอดห่วงโซ่อุปทานข้าวบ้านสามขา เพื่อให้ได้ข้าวหอมล้านนาอินทรีย์ส่งตรงถึงมือผู้บริโภค ดูแลสิ่งแวดล้อม และแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม (Fair Trade)

นอกจากข้าวหอมล้านนาแล้ว ทางกลุ่มฯ ยังมีข้าวสังข์หยด ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวสามกษัตริย์ ข้าวกล้องงอกหอมล้านนา และข้าวกล้องงอกสังข์หยด ราคาขายตั้งแต่กิโลกรัมละ 80-120 บาท

ตักกินอีกก็ได้นะ คุณป้ายิ้มกว้างเชิญชวนอีกครั้ง เราให้กำลังใจบ้านสามขาด้วยการอุดหนุนข้าวหอมล้านนากิโลกรัมละ 90 บาท เมล็ดข้าวในมือนี้ เติบโตขึ้นมาภายใต้ความมุ่งมั่นของกลุ่มฯ ที่ว่า ปลูกด้วยมือ ทำด้วยใจ ใส่ใจผู้บริโภค อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ไม่น่าเชื่อว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์เพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด โดยสามารถผลิตข้าวอินทรีย์ได้ 15,000 ตัน ต่อปี ทว่า 96 เปอร์เซ็นต์ของข้าวอินทรีย์ที่ผลิตได้ถูกส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ นั่นทำให้ประเทศไทยส่งออกข้าวอินทรีย์เป็นอันดับ ของโลก ขณะที่ทั่วโลกมีพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ 839,463 ไร่ โดยส่วนใหญ่อยู่ในจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ ซึ่งต่างก็ผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ เพราะผู้บริโภคเริ่มใส่ใจสุขภาพและมีกำลังซื้อมากขึ้น

อาจบางที ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ข้าวอินทรีย์กับคนไทยคงต้องใช้เวลาเดินทางจากผืนนามาสู่จานข้าวยาวนานสักหน่อย

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1052 วันที่ 30 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์