วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

บริษัทต่างถิ่นต้นเหตุรุกป่าชาวบ้านแห่ปลูก


พบรุกป่าหนักจากธุรกิจค้าเมล็ดพันธุ์และรับซื้อพืชผลคืน  อีกส่วนมาจากนโยบายประกันราคาพืชผล   รอบปีที่ผ่านมาจับกุมตัดไม้ยึดพื้นที่ป่ากว่า 500 คดี  อีกทั้งยังพบการรุกป่ารูปแบบใหม่ ใช้ยาทาต้นไม้จนล้มตายและเข้าไปทำกิน  สำคัญคือคนในพื้นที่เปิดช่องทางให้คนนอก ขณะเดียวกันสัดส่วนของเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อการดูแลผืนป่าทั้งหมด  พื้นที่ป่าไม้ลำปางมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ 

นายสุรชัย แสงสิริ  รักษาการ ผอ.สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ลำปาง  เปิดเผยกับลานนาโพสต์ กรณีการบุกรุกพื้นที่ป่าใน จ.ลำปางว่า  จ.ลำปางมีป่าอยู่ 7.8 ล้านกว่าไร่  มีป่าสงวนแห่งชาติ 33 ป่า เนื้อที่ 5.6 ล้านไร่   ป่าอนุรักษ์ 11 แห่ง เนื้อที่ 2.3 ล้านไร่เศษ   ซึ่ง จ.ลำปางมีพื้นที่ป่ามากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ ทั้งหมด 70.84 เปอร์เซ็นต์ รองจาก จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ตาก 

สาเหตุของการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า อันดับแรกคือ ชุมชนมีการขยายครอบครัว หรือตั้งครอบครัวใหม่จึงมีการบุกรุกป่าเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย   อันดับสอง การขยายพื้นที่การเกษตรเนื่องจากนโยบายการประกันพืชผลของรัฐบาล มีส่วนกระตุ้นให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น เพราะการประกันราคามีการให้ราคาสูงและมีรายได้ที่ชัดเจน  รวมทั้งหลายปีที่ผ่านมามีนโยบายในเรื่องของการปลูกยางพาราเพิ่มเข้า จึงเป็นส่วนหนึ่งของการบุกรุกป่า  สิ่งสำคัญคือ บริษัทค้าพืชไร่ยักษ์ใหญ่มีการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ และยาฆ่าแมลง ปุ๋ย ฮอร์โมน ให้กับเกษตรกร พร้อมกับรับซื้อพืชไร่หลังเก็บเกี่ยวแล้ว  เป็นอีกสาเหตุที่ส่งเสริมให้รุกป่า ทั้งนี้ ได้มีการแบ่งสัดส่วนการตัดไม้ทำลายป่าและการบุกรุกพื้นที่ป่าไว้เป็น 3 ส่วนใหญ่ คือ ตัดไม้เพื่อใช้ทำบ้านเรือน และผลิตเป็นสินค้า ที่ต้องใช้ไม้ขนาดใหญ่มีคุณภาพ   การตัดไม้ไปทำฟืนเลือกต้นขนาดพอเหมาะ  และที่ร้ายแรงที่สุดคือความต้องการที่ดินทำการเกษตร เป็นสาเหตุหลักของการตัดไม้ทำลายหรือการบุกรุกที่ดิน  อีกกรณีหนึ่งที่เกิดในภาคเหนือคือ ความต้องการเนื้อไม้ประเภทเดียวกับไม้พยุง  ซึ่งในภาคเหนือมีไม้ชิงชัน เกล็ดดำ เกล็ดแดง และไม้ประดู่  เพราะมีราคาสูง ทำให้ทางชาวบ้านที่ต้องการใช้เงินไม่เกรงกลัวกฎหมาย ยอมเสี่ยงที่จะตัดไม้ประเภทนี้มาส่งให้พ่อค้าคนกลาง  ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ จ.เชียงราย  แต่ที่ จ.ลำปาง มีอยู่บ้างในป่าลึกซึ่งเคยจับกุมได้อยู่บ่อยครั้ง  ในความเห็นส่วนตัวจะต้องมีคนในพื้นที่รู้เห็น หรือไม่เข้าไปขัดขวาง จึงเอื้อประโยชน์ให้คนต่างพื้นที่เข้าไปทำได้

เมื่อสอบถามถึงเหตุผลที่ไม่ดำเนินคดีตั้งแต่ในตอนเริ่มบุกรุกแรกๆ  นายสุรชัย กล่าวว่า การบุกรุกนั้นจะมีการบุกรุกทีละน้อย เช่นขยายไปครั้งละ 1-2 เมตร  ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยโดยการถากเปลือกไม้ออกและใช้ยาฆ่าหญ้าป้ายให้ต้นไม้ตาย   การทราบข่าวนั้นจะมีแหล่งข่าวแจ้งเข้ามา และมีเจ้าหน้าที่ออกตรวจตามปกติเมื่อไปเจอจึงจับกุม  ทุกวันนี้มีผู้แจ้งเรื่องเข้ามาให้ออกไปดำเนินการจำนวนมาก และที่ไม่ได้แจ้งเข้ามาก็ยังมีอีกมาก   หากคนในชุมชนรู้เห็นเป็นใจกันไม่มีส่วนช่วยเจ้าหน้าที่ ก็ทำงานได้ยาก  นักการเมืองท้องถิ่นก็กลัวจะมีผลกระทบต่อฐานเสียงของตัวเอง  ไม่เหมือนบ้านสามขา อ.แม่ทะ ที่ไม่มีการแข่งขันกันทางการเมือง มีความเข้มแข็งในชุมชน จึงสามารถรักษาผืนป่าไว้ได้

นายสุรชัย กล่าวถึงการดำเนินคดีว่า  ในส่วนของคดีบุกรุก แต่ละเดือนจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าของ จ.ลำปาง  หรือ คปป. โดยจะมีการรายงานผลการจับกุมดำเนินคดีทุกเดือน  สำหรับสรุปผลการตรวจปราบปรามการกระทำผิด พ.ร.บ.ป่าไม้  ส่วนรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พื้นที่ จ.ลำปาง  ช่วงวันที่ 1 ต.ค. 57 ถึง 30 ก.ย. 58  สามารถจับกุมได้ 530 คดี ผู้ต้องหา 59 คน  เป็นคดีตรวจยึดไม้ 335 คดี  ของกลางไม้สักท่อน 2,076 ท่อน ไม้สักแปรรูป 11,514 แผ่น  ไม้กระยาเลยท่อน 1,658 ท่อน ไม้กระยาเลยแปรรูป 6,701 แผ่น   สำหรับคดีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ  156 คดี  รวมพื้นที่ถูกบุกรุกแผ้วถาง 2,012 ไร่เศษ ตรวจยึดได้มาสุดที่ อ.งาว 538 ไร่เศษ รองลงมาคือ อ.เถิน 384 ไร่ และ อ.เมืองลำปาง 367 ไร่

การบุกรุกพื้นที่การเกษตร  มีหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่คือสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 สังกัดกรมป่าไม้ และสำนักอนุรักษ์พื้นที่ 13 สังกัดกรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการตามหน้าที่และนโยบายคำสั่งของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ในการทวงคืนผืนป่า มีการตัดไม้ยางพาราไปแล้วในหลายแปลง  และยังคงเหลืออีกบางส่วน นอกจากนั้นเมื่อสองเดือนที่ผ่านมาทางหน่วยงานของกรมป่าไม้ ได้มีการออกสำรวจพื้นที่ อ.เกาะคาที่มีการปลูกยางพารา ตรวจสอบพิกัดภาพถ่ายทางอากาศปี 2545 พบพื้นที่บุกรุกอยู่ จึงเข้าไปทำความเข้าใจกับชาวบ้าน และได้ตรวจยึดพื้นที่ส่งดำเนินคดีต่อ สภ.เกาะคาแล้ว   ส่วนกรณีที่มีการประกาศนโยบายเอาผิดกับผู้ตัดไม้ทำลายป่าที่ชัดเจน แต่ยังมีการกระทำผิดอย่างต่อเนื่องนั้น  มีความเห็นว่า คนที่ลักลอบอาศัยช่องว่าง จากการที่กำลังเจ้าหน้าที่มีน้อย งบประมาณมีน้อย  และอาศัยความร่วมมือจากคนในพื้นที่ จึงจะเข้าไปทำสิ่งผิดกฎหมายได้  ถ้าเปรียบเทียบกับชุมชนเข้มแข็งแบบบ้านสามขา ไม่มีปัญหาการตัดไม้และการเผาป่าเลย 

รักษาการ ผอ.สำนักทรัพยากรธรรมชาติฯ  กล่าวอีกว่า   วิธีการป้องกันการรุกป่านั้น ทาง ทสจ.ลำปางในฐานะที่เป็นเลขานุการของ คปป.  ได้นำมติ ครม. 30 มิ.ย.41 มีใจความสำคัญว่า ให้ชะลอการจับกุมราษฎรที่บุกรุกพื้นที่ป่าก่อนปี 2541 โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศของปี 2545 ในการตรวจสอบ ในส่วนของพื้นที่การบุกรุกเก่า   และปัจจุบันทางกระทรวงได้มีงบประมาณเข้ามาให้ทางจังหวัดทำการร่างแผนให้แต่ละอำเภอไปดำเนินการกับหน่วยป้องกันรักษาป่าในพื้นที่ ทั้งกรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ รวมทั้งท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้จัดทำแผนระดับอำเภอโดยใช้ร่างที่ทางจังหวัดส่งไปเป็นแนวทาง ให้สอดคล้องพื้นที่ในแต่ละอำเภอ  ซึ่งการป้องกันและปราบปรามก็มีปัญหาอุปสรรค คือเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าต่อพื้นที่ในการควบคุม รวมไปถึงค่าน้ำมัน ค่าเบี้ยเลี้ยงไม่เพียงพอ   จึงพยายามที่จะกระตุ้นให้หน่วยงานท้องถิ่นได้เป็นหูเป็นตา ดูแลในชุมชนของตัวเองให้รักหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ อยากให้ทุกหมู่บ้านมีกฎหมู่บ้าน มีสิทธิ์ให้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ  รวมทั้งผู้ว่าฯมีนโยบายให้ 1 หมู่บ้านมี 1 ป่าชุมชน จะมาใช้เครือข่ายนี้เข้ามาดูแลพื้นที่ของตัวเอง และมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าอีกทางหนึ่ง


เรื่องการแก้ปัญหาไฟป่า จ.ลำปาง ได้เตรียมความพร้อมตั้งแต่เดือน ต.ค. 58  มีการออกคำสั่งคณะทำงาน มีการประกาศกำหนดเขตควบคุมการเผาป่า และจัดตั้งวอร์รูมที่สำนักงาน ทสจ. เพื่อรับแจ้งข่าวจากราษฎรที่พบเห็นไฟไหม้ป่าตลอด 24 ชั่วโมง ที่หมายเลข 054-230549

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1066 วันที่ 12 - 18กุมภาพันธ์ 2559)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์