วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558

กำพล...คือคนหนังสือพิมพ์

           
ม่น้อยกว่า ปี ที่ผมได้มีโอกาสไปร่วมระลึกถึงวันเกิดของ ป๊ะกำพล วัชรพล ขุนพลคนหนังสือพิมพ์ ผู้สร้างอาณาจักรไทยรัฐ ให้เป็นสถาบันสื่อที่มั่นคง แข็งแรง และเป็นที่เชื่อถือศรัทธาทั้งภายในและภายนอกองค์กร ป๊ะกำพลสิ้นไปเกือบ 20 ปีแล้ว แต่ความเป็นกำพลยังคงปรากฏอยู่ในทุกอณูของความเป็นไทยรัฐ
           
ครั้งสุดท้าย เมื่อปีก่อน ผมหอบกระเช้าดอกไม้ไปร่วมระลึกถึงป๊ะ ในวันคล้ายวันเกิด 27 ธันวาคม  และถือเป็นการแสดงความยินดีในความสำเร็จอีกปีหนึ่งของไทยรัฐ ไม่นานจากนั้น คุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล ประธานกรรมการไทยรัฐ ก็มีหนังสือตอบขอบคุณ และอวยพรให้ประสบความสำเร็จเช่นกัน
           
นับเป็นความละเอียดอ่อนของไทยรัฐ ที่ใส่ใจแม้เรื่องเล็ก เรื่องน้อย แต่ก็เป็นเรื่องที่มีคุณค่าทางจิตใจ ซึ่งต่างจากองค์กรสื่อบางองค์กรที่พยายามแสดงราคาความเป็นมืออาชีพ เป็นต้นแบบของความถูกต้องดีงาม แต่ความจริงมันคือโรงงานอุตสาหกรรม ที่ตีค่ามนุษย์เป็นเพียงชิ้นส่วนเครื่องจักรกลชิ้นหนึ่ง
           
ผมทราบมาว่า ก่อนป๊ะกำพลจะสิ้น ท่านได้สั่งเสียให้ดูแลคนเก่า คนแก่ของไทยรัฐ ให้ทำงานกันไป โดยไม่เอาออก หรือเห็นเป็นหมาล่าเนื้อที่สิ้นเขี้ยวเล็บ เช่นเดียวกับองค์กรสื่อหลายแห่งที่มีนายทุน กุมอำนาจบริหาร และมองเห็นแต่ผลกำไรเป็นเป้าหมายสูงสุด
           
ถ้านั่งยานเวลาย้อนกลับไปได้ เมื่อเริ่มต้นอาชีพนักข่าวเมื่อ 37 ปีก่อน ผมคงขวนขวายที่จะไปเรียน ก.ไก่ ในอาชีพสื่อที่ไทยรัฐ  แต่ด้วยจังหวะชีวิตที่ทำให้มีโอกาสเพียงได้นั่งทำงานอยู่ที่สำนักงาน และโรงพิมพ์เก่าของไทยรัฐที่ซอยวรพงษ์ บางลำพูเท่านั้น
           
ถึงกระนั้น ก็ได้ติดตาม ศึกษาความสำเร็จของไทยรัฐ ประการหนึ่งคือไว้สอนหนังสือ ประการหนึ่ง จากกิตติศัพท์เล่าลือถึงความเป็นกันเองของผู้ก่อตั้งไทยรัฐ ตกเย็นเตะตะกร้อ เล่นหมากรุกกับลูกน้อง ในขณะที่เวลางานก็เอาจริงเอาจัง โดยเฉพาะการผูกมิตรและสร้างสายสัมพันธ์กับเอเย่นต์จำหน่ายหนังสือ ที่ผู้บริหารสื่อรุ่นใหม่พยายามจะดำเนินรอยตามแต่ก็ทำไม่สำเร็จ
           
เพราะสิ่งที่กำพล วัชรพล ทำมันออกมาจากใจ มิใช่ธุรกิจหรือมุ่งหวังหาเงิน หาทองเท่านั้น
           
สมบูรณ์ วรพงษ์ อดีตบรรณาธิการไทยรัฐ เล่าเรื่องป๊ะกำพล ไว้อย่างน่าสนใจ
           
เขา ผู้นี้มาจากไม่มีอะไร ทั้งพื้นฐานการศึกษาและสภาพแวดล้อมของวัยเด็ก แต่..จากความมุมานะบากบั่น จนกระทั่งก้าวขึ้นมาสู่ “ความเป็นราชา” ของวงการ ที่มักจะเรียกกันว่า ไส้แห้ง ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า
           
ความมุมานะ พยายาม เป็น “สูตรแห่งความสำเร็จ” เขาได้บอกเคล็ดลับต่อผู้ร่วมงานไว้ว่า
           
“ขอให้ทุกคนเข้าใจว่า เรากำลังทำอะไร และเราจะต้องทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ”
           
หากจะกล่าวถึงเคล็ดลับของเดล คาร์เนกีแล้ว “เขา” ผู้นี้ ซึ่งไม่เคยอ่านชีวประวัติความสำเร็จของเดล คาร์เนกี มาก่อนเลย กลับมีอะไรตรงกันที่ว่า
           
“ลงทำอะไรแล้ว ขอให้ทำสิ่งนั้นอย่างจริงจัง”
           
ชีวิตของเขาค่อนข้างพิสดารตรงที่ว่า การจับงานหนังสือพิมพ์นั้น เขามิได้คาดคิดมาก่อนเลยว่า จะสามารถไต่อันดับขึ้นมาอยู่แถวหน้า อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
           
สมัยเมื่อ 40 ปีมาแล้ว ถ้าหากใครจะจับงานหนังสือพิมพ์เป็นธุรกิจ ดูจะเป็นของเย้ยหยันของบรรดานักลงทุนทั้งหลาย เพราะกิจการประเภทนี้ ในสมัยเมื่อ 40 กว่าปีมาแล้ว เขาถือว่าเป็น “เครื่องเล่น” ของผู้บุญหนักศักดิ์ใหญ่ ไม่ขุนน้ำ ขุนนาง ก็นักการเมืองที่แสวงหาอิทธิพลทางหนังสือพิมพ์
           
ยิ่งกว่านั้น เมื่อยักษ์ใหญ่ที่ผงาดก่อนหน้า คือค่ายพณิชยการของ อารีย์ ลีวีระ กำลังคุมตลาดทั่วประเทศ การที่จะแหวกว่ายขึ้นมาจนยืนอยู่ได้นั้นยากเหลือเข็ญ
           
แต่สิ่งนี้ “เขา” ทำได้ ด้วยการก่อตั้งหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์เล็กๆขึ้นมาชื่อ “ข่าวภาพรายสัปดาห์” ออกที่สี่กั๊กเสาชิงช้า มีเพื่อนร่วมงานเพียง คน
           
วันนี้ระลึกถึงป๊ะกำพล เพียงสั้นๆ กับแรงบันดาลใจที่ทอดยาวไปแสนไกล คน คนวันนั้น คือคนนับพัน และความเป็นสถาบันไทยรัฐที่มั่นคงในวันนี้

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1058 วันที่ 11 - 17 ธันวาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์