วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2558

อวสานเตาโบราณ เมื่อมังกรหลับแล้วชั่วนิรันดร์

กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง

ราวกับโลกหยุดหมุนเมื่อยืนอยู่ต่อหน้าเตาเผาเซรามิกโบราณที่เรียกกันว่า เตามังกร ในโรงงานเซรามิกของรัตนา สินวรรณกุล ภาพคนงานกำลังช่วยกันสุมไฟใส่เตา ความร้อนระอุ เสียงปะทุด้านใน กลุ่มควันที่พวยพุ่งออกจากปล่อง บัดนี้เหลือเพียงความทรงจำเมื่อรัตนาตัดสินใจปิดเตามังกรของเธอไปเมื่อ ปีก่อน ส่งผลให้โรงงานเซรามิกที่เคยเผาถ้วยชามด้วยกรรมวิธีแบบโบราณกลายเป็นโรงงานร้างอย่างน่าเสียดาย

เตี่ยของรัตนา-เซียะหยู แซ่อื้อ คือ ในชาวจีนแคะ คนจากมณฑลไท้ปู ที่ขี่จักรยานไปตามหาแหล่งดินขาวถึงอำเภอแจ้ห่ม จนกระทั่งค้นพบแหล่งดินขาวที่บ้านปางค่า เกลอแก้วทั้งสามจึงกลับมาชักชวนเพื่อนคนที่ ก่อตั้งโรงงานเซรามิกชื่อโรงงานร่วมสามัคคีที่บ้านป่าขาม เมื่อสั่งสมประสบการณ์จนเก่งกล้า ทั้ง 4 คนก็ได้แยกย้ายออกมาตั้งโรงงานของตนเอง อันได้แก่ โรงงานธนบดี โรงงานไทยมิตร (หลังจากนั้นไม่นานก็ปิดตัวลงและกลายมาเป็นโรงงานสยามเซรามิก) โรงงานกฎชาญเจริญ และโรงงานเจริญเมือง

โรงงานของเตี่ย คือโรงงานสยามเซรามิก รัตนาเล่าว่า เตามังกรของแต่ละโรงงานในยุคนั้น ก่อขึ้นมาด้วยภูมิปัญญาและเทคนิคเฉพาะ เป็นความลับของแต่ละโรงงาน เตามังกรของเตี่ยก่อด้วยแผ่นดินเผารูปสี่เหลี่ยมคางหมู จากนั้นเตี่ยจะกำหนดความโค้งของเตาว่าต้องโค้งกี่องศาเปลวไฟจึงจะวิ่ง เพื่อใช้เวลาเผาให้น้อยที่สุด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความโค้งและความยาวของเตานั่นเอง หากเตายาวเกินไป การควบคุมไฟจะยาก ส่งผลให้ถ้วยชามด้านในได้รับความร้อนไม่ทั่วถึง ทั้งนี้ เตามังกรสามารถเผาถ้วยชามได้ราว 7,600 ใบ ต่อครั้ง โดยใช้ฟืนจากไม้ไผ่แห้ง ซึ่งจะให้ความร้อนได้สูงถึง 1,230-1,260 องศาฯ ใช้เวลาเผาราว 20 ชั่วโมง ที่น่าทึ่งที่สุดก็คือ การคาดคะเนอุณหภูมิในเตาด้วยการใช้สายตาสังเกตลักษณะของเปลวไฟ ซึ่งถือเป็นความชำนาญที่เฉพาะตัวมาก รัตนาบอกว่า ถ้าเปลวไฟกลายเป็นสีขาวกระจ่างตาแสดงว่าเป็นอันใช้ได้

โรงงานสยามเซรามิกดำเนินกิจการแบบครอบครัว ลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อเวลาผ่านไป ขณะที่หลายโรงงานหันไปหาเทคโนโลยีในการเผาเซรามิกแบบใหม่กันแล้ว ทว่าโรงงานสยามเซรามิกยังคงใช้เตามังกรอยู่เช่นเดิม วัตถุดิบก็ยังใช้ดินขาวจากอำเภอแจ้ห่ม ไม่ได้นำดินจากที่อื่นมาผสมแต่อย่างใด ความร้อนสูงจากเตามังกรบวกกับคุณภาพดินขาวอำเภอแจ้ห่มส่งผลให้สามารถขึ้นรูปถ้วยชามได้แม้จะใหญ่ถึง นิ้ว และยังคงความกลมได้อีกด้วย ขณะเดียวกันเนื้อสีของถ้วยชามยังออกโทนสีขาวแบบธรรมชาติ ขาวจนกระทั่งคนจากต่างจังหวัดเข้าใจผิดคิดว่ามีการนำกระดูกมาเป็นส่วนผสม

ด้านการวาดรูปไก่ลงในถ้วยชาม ทั้งพี่สาวและพี่สะใภ้ช่วยกันวาด รัตนาเล่าว่า พี่สาวของเธอนั้น มือหนึ่งคีบพู่กันถึง ด้ามเลยทีเดียว ไก่ของโรงงานสยามเซรามิกมีเอกลักษณ์คือจะอยู่ด้านใน หรือด้านข้างถ้วยชามเสมอ ส่วนหางสีเขียว ขาดูคล้ายกำลังจะออกวิ่ง เป็นไก่ที่ดูแล้วมีชีวิตชีวา นัยน์ตาพริ้มอย่างมีความสุข

เกือบ 40 ปีที่เตามังกรอยู่คู่กับโรงงานสยามเซรามิก อาจเพราะข้อดีของมันที่ทำให้การเผาถ้วยชามเป็นแบบเผาครั้งเดียวจบ ไม่สิ้นเปลือง ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตต่ำ แต่ถ้วยชามที่ได้กลับแกร่งทนทาน เนื่องจากผ่านความร้อนสูงนั่นเอง ทว่าข้อเสียของเตามังกรก็มีเช่นกัน หลัก ๆ เลยก็ได้แก่ คุณภาพไม่สม่ำเสมอ พูดง่าย ๆ ก็คือไม่เป๊ะ ทั้งในเรื่องสีที่ไม่สม่ำเสมอ เรื่องความกลม ซึ่งอาจจะมีเบี้ยวบ้าง นั่นก็เพราะทุกอย่างที่โรงงานสยามเซรามิกใช้คือระบบแมนนวล

หากแต่สิ่งใดกันแน่ที่เราต้องการจากถ้วยชามสัก ใบ  ความไร้ที่ติจากระบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรือสัมผัสแห่งชีวิตชีวาจากแรงคนในธุรกิจขนาดเล็ก

เดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 โรงงานสยามเซรามิกปิดตัวเองลงอย่างเงียบ ๆ ด้วยปัญหาหลายอย่างรุมเร้า ทั้งเรื่องเงินทุนและนโยบายที่แม้จะสวยหรู แต่เอาเข้าจริง ๆ ก็ไม่เคยตกมาถึงมือของธุรกิจขนาดเล็ก

ก่อนปิดเตามังกรไปตลอดกาล ถ้วยชามล็อตสุดท้าย 7,000 กว่าใบ เจ๊เชียง-พี่สาวของรัตนา บรรจงวาดลวดลายตามใจของเธอ ทั้งรูปไก่ รูปช้าง และรูปปลา แต่ละใบถูกจัดวางลงในจ๊อ (ภาชนะที่ใช้รองถ้วยชามขณะเผาในเตามังกร ทำจากดินทนไฟ) คนงานมุดเข้าไปในเตา จัดเรียงซ้อนกันจนเต็ม ปิดประตู แล้วเริ่มกระบวนการเผา ซึ่งไม่เคยผิดเพี้ยนไปจากเมื่อครั้งเตี่ยยังอยู่

ต่อหน้าเตามังกรที่บัดนี้นอนเหยียดยาวสงบนิ่ง ทั่วทั้งโรงงานเงียบเชียบ ถ้วยชามเนื้อดินดิบบางส่นยังคงวางซ้อนกันอยู่บนชั้น พู่กัน สี ยังอยู่บนโต๊ะ เหมือนรอใครสักคนมาสานต่อการงานตรงหน้าให้ลุล่วง แต่ในความเป็นจริง ไม่มีใครเหลืออยู่ รัตนาเดินหันหลังให้กับโรงงานที่เคยคึกคัก ปล่อยมังกรให้นอนหลับใหลชั่วนิรันดร์

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1058 วันที่ 11 - 17 ธันวาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์