วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

จาก”ภูธร” ถึง”นครบาล” บทบาท บก.ลานนาโพสต์



นห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรณาธิการลานนาโพสต์ ได้มีโอกาสร่วมวงเสนาว่าด้วยสื่อมวลชน   วง เรื่อง เรื่องหนึ่งคือ “เขียน แชร์ แชท  อย่างไรไม่ผิดกฎหมาย” ในงานประชุมเครือข่ายบรรณาธิการภาคเหนือ ที่โรงแรมไพลิน พิษณุโลก  อีกเรื่องหนึ่งคือ การเสวนาเรื่อง “ปลุกสำนึกจริยธรรมสื่อ จุดเปลี่ยนสังคมไทย” จัดโดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ที่โรงแรมแกรนด์เมอร์เคียว ฟอร์จูน กรุงเทพฯ

งานของเครือข่ายบรรณาธิการภาคเหนือ มุ่งความรู้เรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เคยมีความเข้าใจว่า นับจากวันที่ สิงหาคม 2558 ซึ่งเป็นวันประกาศบังคับใช้กฎหมาย หลายคนคิดว่า จะส่งดอกไม้สวัสดีตอนเช้า ซึ่งเปลี่ยนสีไปในแต่ละวันอีกไม่ได้แล้ว จะส่งภาพวิว ทิวทัศน์ให้กัน หรือคำกลอน คำคมต่างๆไม่ได้อีก

ความจริง เรื่องการส่งดอกไม้ วิว ทิวทัศน์ต่างๆนั้น หากเป็นภาพธรรมดาๆ ที่ไม่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ หรือคำกลอน บทกวีต่างๆ ที่ส่งต่อๆกันมา ไม่ใช่การละเมิดลิขสิทธิ์

ในทางตรงกันข้าม หากเป็นภาพดอกไม้ที่แสดงให้เห็นมุมกล้องที่แตกต่างจากการถ่ายภาพทั่วไป ลักษณะของดอกไม้ที่อาจมีหยดน้ำเกาะ มีผีเสื้อบินมา บทกวี ที่มีผู้แต่งไว้ เหล่านี้ถือเป็นความผิดตามกฏหมายลิขสิทธิ์

แต่ความผิดเช่นนี้ เป็นความผิดตามกฎหมายลิขสิทธิ์อยู่แล้วตั้งแต่ปี 2537 นั่นคือการทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณชน ซึ่งงานศิลปกรรม และงานวรรณกรรม กฎหมายลิขสิทธิ์ใหม่เพียงเขียนให้ครอบคลุม การละเมิดลิขสิทธิ์ ในระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งในขณะร่างกฎหมาย  อินเทอร์เน็ตเพิ่งเริ่มเข้าสู่สังคมไทย

เรื่องใหม่ ของกฎหมายลิขสิทธิ์ใหม่ คือการบัญญัติรับรอง “ข้อมูลบริหารสิทธิ์”

คำว่าข้อมูลบริหารสิทธิ์ คือ การที่เจ้าของลิขสิทธิ์ แสดงความเป็นเจ้าของในงานของเขา ด้วยรูปแบบต่างๆ เช่น การใส่ลายน้ำในภาพถ่าย การเขียนชื่อ หรือสัญลักษณ์แสดงตัวตน หรือการบอกว่าเป็นเจ้าของไอจี ถ้าไปลบ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไข ความเป็นเจ้าของ โทษคือจำคุก ๖ เดือน ปรับ ๒ แสน

เป็นบทเพิ่มโทษให้หนักขึ้น นอกจากความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์เดิม
           
สำหรับการเสวนาเรื่อง “ปลุกสำนึกจริยธรรมสื่อ จุดเปลี่ยนสังคมไทย” เป็นเรื่องที่คล้ายเดินอยู่ในเขาวงกต คือพูดแล้วก็ไม่มีทางออก โทษกันไปโทษกันมา เพราะจริยธรรม เป็นนามธรรม วัดได้ยาก จะรู้เห็นได้ก็ต่อเมื่อมีการแสดงออกมาเท่านั้น

มีความพยายามอย่างยิ่ง ที่จะปลุกสำนึกจริยธรรมสื่อ ในบริบทของสังคมที่สื่อมีความหลากหลายมากขึ้น หากแต่ความรับผิดชอบลดลง อย่างไรก็ตามการจัดให้มีวงสนทนาเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ ยังเป็นกิจกรรมที่ควรส่งเสริมและสนับสนุน

ในฐานะที่ทำงานสื่อมายาวนาน ผ่านจุดเปลี่ยนสำคัญ จากยุควิ่งแลกเช็คมาต่อชีวิตกันวันต่อวัน จนกระทั่งยุคที่เงินทุนขนาดใหญ่เคลื่อนย้าย เข้ามายึดอำนาจการบริหาร และกำหนดทิศทางองค์กรสื่อ ความคาดหวังว่าสื่อจะมีสำนึกจริยธรรมคงเป็นไปได้ในสื่อระดับปฏิบัติการเท่านั้น ในขณะที่เจ้าของที่น่าจะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลง กลับไม่เคยเข้ามาอยู่ในวงจรนี้

ถึงกระนั้น ผมก็ไม่เคยปฏิเสธที่จะร่วมวงเสวนา ถกแถลงหาทางออกกันในเรื่องสำคัญนี้ เพียงแต่ขอให้ตีนติดดิน มองโลกที่มันมีอยู่จริงก่อน แล้วค่อยตอบโจทย์ยากข้อนี้

เสวนาปลุกสำนึกจริยธรรมสื่อผ่านไปแล้ว แต่ผมรู้สึกว่าหลายคนยังไม่ตื่น
           
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1052 วันที่ 30 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์