วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

'ฉายาเลิศลักษณ์' ร้านเก่าเล่าตำนาน



บ่ายของวันกลางสัปดาห์ที่เงียบเหงา แม้แต่บนถนนบุญวาทย์ ซึ่งเป็นถนนหลักสายหนึ่งที่พาดผ่านย่านการค้าใจกลางเมืองลำปางก็ยังดูเงียบๆ เราก้าวเข้าไปใน ร้านฉายาเลิศลักษณ์ ร้านถ่ายรูปเก่าแก่ร้านเดียว ที่หยัดยืนอยู่ท่ามกลางกระแสแห่งความผันแปรในโลกเทคโนโลยี ขณะที่ละแวกใกล้เคียงกัน ร้านถ่ายรูปเก่าๆร่วมรุ่นต่างปิดกิจการลงไปหมดแล้ว
           
ภายในร้านยังครบถ้วนด้วยบรรยากาศร้านถ่ายรูปสมัยเก่า บนเก้าอี้ตัวเดิม มาโนช เทพพิทักษ์ วัย 63 ปี นั่งอยู่ตรงนั้น ส่วนพี่สาวคนโตวัยใกล้ 80 ปีประจำที่อยู่หน้าเคาน์เตอร์ รอคอยลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ หรือประชาชนที่ต้องการรูปถ่ายหน้าตรงเพื่อนำไปติดเอกสารสำคัญ
           
วันนี้มีลูกค้ายังไม่ถึง คนเลยครับ ลุงมาโนชพูดพลางโคลงศีรษะ ห้องสตูดิโอปิดไฟเงียบ ชั้นวางของในตู้บิลต์อินว่างโหวง ขนาดที่ใหญ่โตของมันบอกให้รู้ว่าครั้งหนึ่งคงมีสินค้าวางอยู่เต็ม
           
ผู้ก่อตั้งร้านฉายาเลิศลักษณ์คือพ่อของลุงมาโนช ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ พ่อเคยเป็นลูกจ้างในร้านถ่ายรูปที่กรุงเทพฯ และได้เรียนรู้สไตล์การถ่ายรูปแบบฝรั่งมาจากร้านนี้นั่นเอง หลังจากทำงานจนเชี่ยวชาญในระดับหนึ่ง พ่อก็ลาออกมาเปิดร้านถ่ายรูปของตนเองแถวเฉลิมกรุง ลุงมาโนชเล่าว่า สมัยนั้นลูกค้าเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ หรือแม้แต่เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) พ่อก็เคยถ่ายรูปให้
           
หลังจากนั้นพ่อก็ย้ายมาอยู่จังหวัดลำปางตามคำชักชวนของเพื่อน และเปิดร้านฉายาเลิศลักษณ์ในราวปี พ.ศ. 2497 ซึ่งก่อนหน้านั้นเมืองลำปางก็มีร้านถ่ายรูปเปิดให้บริการอยู่แล้ว เช่น ร้านจันหมัน ร้านเงางาม ร้านแสงศิลป์ ฯลฯ โดยร้านถ่ายรูปในยุคนั้นให้บริการถ่ายรูปขาวดำเป็นหลัก โดยเฉพาะรูปหมู่ของโรงเรียน นอกจากนี้ ก็ยังล้างฟิล์มและอัดรูปด้วย
           
พ่อเล่าให้ฟังว่า สมัยที่ยังไม่มีไฟฟ้า พ่อใช้วิธีเจาะช่องแสงบนหลังคา ตั้งกระจกเงาไว้ จากนั้นก็ปรับมุมให้แสงส่องเข้าใบหน้าของลูกค้าแทนไฟแฟลชในสตูดิโอ ลูกค้าจะถ่ายรูปได้ต้องมานั่งรอแดด ลุงมาโนชเล่าพลางหัวเราะ
           
ลุงมาโนชเรียนรู้การเป็นช่างภาพจากพ่อ พร้อมกับสานต่อกิจการในปี พ.ศ. 2520 ธุรกิจยังคงไปได้ดี เพราะมีอยู่เพียง 5-6 ร้าน นับเป็นยุคเฟื่องฟูของร้านถ่ายรูปในเมืองลำปางอย่างแท้จริง ร้านฉายาเลิศลักษณ์มีคนงานนับสิบคน แบ่งหน้าที่กันไปตามความถนัด เพราะที่ร้านรับงานหลายอย่าง ทั้งถ่ายรูปหมู่ ตัดกระจก ตัดกรอบรูป ขายอุปกรณ์ถ่ายรูปแบบครบวงจร มีลูกค้าแวะเวียนกันมาไม่ขาดสายตั้งแต่เวลา 07.00-22.00 น.
           
สมัยนั้นผมใช้ฟิล์มโกดัก อักฟ่า อิลฟอร์ด ยังไม่มีฟิล์มของญี่ปุ่น กล้องก็ใช้กล้องไม้สำหรับถ่ายในสตูดิโอ ลุงมาโนชเดินนำเข้าไปในห้องสตูดิโอ เมื่อเปิดไฟ กล้องโบราณยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ ซึ่งพ่อใช้มาตั้งแต่ยุคบุกเบิกร้าน ก็ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้า
           
นี่คือกล้องไม้ หรือที่เราเรียกกันว่ากล้องไชกีเซ็ง ตามชื่อตัวแทนจำหน่ายผู้เดียวในประเทศไทยสมัยนั้น ช่างภาพจะเข้าไปอยู่ในโปงผ้าสีดำอย่างนี้ครับ ลุงมาโนชสาธิตให้ดู พร้อมกับบอกว่า คนเก่าแก่ต้องเคยได้ยินชื่อเจ้ากล้องชนิดนี้แน่นอน
           
ถ้าออกไปถ่ายงานข้างนอกผมจะใช้กล้องสามขา ใช้ฟิล์มขนาด 12 นิ้ว หรือ นิ้ว สมัยนั้นช่างภาพต้องเก่ง ต้องแม่น ถ่ายครั้งเดียวต้องถ่ายให้ดี เสียก็เสียเลย ไม่มีเทคโนโลยีช่วยเหมือนสมัยนี้ ลุงมาโนชบอกว่า นี่อาจเป็นเสน่ห์ของกล้องฟิล์ม มันคือเรื่องของฝีมือล้วนๆ ภาพที่ได้ยังสวยงาม ดูมีมิติ มีชีวิตชีวา
           
กิจการกำลังไปได้สวยจนกระทั่งวันหนึ่ง การมาถึงของกล้องดิจิตอลก็พลิกโฉมหน้าวงการถ่ายภาพไปตลอดกาล เรื่องนี้ลุงมาโนชเริ่มรู้ระแคะระคายมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2547 จากนิตยสารในวงการถ่ายภาพ ความกังวลใจก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ เมื่อดูๆแล้วความเป็นไปได้ที่กล้องฟิล์มจะถึงคราวล้มหายตายจากมีเปอร์เซ็นต์สูง
           
มีคนให้เตรียมตัวศึกษากล้องดิจิตอลเอาไว้ บอกว่ามันมาแน่ ผมเองก็ยังไม่แน่ใจว่ามันจะไปถึงจุดไหน แต่ตอนนั้นมือถือรุ่นใหญ่ๆ เริ่มนำร่องมาก่อนแล้ว ลุงมาโนชลุกขึ้นไปหยิบกล้องดิจิตอลคอมแพ็กตัวแรกที่ซื้อมาพร้อมกับปรินเตอร์ในราคาร่วม 60,000 บาท เพื่อเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทว่ามูลค่าของมันในตอนนี้แทบไม่เหลือราคาค่างวดอะไร
           
เมื่อกล้องดิจิตอลเริ่มพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด มือถือเองก็เริ่มถ่ายรูปได้ ร้านถ่ายรูปยุคเก่าๆที่ยังคงผูกติดอยู่กับกล้องฟิล์มเริ่มระส่ำระสาย เพราะราคากล้องดิจิตอลเริ่มถูกลงจนใครๆก็สามารถเป็นเจ้าของได้ ที่สำคัญการถ่ายภาพเป็นเรื่องง่ายดายและสนุกขึ้นจากเทคโนโลยีที่อาศัยเพียงปลายนิ้ว
           
กล้องฟิล์มขายได้น้อยลง ฟิล์มก็ขายได้น้อยลง อุปกรณ์ต่างๆ เช่น แฟลช น้ำยาเช็ดเลนส์ กระดาษเช็ดเลนส์ ถ่านใส่กล้อง  พวกนี้แทบขายไม่ได้เลย ปี พ.ศ. 2550 นี่ผมก็ยังถ่ายด้วยฟิล์มอยู่ ลูกค้ายังพอมี แต่น้อยมาก จนถึงปี พ.ศ. 2553 ผมหยุดถ่ายรูปขาวดำก่อน พอมาปี พ.ศ. 2555 หยุดสนิทเลย ผมหยุดถ่ายรูปด้วยฟิล์มสีในปีนั้นเอง
           
ร้านถ่ายรูปยุคเก่าๆ ทยอยปิดตัวลง ทว่าร้านถ่ายรูปดิจิตอลกลับผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด
           
อย่างที่บอกล่ะครับว่าการถ่ายรูปเป็นเรื่องง่ายขึ้น ไม่ต้องอาศัยทักษะเหมือนคนสมัยก่อน ใครๆก็ถ่ายรูปได้ ไม่ต้องอาศัยช่างภาพอีกต่อไป ลูกค้าร้านถ่ายรูปรุ่นเก่าๆจึงค่อยๆหดหาย รายได้ของร้านก็น้อยลง คือถ้าจะเปลี่ยนมาใช้ดิจิตอลก็ต้องใช้เงินหลายล้าน ถ้าจะเอาเครื่องมือดีๆนะครับ แล้วอีกอย่าง ร้านเก่าๆเองก็ไม่มีคนสืบทอดกิจการ ลูกหลานไปทำงานอื่นกันหมด
           

จริงอยู่ที่ร้านฉายาเลิศลักษณ์ก็ต้องหันเข้าหากล้องดิจิตอล พร้อมกับปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ก็เพียงเพื่อประคับประคองให้ร้านอยู่รอดเท่านั้น ไม่ได้มีเงินทุนมากพอที่จะไปลงกับเครื่องไม้เครื่องมือแพงระยับเหมือนร้านถ่ายรูปรุ่นใหม่ๆ ที่นี่ยังคงอาศัยฝีมือและประสบการณ์ในการจัดแสงเงาสำหรับการถ่ายรูปบุคคลเป็นหลัก ลูกค้าส่วนใหญ่ คือ นักเรียน ข้าราชการ และคนทั่วไปที่ยังต้องใช้รูปติดบัตรประกอบการทำเอกสารสำคัญ
           
ถ่ายรูปข้าราชการต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงครับ ทุกวันนี้จึงไม่ค่อยมีร้านไหนถ่ายกันแล้ว ถ่ายเด็กนักเรียนง่ายกว่า เพราะพวกข้าราชการใช้เวลาครึ่งหนึ่งหมดไปกับการแต่งตัว อีกครึ่งหมดไปกับการจัดแสงและการจัดท่าทาง การจัดแสงเงาเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละร้านนะครับ ถึงจะเป็นรูปหน้าตรงก็เถอะ ช่างภาพเขาจะเฉือนกันตรงนี้ ลุงมาโนชยิ้มให้กับเทคนิคเฉพาะตัวที่สืบทอดมาจากผู้เป็นพ่อ ดูจากรูปถ่ายที่ตั้งโชว์อยู่หน้าร้าน ก็เห็นชัดว่าส่วนใหญ่เป็นข้าราชการที่สวมเครื่องแบบเต็มยศ ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือจุดเด่นที่ทำให้ร้านได้รับความไว้วางใจ
           
ลุงมาโนชเชิญชวนให้เดินดูในร้าน ตามผนังประดับโฆษณาฟิล์มสียุคเก่าๆเหนือทางขึ้นบันไดปรากฏภาพขาวดำสองภาพเคียงข้างกัน ด้านซ้ายคือรูปของอดีตรองนางสาวไทยปี พ.ศ. 2480 ด้านขวาคือรูปของอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนลำปางกัลยาณี ภาพของหญิงสาวทั้งสองช่างงดงามตราตรึงยิ่งนัก
           
ฝีมือพ่อน่ะครับ ถ่ายไว้เกือบ 80 ปีมาแล้ว เสียงของลุงมาโนชบ่งบอกถึงความภาคภูมิใจ พ่อเปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์ ภาพของพ่อไม่เหมือนใคร เป็นภาพที่พิถีพิถันในการจัดแสงเงา ดูเป็นธรรมชาติสไตล์ฝรั่ง  
           

เราแหงนมองภาพหญิงสาวราวกับต้องมนตร์ ดำดิ่งลึกลงไปในรอยยิ้มและดวงตาราวกับว่ามีชีวิต แว่วเสียงชายชราคล้ายรำพึงมาจากที่ไกลๆ ฝีมือผมแค่ครึ่งของพ่อเท่านั้นละครับ เสียงนั้นขาดช่วงไปสักพัก ช่วงเวลาที่เหลือนี้ เราแค่ทำเล็กๆ น้อยๆ กันไป ไม่ช้าก็เร็วคงต้องเลิกแน่ๆ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1065 วันที่ 5 - 11 กุมภาพันธ์ 2559)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์