วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2558

หนุนพันธุ์พื้นถิ่นต้านจีเอ็มโอ นักวิชาการเตือนเป็นเมืองขึ้น16เครือข่ายผนึกกำลัง


นักวิชาการเกษตรลำปาง ตั้งคำถามไทยพร้อมรับ GMO แล้วหรือ เผยเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านของไทยมีมากมายที่ควรดูแลและพัฒนา ส่งออกทำเงินได้มหาศาล อย่ายอมเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของต่างชาติ ขณะที่กลุ่มเกษตรกร 16 เครือข่ายในนามเครือข่ายประชาสังคมลำปาง รวมตัวกันคัดค้าน GMO  เนื่องจากเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อนายทุน และเกษตรอินทรีย์ดั้งเดิมล้มหายตายจาก สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกร

·         รวมตัว

เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 58  เครือข่ายประชาสังคมจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของภาคประชาชน และกลุ่มเกษตรกรจาก 13 อำเภอ รวม 16 เครือข่าย ประกอบด้วย เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา  ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี  สมาคมชีวิตดี เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ เครือขายเด็กและเยาวชน เครือข่ายสตรี  เครือข่ายคนพิการ  ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน  เครือข่ายคนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา จ.ลำปาง  เครือข่ายลุ่มน้ำจาง  เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ลำปาง  เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย เครือข่ายชาวนาลำปาง สมาคมเครือข่ายคนรักษ์สิ่งแวดล้อม และเครือข่ายเกษตรพึ่งตนเอง  ได้เดินทางมาที่ศาลากลางจังหวัดลำปาง เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เพื่อให้ผ่านไปถึงนายกรัฐมนตรี ว่าภาคประชาชนและเกษตรกร จ.ลำปาง ไม่ต้องการ GMO หรือการดัดแปลงทางพันธุกรรม  และร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวไปเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุน สร้างผลเสียให้แก่เกษตรกร ชาวนา ส่งผลประทบต่อระบบนิเวศ เกษตรอินทรีย์แบบดั้งเดิมจะค่อยๆหายไป กลายเป็นการเกษตรตัดต่อพันธุกรรมทั้งหมด  ซึ่งอาจจะส่งผลต่อมนุษย์และสัตว์ได้ในอนาคต

·         เอื้อนายทุน

นางมยุเรศ แลวงค์นิล ตัวแทนจากศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนลำปาง  กล่าวว่า ที่ผ่านมาการผูกขาดเมล็ดพันธุ์โดยบริษัทขนาดใหญ่ เป็นสาเหตุหลักของความยากจนและหนี้สินของเกษตรกร ซึ่งการปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดพืชไว้เพาะปลูกในฤดูกาลต่อไปได้ เปิดโอกาสให้มีการผูกขาดการค้าเมล็ดพันธุ์ ทำให้นายทุนรายใหญ่ได้ประโยชน์  เกษตรกรรมของไทยต้องขึ้นต่อบริษัทเมล็ดพันธุ์เพียงไม่กี่แห่ง อีกทั้งยังเป็นการลดทอนศักยภาพการพัฒนาสายพันธุ์ตามธรรมชาติ และลดระดับความสามารถในการพึ่งตนเองของเกษตรกรลง เป็นการทำลายอธิปไตยและความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทยระยะยาว  ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลายหลายทางชีวภาพของสายพันธุกรรมในระดับสูง จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญด้านความมั่นคงทางอาหารในระดับโลก  หากรัฐบาลเอื้อต่อการเปิดเสรีพืชดัดแปลงพันธุกรรม เหมือนกับเป็นการทำลายจุดแข็งและจุดขายของประเทศโดยสิ้นเชิง

·         เกษตรกรล้มตาย

ด้าน ผศ.นิกร พรหมกิ่งแก้ว  ตัวแทนเครือขายสุขภาวะชาวนา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันในหลายประเทศมีการห้ามพืชดัดแปลงพันธุกรรม โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป ซึ่งการที่ประเทศไทยเปิดเสรี ไม่เพียงเป็นการทำลายจุดแข็งของประเทศแล้ว ยังจำกัดตลาดการส่งออกให้แคบลงด้วย สูญเสียความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้บริโภค ส่งผลต่อการส่งออกสินค้าเกษตรอย่างรุนแรง  นอกจากนั้นยังมีผลเสียในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบเชิงลบต่อทรัพยากรความหลากหลายของพันธุ์พืชท้องถิ่น ความเสียเปรียบเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากต่างชาติเป็นเจ้าของเทคโนโลยีในการพัฒนาสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม การทำเช่นนี้จะทำให้เกษตรกรอยู่ไม่ได้ และล้มหายตายจากกันไปหมด

·         ชะลอ พ.ร.บ.

ทั้งนี้ กลุ่มเครือข่ายฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องคือ ต้องการให้ชะลอและแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เพื่อปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพก่อนนำเสนอสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยให้มีตัวแทนของกลุ่มเกษตรกร ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ พร้อมนำข้อเสนอแนะของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงพาณิชย์ไปประกอบในการปรับปรุงร่างฯด้วย โดยมีนายสมชัย กมลเทพเทวินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นผู้รับหนังสือ และรับปากว่าจะส่งมอบไปถึงรัฐมนตรีในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

·         ห้ามปลูกขาย-วิจัยได้

ด้าน ผศ.ดร.จานุลักษณ์ ขนบดี  อาจารย์สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง กล่าวว่า ตามกฎหมายเดิมประเทศไทยไม่อนุญาตให้ปลูกพืช GMO แต่อนุญาตให้ทำการวิจัยภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการดูแลความปลอดภัยทางชีวภาพ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น และต้องควบคุมการปลูกในโรงเรือนที่มิดชิด โดยเฉพาะการควบคุมละอองเกสร เพราะสามารถนำไปผสมข้ามสายพันธุ์ได้

·         คุ้มครองพันธุ์

ปกติพืช GMO ในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีการคุ้มครองพันธุ์ และจะต้องผ่านการตรวจพันธุกรรมหรือ DNA ถ้าใครไปละเมิดพันธุ์ คือการนำพันธุกรรมที่คุ้มครองอยู่ไปทำเป็นพันธุ์การค้า เจ้าของพันธุ์สามารถเอาผิดต่อผู้ละเมิดได้  การละเมิดพันธุ์เกิดได้จากละอองเกสรสามารถขยายพันธุ์ได้โดยพาหะ เช่น ผึ้งที่สามารถเป็นพาหนะนำละอองเกสรจากพันธุ์พืช GMO ไปสู่พันธุ์พื้นเมืองได้  ซึ่งเกษตรกรอาจจะทราบหรือไม่ทราบก็ได้ โดยได้มีการเก็บเมล็ดปลูกต่อ หรือนำไปจำหน่าย  เมื่อมีพันธุกรรม GMO ติดอยู่ในเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน หากเจ้าของพันธุ์ทราบก็สามารถฟ้องร้องเกษตรกรได้ เหตุการณ์เช่นนี้ในต่างประเทศเกิดมาหลายคดีแล้ว เมื่อฟ้องร้องส่วนใหญ่บริษัทชนะ เพราะพืช GMO มีการคุ้มครองพันธุ์ และละอองเกสรควบคุมไม่ได้

·         เทคโนโลยีไทยไม่พร้อม

ผศ.ดร.จานุลักษณ์  กล่าวต่อไปว่า  ในประเทศไทยคนที่ดูแลเรื่องพันธุ์พืชคือ สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะดูแลการจดคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542  ระบบการคุ้มครองพันธุ์ของประเทศไทย จะดูจากลักษณะการมองเห็นและวัดชั่งตวงได้ ยังไม่ได้มีการใช้ระบบของการตรวจสารพันธุกรรม เนื่องจากเทคโนโลยีในการตรวจสอบยังไม่พร้อม  ห้องปฏิบัติการภาครัฐบาลยังไม่พร้อมให้บริการ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบสูง มหาวิทยาลัยที่มีผลงานทางวิชาการด้านเทคโนโลยีชีวภาพก็มีไม่กี่แห่งที่จะให้บริการ ดังนั้น องค์ความรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เครื่องมือ บุคลากร และการขับเคลื่อนยังไม่มีความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์  และจะต้องใช้งบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์ทั้งหมด เพราะไทยไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี  ต่างจากประเทศจีนอนุญาตให้ปลูก GMO เพราะจีนมีเครื่องมือบางส่วนที่ใช้ของในประเทศ เขามีความพร้อมมากกว่าเราในเรื่องเทคโนโลยีขั้นสูง

·         บริโภคถั่ว GMO มานาน

ส่วนการบริโภคผลิตภัณฑ์ GMO  ผศ.ดร.จานุลักษณ์ กล่าวว่า  ทุกวันนี้ประเทศไทยก็ยังไม่ได้มีกฎหมายบังคับชัดเจนว่าต้องติดสลากที่ผลิตภัณฑ์ว่าผลิตจากพืชดัดแปลงพันธุกรรม แต่มีผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าบางชนิดติดสลากไว้ เช่น เนยที่นำเข้าจากประเทศเยอรมัน จะมีการระบุในสลากไว้ว่า GMO FOOD เป็นต้น   สิ่งที่คนไทยบริโภคมานานมากแล้ว ซึ่งเป็นพืช GMO คือถั่วเหลือง ถ้าดูข้อมูลทั่วโลกพบว่าถั่วเหลืองเกินครึ่งผลิตโดยใช้พันธุ์ถั่วเหลือง GMO มีประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น จีน บราซิล อินเดีย  จะเป็นถั่วเหลืองที่ทนยาฆ่าหญ้าในกลุ่มไกลโฟเซต ซึ่งเป็นแบบดูดซึม  สถิติโดยภาพรวมประเทศไทยบริโภคถั่วเหลืองประมาณ 3 ล้านตันต่อปี แต่ผลิตเองในประเทศได้ไม่เกิน 1 ล้านตันต่อปี  ซึ่งสิ่งที่บริโภคหลัก คือน้ำมันพืชที่สกัดจากถั่วเหลือง  ส่วนเปลือกถั่วและกากที่เหลือนำไปเลี้ยงสัตว์เพราะเป็นแหล่งของโปรตีน เราจึงบริโภคถั่วเหลืองทั้งทางตรงและทางอ้อม  สำหรับการบริโภค GMO  แล้วมีผลกระทบต่อรางกายของมนุษย์หรือไม่นั้น ยังไม่มีรายงานชัดเจน แต่ขณะเดียวกันเคยมีนักวิจัยได้ทำการทดลองกับหนูซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ให้กินอาหารที่มาจาก GMO  ในอัตราที่แตกต่างกันไป พบว่ามีแนวโน้มที่ทำให้หนูที่กิน GMO ผิดปกติกว่ากลุ่มหนูที่กินพืชท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม มีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดผลต่อร่างกายได้

ขณะที่กลุ่มสนับสนุนอาจมองว่าในหลายประเทศใหญ่ๆมีการรับพืช GMO แล้ว รวมทั้ง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ให้ข้อมูลวิชาการเรื่อง GMO ไว้ค่อนข้างมาก เพราะต้องการนำเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามา โดยมีการผลักดันเรื่องนี้พอสมควร

·         ต้องซื้อจากต่างชาติ

ผศ.ดร.จานุลักษณ์ กล่าวอีกว่า  หากเปิดรับ GMO พันธุ์พืชทั้งหมดต้องซื้อจากต่างประเทศ เพราะขณะนี้ประเทศไทยไม่มีบริษัทที่ผลิตเมล็ดพืช GMO จำหน่ายเป็นการค้า และถ้าบริษัทนั้นมีการรับรองพันธุ์ ก็จะทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากการผสมข้ามสายพันธุ์ เนื่องจากไม่สามารถควบคุมละอองเกสรได้

“มีบริษัทคนไทยหลายบริษัทที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดไร่ ข้าวโพดฝักอ่อน ถ้ามีพันธุ์ข้าวโพด GMO เข้ามาในประเทศไทย แน่นอนว่าละอองเกสรของข้าวโพดเป็นพืชผสมข้ามสามพันธุ์ได้ ถ้ามีแมลงเป็นพาหะนำไปก็จะผสมปนเปกันไปหมด แล้วจะมีผลต่อข้าวโพดของไทย เพราะเวลานี้ข้าวโพดหวานส่งออกปีละหมื่นล้าน ตลาดใหญ่ส่งไป EU  แน่นอนว่าสิ่งที่ EU จะตั้งคำถามคือ สินค้าของคุณมีอะไรปะปนมาหรือไม่ ขอให้มีการตรวจสินค้าก่อน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงอีก  ในตอนนี้ตลาดที่รองรับสินค้าเกษตรของไทยในหลายประเทศ ไม่ต้องการสินค้า GMO และไม่ต้องการสินค้าที่มีความเสี่ยง GMO ดังนั้นในเรื่องนี้ต้องตั้งคำถามว่าหากรับ GMO เข้ามาจะเสียลูกค้าหรือไม่”   

·         เมล็ดพันธุ์ไทยดีอยู่แล้ว

ผศ.ดร.จานุลักษณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า  สิ่งที่มีอยู่ของประเทศไทยเราดีอยู่แล้ว มีเมล็ดพันธุ์พื้นเมืองที่ทนต่อสภาพอากาศ ปรับตัวตามสภาพอากาศได้ รสชาติดี ถูกปากคนไทย มีสารอาหารดี แต่ไม่รักษาไว้กลับไปนำเมล็ดพันธุ์ลูกผสมเข้ามาปลูก สิ่งที่มีของเราแต่เดิมก็จะไม่เหลือไปถึงคนรุ่นหลัง วันข้างหน้ารสชาติอาหารไทยก็อาจจะเปลี่ยนไป พันธุ์ใหม่ที่รับเข้ามาปลูกแรกๆก็อาจจะดี แต่ต่อไปก็อาจจะไม่ทนกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ทำให้ต้องใช้ปุ๋ยใช้ยาเพิ่มขึ้น สิ่งที่เคยเป็นและเคยมีอยู่ก็จะเปลี่ยนไป  ดังนั้น สิ่งที่ประเทศไทยมีดีอยู่แล้ว ต้องช่วยกันดูแล

·         ยอมเป็นเมืองขึ้น

ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวย ยังมีหนี้สินอยู่อีกมากมาย ความเป็นอยู่ของชาวบ้านเกษตรกรก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร สิ่งที่ควรประหยัดได้ก็ประหยัดไปก่อน ใช้ของเดิมที่เคยมีไปก่อน เพราะเศรษฐกิจไทยก็แย่หลายเรื่องแล้ว ซึ่งของดีที่มีอยู่ในประเทศไทยมีอยู่มากมาย ประเทศไทยต้องหันกลับมามองดูว่าวันนี้พร้อมแล้วหรือที่จะรับ GMO เข้ามา หรือจะยอมเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของต่างชาติ ผศ.ดร.จานุลักษณ์ กล่าว

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1058 วันที่ 11 - 17 ธันวาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์