วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2559

“สื่อ” กับ “ศพ” บนเส้นทางจริยธรรม


มีความจริงหลายชุด ในนาทีชุลมุน จนผ้าคลุมหน้าปอเกือบหลุดออกมา ขบวนแถวพิธี พระสงฆ์นำ ต้องเสียกระบวน จากการเบียดเสียด ยัดเยียดของนักข่าว เพื่อให้ได้ภาพชัดที่สุด โดยเฉพาะภาพใบหน้าของปอ ที่แฟนคลับจะเห็นเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนร่างของเขาจะลงไปนอนเหยีดยาวในโลง

คนกลุ่มหนึ่งวิพากษ์ วิจารณ์ ใช้ถ้อยคำ วาทกรรมแห่งความเกลียดชังสาดใส่นักข่าว ช่างภาพ ไม่ยั้ง ในขณะที่นักข่าวที่อยู่ ณ จุดเกิดเหตุ พยายามอธิบายว่าภาพที่เห็น ไม่ใช่ความจริง

พวกเขาพยายามหาเหตุผลมาอธิบาย แน่นอนว่าอาจรับฟังได้ส่วนหนึ่ง แต่อีกหลายส่วนก็ต้องยอมรับว่า นี่คือพฤติกรรมซ้ำซากของสื่อมวลชน ที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า จนแทบคาดหวังไม่ได้ว่าจากนี้ไป สื่อมวลชนจะมีความรับผิดชอบมากขึ้นอย่างไร เพราะเมื่อเขายืนยันว่าไม่มีส่วนในการละเมิดสิทธิคุณปอ แต่ผู้ที่สร้างความวุ่นวาย เป็นนักข่าวผี เป็นคนนอก เป็นเคเบิลทีวีต่างจังหวัด การแก้ไขหรือทบทวนบทบาทอันเหมาะสมในการทำข่าวของสื่อมวลชนก็จะไม่เกิดขึ้น

นักข่าวหากินกับศพ หากินกับความทุกข์ยาก เดือดร้อนของคนอื่นมานานปี

เอาเฉพาะกรณีของ ปอ

นับจากวันแรกที่ปอ ทฤษฏี สหวงษ์ ล้มป่วยลง จนวินาทีสุดท้ายที่เขากลับออกมาด้วยร่างที่ห่มคลุมด้วยผ้าขาว ชีวิตครอบครัวของเขา ไม่เคยเป็นสุขเลย แม้จะมีความหวังเลือนราง แต่ทุกคนก็เตรียมใจไว้แล้วว่าวันนี้จะมาถึง

แถลงการณ์ของโรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ออกมาเป็นระยะๆแสดงถึงความพยายามประคับประคอง ชีวิตปอให้อยู่ให้นานที่สุด ด้วยหวังว่าจะมีปาฏิหาริย์ให้เขาฟื้นคืนกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง
ในยามนี้ ทุกคนที่เคยผ่านประสบการณ์เช่นนี้ ย่อมรู้ดีว่า สิ่งที่พวกเขาปรารถนามากที่สุด คือความสงบ ความเป็นส่วนตัว สำหรับเวลาสุดท้ายกับคนที่รัก

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ปอและครอบครัวของเขาแทบไม่ได้มีโอกาสเช่นนี้เลย ด้วยความพยายามที่จะรายงานทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับปอ พ่อของเขา แม่ น้องชาย โบว์ และมะลิ เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ซุกชนไปตามประสา แต่ถูกละเมิดสิทธิโดยสื่อที่ขาดไร้ความรับผิดชอบ

จากนี้ไป ความทุกข์ ความเศร้าจะเข้าครอบครองชีวิตของพวกเขา หนักขึ้น รุนแรงมากขึ้น มีเพียงความเข้าใจ ความเป็นมนุษย์เท่านั้นที่จะปลดปล่อยคนในครอบครัวสหวงษ์ ให้มีชีวิตเช่นเดียวกับคนปกติทั่วไปต่อไป

แต่ด้วยความต้องการเพียงขายข่าวให้ละเอียดที่สุด มุมกล้องดีที่สุด ใกล้ชิดมากที่สุด โดยไม่ใส่ใจว่าใครจะรู้สึกหรือคิดอย่างไร ภายใต้นายทุนและผู้บริหารกองบรรณาธิการที่หวังผลเพียงธุรกิจ คนเหล่านี้คือคนที่ทำมาหากินอยู่บนความทุกข์ร้อนของคนอื่น สร้างกำไรจากการซ้ำเติมโศกนาฏกรรมหรือความทุกข์ของคนอื่น

เมื่อสื่อมุ่งแต่จะเสนอข่าวเพียงเพื่อตอบสนองสัญชาตญาณความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ โดยปราศจากความรับผิดชอบ การปฏิเสธ ไม่ซื้อ ไม่อ่าน ไม่ฟัง ไม่ดู จึงอาจเป็นขั้นต้น ที่จะสั่งสอนพวกสื่อสวะให้เข้าใจและตระหนักถึงบทบาทที่ควรเป็น

อีกประเด็นหนึ่ง คือการตั้งคำถามกับผู้สูญเสีย เพราะคนอ่านชอบ เพราะคนดูอยากเห็น พวกเขาจึงต้องตอบสนองความต้องการเหล่านั้น เพราะคนติดตามข่าวอยากรู้ความรู้สึกถึงการสูญเสีย เขาจึงต้องตั้งคำถามแบบนั้น

ปี 2524 ราวหนึ่งปี หลังจากผมเริ่มอาชีพนักข่าว ร.ท.อนุวัฒน์ ศรีฟื้นผล ขับเครื่องบิน F - 5A ตกแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสะพานพระรามหก หน้าการไฟฟ้าฝ่ายผลิต บางกรวย รายงานจากหอบังคับการบินบอกว่า เครื่องขัดข้อง และ ร.ท.อนุวัฒน์ ขอลงในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียจากเครื่องบินระเบิดบ้านเรือนประชาชน

เครื่องบินแตกกระจายเป็นชิ้นเล็ก ชิ้นน้อย ร่างของ ร.ท.อนุวัฒน์ หายไปกับสายน้ำ นักข่าวถามพี่สาว ร.ท.อนุวัฒน์ว่า รู้สึกอย่างไรที่สูญเสียน้องชาย เธอหยิบสิ่งหนึ่งขึ้นมา และบอกว่านี่คือปอยผมของน้องชายฉัน จะให้ฉันรู้สึกอย่างไร

ความรู้สึกเช่นนี้ ทัศนคติที่มีต่อนักข่าวแบบนี้ อยู่ในสังคมไทยมานานแล้ว การเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดีย ทำให้เรื่องเหล่านี้ระเบิดออกมา

และขอให้ระเบิดครั้งนี้ เป็นปรมาณูทำลายล้างเหลือบในวงการสื่อให้หมดไปเสียที


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1063 วันที่ 22 - 28 มกราคม 2559)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์