วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

สภาวิชาชีพสื่อ ฝันไกล ไปไม่ถึง


รื่องการปฏิรูปสื่อ คล้ายดอกไม้ไฟจุดขึ้น ส่งประกายวิบวับไม่นานนาที ก็ถูกกลืนหายไปในความมืด “ลานนาโพสต์” อาจเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกๆ  ที่ผมจะเขียนถึงบทบาทที่ต่อเนื่องมาจากคณะอนุกรรมาธิการสื่อ ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ จนกระทั่งมาถึงคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

เป็นภารกิจที่ไม่ลับ แต่ก็เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยกล่าวถึงในที่สาธารณะมาก่อน ตลอดเกือบ ปีต่อเนื่องทั้งสองสภา ด้วยเห็นว่า ภายใต้บริบทของสังคมที่ผู้คนเรียกร้องต้องการให้ใช้กฎหมายจัดการสื่ออย่างเด็ดขาดนั้น ไม่อาจเป็นความจริงได้เลย ท่ามกลางผู้คนที่หลากหลายและส่วนหนึ่งไม่รู้เรื่องสื่อ

ความไม่รู้เรื่อง หรือการเป็นบุคคลนอกวงการมากๆ ทำให้การพิจารณาปฏิรูปสื่อในยุค สปท.มีแต่ความงุนงง และสงสัย

การปรากฏตัวชัดเจน ก็จะกลายเป็นความคาดหวัง และในที่สุดก็ไม่ได้มรรคผล ได้ผลอย่างใด ดีที่สุดคือการได้มีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ ได้เสนอความเห็น ที่จะชักชวนให้เข้าใจว่า การจัดการเรื่องจริยธรรมไม่มีที่ไหนในโลกเขาใช้กฏหมายบังคับกัน

กรรมาธิการสื่อ ในสปช.ชุดที่แล้ว ได้พยายามออกแบบเครื่องมือ เรียกว่า “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” เป็นองค์กรอิสระ ที่ยังต้องพึ่งพาเงินรัฐ เพื่อให้เป็นองค์กรร่มใหญ่ในการกำกับ ดูแลเรื่องจริยธรรม

แต่ มติสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ คว่ำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ทำให้ความพยายามในการจัดตั้ง สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งรัฐธรรมนูญเขียนบังคับไว้ในมาตรา  49 สิ้นผลไป ทำให้ข้อโต้แย้งในเรื่องความจำเป็นในการมีสภาที่เรียกว่า สภาร่มใหญ่ ทอดเวลาออกไปอีกอย่างน้อยเป็นปี

แม้การปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชน จะเป็นหนึ่งใน 11 ข้อสำคัญ ที่ถูกกำหนดเป็นวาระในการปฏิรูป แต่ในส่วนที่ ว่าด้วยการปฏิรูปด้านต่างๆ ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กลับไม่ปรากฏ รายละเอียดแนวทางในการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชน

ทั้งที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ  ก็เอาการเอางาน และมุ่งมั่นอย่างยิ่งในการทำงานปฏิรูปสื่อ คำถามคือ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดก่อนใส่ใจ เข้าใจ และเห็นความสำคัญของการปฏิรูปสื่อมากน้อยเพียงใด

เพราะถึงที่สุดแล้วงานที่เป็นหน้า เป็นตาที่สุดของคณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อ คือการผลักดันร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ตัดต่อพันธุกรรมมาจาก ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

อาจกล่าวได้ว่า เป็นโชคดีของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ที่กฎหมายจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ไม่เกิดขึ้น แต่คงวางใจได้ไม่นาน เพราะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปสื่อ ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ดูเหมือนจะเห็นว่า การใช้กฎหมายจัดการสื่อคือแนวทางแก้ปัญหาสื่อละเมิดจริยธรรมดีที่สุด

สำหรับแนวคิดหลักของผู้ร่างกฏหมายฉบับนี้ คือการให้มีองค์กรสื่อที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จทางกฏหมาย ภายใต้ความเชื่อว่าองค์กรวิชาชีพสื่อที่มีอยู่อย่างน้อย 2  องค์กร คือสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  ไร้ประสิทธิภาพ ไม่สามารถกำกับ ควบคุม ดูแลสื่อได้

โดยเฉพาะสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เมื่อพูดถึงคราวใด คนที่ไม่เคยรู้เรื่องการก่อเกิดสภาหนังสือพิมพ์ ก็มักยกตัวอย่างองค์กรสมาชิกสำคัญองค์กรหนึ่ง ที่ลาออกจากสภา เพราะไม่พอใจผลการวินิจฉัยความผิด กรณีข้อกล่าวหาสื่อรับสินบนนักการเมือง ซึ่งลาออกแล้ว สภาหนังสือพิมพ์ก็ไม่สามารถจัดการอะไรได้ ซึ่งในความเป็นจริง ความไม่พอใจนี้ เกิดจากการก้าวข้ามขั้นตอนของคณะกรรมการอิสระ ที่ไม่ได้ส่งให้กรรมการสภาทั้งคณะได้พิจารณาก่อน

และล่าสุดก็มีสัญญาณที่ดี ว่าองค์กรสมาชิกดังกล่าวกำลังจะกลับเข้ามา เพื่อผนึกพลังสื่อให้เป็นหนึ่งเดียว

ความเป็นจริง หลักในการกำกับ ดูแลกันเองของสื่อ คือหลักการที่ดีที่สุด แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกกำกับ เช่น การให้มีขึ้นของภาคส่วนผู้บริโภค ที่จะเป็นตัวแทนของผู้บริโภคที่ถูกละเมิดในการนำเรื่องมาสู่การพิจารณาของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องของสภาทั้งสอง

หรือการเป็นตัวแทนในการแจ้งความ หรือฟ้องคดีในเรื่องที่สื่อกระทำผิดบ่อยครั้ง เช่น การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ความผิดเหล่านี้เป็นความผิดที่คาบเกี่ยวกันระหว่างกฏหมายและจริยธรรม

ผิดจากนี้แล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสื่อ จะต้องเลิกจินตนาการว่า หากมีองค์กรวิชาชีพสื่อที่มีกฏหมายรองรับ จะสามารถเป็นแก้วสารพัดนึก แก้ปัญหาสื่อละเมิดจริยธรรมได้อย่างเด็ดขาด

ส่วนนักวิชาการที่หลงประเด็น ยึดเอาสื่อทุกสื่อทั้งสื่ออาชีพ และผู้ที่ใช้สื่อเป็นเครื่องมือทำมาหากิน เช่น สื่อบันเทิงรูปแบบต่างๆ มาใช้มาตรฐานความเป็นวิชาชีพสื่อตัดสินทั้งหมด ก็จะเสียสมอง เปล่าประโยชน์โดยไม่จำเป็น การให้ความรู้กับสังคมในการรู้เท่าทันสื่อ แยกแยะได้ คิดเองได้ นั่นจะเป็นการสร้างบรรยากาศให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมกำกับ ดูแลสื่ออย่างจริงจัง


ในกระแสน้ำเชี่ยว ที่คนในกรรมาธิการสื่อต้องการให้มีกฎหมายมาคุมสื่อ ผมคงต้องใช้ความพยายามขวางน้ำเชี่ยว เพื่อมิให้สื่อหลงทาง และ “ตีนลอย”จากความจริง จนในที่สุดแก้ปํญหาอะไรไม่ได้เลย

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1064 วันที่ 29 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2559)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์