วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

หมอกควันพุ่งคาดเผาข้าวโพด ผู้ว่าฯลั่น100วัน ห้ามเผา! ฝ่าผืนจับ



ลำปางพื้นที่ปลูกข้าวโพดกว่าแสนไร่ ยังไม่รวมพื้นที่บุกรุก ที่มาปัญหาหมอกควันพุ่งจากเผาเศษพืชไร่ ผู้ว่าฯลั่นช่วง 100 วันห้ามเผา เจอมาตรการหนักจับจริง

ปัญหาหมอกควันภาคเหนือในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ยังเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้  ซึ่งสาเหตุหลักของการเกิดปัญหาดังกล่าว ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางระบุมาจากการเผาของมนุษย์เป็นหลัก ประกอบกับพื้นที่ จ.ลำปาง มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวจำนวนมาก โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง  โดยช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวจะเป็นช่วงเดือนธันวาคมไปจนถึงมกราคมของทุกปี และที่ผ่านมามีการเผาเศษวัชพืชทางการเกษตร เพื่อปรับพื้นที่เพาะปลูกในครั้งต่อไป  คาดว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ จ.ลำปางประสบปัญหาหมอกควันไฟป่าติดอันดับต้นๆของภาคเหนือ

จากข้อมูลพื้นที่การเกษตรและครัวเรือนการเกษตร จากสำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง พบว่า ปี 2558  ทั้ง 13 อำเภอ มีพื้นที่การเกษตรที่ใช้ในการเพาะปลูกทั้งหมด 1,111,113 ไร่   โดยเป็นพื้นที่นามากที่สุด 522,757 ไร่  รองลงมาเป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่  345,776 ไร่   ไม้ผลไม้ยืนต้น 204,927 ไร่ และพืชผัก สมุนไพร 37,653 ไร่    สำหรับพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง  ถั่วลิสง  ช่วงปีการเพาะปลูก 2557/2558 มีการปลูกมากที่สุดที่ อ.งาว  เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ถึง 91,724 ไร่   ส่วนที่ อ.วังเหนือ ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 55,951 ไร่  อันดับ 3 คือ อ.แม่ทะ  13,939 ไร่  ซึ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้มูลค่าผลผลิตต่อปีถึง 652 ล้านบาท  เป็นอันดับที่ 3 รองจากข้าวเหนียวนาปี และข้าวเจ้านาปี  หากเทียบกับข้อมูลการผลิตปี 2556/2557 แล้ว ถือว่าพื้นที่ปลูกลดลง ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่การปลูกมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้ง 13 อำเภอ ที่มีกว่า 163,000 ไร่  อาจจะเป็นพื้นที่เสี่ยงที่สุดในการเกิดปัญหาหมอกควันไฟป่าของ จ.ลำปางก็ว่าได้ หากมีการเผาปรับพื้นที่กันอย่างต่อเนื่อง

นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า เกี่ยวกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว จังหวัดได้มีการวางแผนกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ส่งเสริมให้มีการปลูกพืชชนิดอื่นที่ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร จากการตรวจสอบพบว่าข้าวโพดได้กำไรไร่ละ 1,400  บาทเท่านั้น น้อยสุดได้ไร่ละ 800 บาท  แต่การปลูกไผ่ได้กำไรไร่ละไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท  จึงอยากให้เกษตรกรได้หันมาปลูกพืชเสริมกันให้มาก ซึ่งได้ผลกำไรดีกว่าข้าวโพดแน่นอน

การรุกพื้นที่ป่าในการปลูกข้าวโพด มีการบุกรุกมานานแล้วเป็นเวลานานสิบๆปี แต่ได้ดูแลเข้มในเรื่องการไม่ให้บุกรุกเพิ่มจากเดิม สิ่งที่จะปรับแก้คือการเปลี่ยนวิถีชีวิตในการปลูกจากข้าวโพดมาเป็นพืชชนิดอื่นแทน การดำเนินคดีพื้นที่เก่าคงจะลำบาก ต้องให้ทางป่าไม้ตรวจสอบว่าพื้นที่ใดที่บุกรุกใหม่ ต้องขอคืนพื้นที่ในช่วงนี้  ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าว

ด้านนายสมพร เจียรประวัติ  เกษตรจังหวัดลำปาง กล่าวว่า  พื้นที่การเกษตรทางสำนักงานเกษตรจังหวัดจัดทำข้อมูลไว้ จะเป็นพื้นที่ทำกินถูกต้อง มีเอกสารสิทธิ์ โดยการขึ้นทะเบียนจะมีการตรวจสอบเอกสารต่างๆก่อน หากไม่มีหลักฐานการถือครองที่ดินมายืนยันก็จะไม่รับขึ้นทะเบียน  ส่วนพื้นที่การรุกป่าปลูกพืชไร่ยอมรับว่ามีจำนวนมาก และเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ทางเกษตรไม่ได้รับผิดชอบในการตรวจสอบเรื่องนี้ จะต้องสอบถามไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ

และจากข้อมูลการตรวจยึดพื้นที่บุกรุกป่าของสำนักทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) ระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ถึง เดือนธันวาคม 2558 มีการจับกุมดำเนินคดีทั้งหมด 4,977 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา   โดย อ.เมือง มากที่สุด ประมาณ 2,100 ไร่  รองลงมาคือ อ.งาว 1,091 ไร่ 

แหล่งข่าวระบุว่า พื้นที่การบุกรุกที่จับกุมดำเนินคดี ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่บุกรุกใหม่ ที่แผ้วถางเตรียมไว้เพื่อทำการเกษตร รวมทั้งเป็นพื้นที่ปลูกยางพารา  ส่วนพื้นที่บุกรุกเก่าที่มีมานานนั้นก็พูดยากเพราะไม่มีหน่วยงานเข้าไปดำเนินการตั้งแต่แรก ปล่อยให้คาราคาซังมานาน ชาวบ้านก็อ้างสิทธิ์ว่าใช้ที่ดินทำมาหากิน บางครั้งก็มีกลุ่มเอ็นจีโอเข้ามาช่วยเหลือว่าเจ้าหน้าที่เข้าไปกลั่นแกล้งชาวบ้านก็มี เรื่องนี้จึงกลายเป็นเรื่องที่แก้ไขไม่ได้มานานเป็นสิบปี จะทำก็ได้ก็เพียงเฝ้าระวังไม่ให้มีการบุกรุมากขึ้นเท่านั้น

สำหรับการป้องกันการเกิดการเผา ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาหมอกควัน  ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้ร่วมมือกับเกษตรและสหกรณ์จังหวัด   เกษตรจังหวัด  รณรงค์ผลิตปุ๋ยหมักจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร  และทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับท้องถิ่นในพื้นที่ ให้งดเผาโดยเด็ดขาด

เมื่อวันที่ 2 ก.พ.59 นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เปิดงานวัน D-Day การผลิตปุ๋ยหมักจากตอซังข้าวโพด จอกหูหนู และเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร บริเวณลานเอนกประสงค์ วัดพระธาตุคว่ำหม้อ หมู่ 7 ต.บ้านเสด็จ อ.เมือง จ.ลำปาง  ทั้งนี้ เพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน  และที่สำคัญคือเป็นการรณรงค์ลดการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ที่ก่อให้เกิดปัญหาหมอกควัน  เกษตรกรยังสามารถนำปุ๋ยหมักไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ และลดต้นทุนการผลิต  อีกทั้งยังได้ความรู้ในการผลิตปุ๋ยหมักที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยได้ดำเนินการ 6 จุด มีเกษตรกรเข้าร่วมจำนวน 600 คน  วัสดุทำปุ๋ยหมักรวมไม่น้อยกว่า 72 ตัน

นอกจากนั้นได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างจังหวัดลำปาง อบต.บ้านเสด็จ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดลำปาง สำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง สำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดลำปาง ในการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มาทำเป็นปุ๋ยหมัก โดยไม่เผาอย่างเด็ดขาด โดยมีเกษตรกรและชาวบ้านในพื้นที่ตำบลบ้านเสด็จเข้าร่วมงารกว่า 500 คน  จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดได้ร่วมสาธิตวิธีการทำปุ๋ยหมัก ร่วมกันทำปุ๋ยหมักจากตอซังข้าวโพด เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไป ใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในการผลิตปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ไปใช้ในการเกษตร

ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นการณรงค์ไม่ให้เกษตรกรเผาเศษวัสดุที่เหลือจากการเกษตร  เช่น ฟางข้าว ซังข้าวโพด ฯลฯ   รวมทั้งสาธิตให้ความรู้ในการนำพวงซักข้าวโพดมาทำเป็นปุ๋ยหมัก เพื่อลดรายจ่ายในการทำเกษตร  เป็นการเริ่มต้นที่ ต.บ้านเสด็จ อ.เมือง โดยทางสำนักงานพัฒนาที่ดินมีวิธีการแนะนำให้ทำในครัวเรือนได้ด้วย สิ่งที่กำชับอย่างหนักคือ อย่าเผาทำลายเศษวัชพืช ขอให้เอามาทำเป็นประโยชน์ให้มากที่สุด จะเป็นการแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่าอีกทางหนึ่ง  จะมอบให้ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดไปจุดประกายในทุกพื้นที่ ห้ามเผาแต่ให้นำมาทำปุ๋ยแทน

นายสามารถ กล่าวต่อไปว่า  จ.ลำปาง ได้ประกาศให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าเป็นวาระเร่งด่วนจังหวัด เพื่อแก้ไขวิกฤตสถานการณ์หมอกควันไฟในพื้นที่  100 วัน งดเผาอย่างเด็ดขาด เนื่องจากปีที่ผ่านมาในพื้นที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศ แม้ว่าขณะนี้ยังคงควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ก็เฝ้าระวังด้วยการส่งชุดลาดตระเวนเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ เพื่อเปิดตัวให้ประชาชนทราบว่าเราเอาจริง  และขอความร่วมมือของชาวบ้านที่ขึ้นไปหาของป่าบนดอยอย่าเผา เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่จะคุมเข้มไม่ให้มีการเผาโดยเด็ดขาด

100 เปอร์เซ็นต์ฝีมือมนุษย์เป็นคนทำ แต่ยังไม่สามารถหาตัวคนผิดได้ หากใครมีเบาะแสให้แจ้งเข้ามา จะดำเนินคดีโดยเฉียบขาดเป็นตัวอย่างเพื่อให้ได้หลาบจำ”  นายสามารถ กล่าว
  
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1065 วันที่ 5 - 11 กุมภาพันธ์ 2559)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์